สถานีคิดเลขที่ 12 : รัฐธรรมนูญ-สิ้นคิด โดย จำลอง ดอกปิก

สถานีคิดเลขที่ 12 : รัฐธรรมนูญ-สิ้นคิด เสียงส่วนใหญ่ที่ประชุมรัฐสภา

สถานีคิดเลขที่ 12 : รัฐธรรมนูญ-สิ้นคิด

เสียงส่วนใหญ่ที่ประชุมรัฐสภา มีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ขึ้นมาศึกษา ญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 6 ญัตติ

เตะถ่วง โหวตชี้ขาดว่า จะรับ หรือไม่รับ ร่างแก้ไข ในวาระ 1 ชั้นรับหลักการ

แต่ในที่สุดแล้ว ไม่ว่าช้าหรือเร็ว รัฐสภาก็ต้องตัดสินเรื่องนี้อยู่ดี

ในที่สุดแล้ว ไม่วันหนึ่ง ก็วันใด เสียงส่วนใหญ่ อันประกอบด้วย ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภา ที่แนบแน่นเป็นเนื้อเดียวกัน ต้องตัดสินอยู่ดี

Advertisement

อุ้มหาย เทญัตติทิ้งไม่ได้หรอก

ใช้แทคติค ข้อบังคับการประชุมยื้อได้เพียงชั่วครั้ง ชั่วคราวเท่านั้น

ที่ยังเป็นคำถามก็คือ เทคนิคที่นำมาใช้

Advertisement

ลากไปโหวตในวันข้างหน้านั้น เป็นผลดี หรือผลเสีย ต่อรัฐบาลกันแน่

เมื่อเผยไต๋ให้ประชาชน นิสิต นักศึกษากลุ่มเคลื่อนไหว เห็นหมดแล้ว

แท้ที่จริง ต้องการให้แก้หรือไม่

แม้ว่าขณะนี้เร็วเกินไป ที่จะฟันธงว่า ฝ่ายกุมอำนาจเปลี่ยนใจ คิดล้มแผนแก้รัฐธรรมนูญก็ตาม

แต่การลงมติ เมื่อค่ำวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา ฟ้องชัด

มองเป็นอื่นไม่ได้

ที่น่าสนใจเป็นที่ยิ่งอีกประการก็คือ หากคิดกลับลำ รัฐบาลจะทำอย่างไร เนื่องจากแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นหนึ่งในนโยบายหลัก

จะเลือกทางออก ยุบสภา รักษากติกาข้อได้เปรียบนี้ไว้

ทำตามข้อเรียกร้องนิสิต นักศึกษา ตัดเงื่อนไขชุมนุม

เลือกตั้งใหม่ ก็กลับเข้ามาครองอำนาจต่อได้อีก

ช่องนี้ มีความเป็นไปได้

แต่จะเลือกยุบตอนไหน

เร็ววันนี้ หรือรอวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ กลับมาโหวตรับหลักการ แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งแน่นอนเมื่อลงรายละเอียดเนื้อหา ย่อมมีข้อถกเถียง เห็นต่าง มากมาย

ใช้เวลาแรมปีหรือหลายปี

ช่วงเวลานี้ค่อยอ้างเหตุผล เรื่องความเห็นต่าง ขัดแย้ง ไม่ลงตัว ยุบสภา

ใช้กติกาเดิมเลือกตั้ง กลับมาเป็นรัฐบาลอีก ชิล ชิล

นี่ก็เป็นอีกทางเลือก ทางออก

นอกเหนือจาก อาจมีเทคนิค งอกญัตติใหม่แก้รายมาตรา

เอาที่รัฐบาล ส.ว.สบายใจ

นี่อาจเป็นอีกทาง

กล่าวสำหรับเกมยื้อโหวต ซื้อเวลาตัดสินใจ เลือกวิธีตั้งคณะกรรมาธิการแทน

แม้ผู้คนจะมองว่า รัฐบาลไม่เหลือความน่าเชื่อถือ ศรัทธาจากประชาชนอีกต่อไปก็ตาม

แต่ทว่ารัฐบาลอาจไม่สนใจมากนัก

ภาพลักษณ์มิได้มีผลอะไรต่อพวกเขา

เนื่องจาก มิได้มีที่มายึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง ตามหลักประชาธิปไตยสากล ที่ยึดผลเลือกตั้ง ฉันทานุมัติประชาชนเป็นหลัก

แต่รัฐบาลก่อกำเนิดจากการให้ความสำคัญกับการรวบรวมเสียงในรัฐสภา

ตามกติกาประชาธิปไตยครึ่งใบ

ภาพเสื่อมเสียที่เกิดขึ้น มันเทียบมิได้เลยกับสิทธิประโยชน์มหาศาลที่ฝ่ายรัฐบาลได้รับ จากความพยายามรักษากติกา ข้อได้เปรียบนี้ไว้

เลือกตั้งเมื่อไหร่ก็กลับมาครองอำนาจอีก

เนื่องจากมีอำนาจรัฐล้นมากพอ กับการต้องการ ส.ส.เพียงแค่ 1 ใน 4 หรือ 25% ของจำนวน 500 ที่นั่ง นอกนั้นกติกาทำงานโดยอัตโนมัติ

ล็อกตำแหน่งให้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ต่างหากที่เป็นหัวใจ รัฐบาลต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวด
ยิ่งกว่าไข่ในหิน

หากเป็นรัฐบาลที่มีที่มายึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง บนพื้นฐานกติกามาตรฐาน

รัฐบาลคงไม่ไปทำอะไร ที่ไม่ต่างจากการตบหน้าประชาชนอย่างนี้หรอก

ที่จริง เรื่องเนื้อหา บทบัญญัติ รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีอะไรให้ต้องถกเถียงกันต่อไปอีกแล้วว่าเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ สมควรได้รับการแก้ไขหรือไม่

ไม่ต้องอื่นไกล ตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ

กติกา ประชาธิปไตยโลกมืดไหนกัน

ต่อให้ ส.ส. 500 คน เห็นพ้องโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ทำไม่ได้

จะแก้ได้ก็ต่อเมื่อ เสียงส่วนน้อย 84 ส.ว.แต่งตั้งเห็นชอบ

พิสดาร พันลึก สิ้นดี

จำลอง ดอกปิก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image