ต้องกล้าตัดสินใจ ลดพิษเศรษฐกิจตกต่ำจากโควิด-19

ต้องกล้าตัดสินใจ ลดพิษเศรษฐกิจตกต่ำจากโควิด-19

ต้องกล้าตัดสินใจ
ลดพิษเศรษฐกิจตกต่ำจากโควิด-19

ความรุนแรงของการระบาดของโควิด-19 มีมากแค่ไหน คนทั่วไปและทั่วโลกต่างก็รู้กันดี ณ ปลายเดือนกันยายนนี้ยังไม่ถึงปีได้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วถึง 33.3 ล้านคน และมีคนตายเพราะโรคนี้ถึงระดับ 1 ล้านคนแล้ว ประเทศที่ติดเชื้อระบาดถึงขั้นรุนแรงก็มีสหรัฐอเมริกา อินเดีย บราซิล และรัสเซีย เป็นต้น และที่เกิดระบาดใหญ่รุนแรงขึ้นมาอีกจนน่ากลัวก็มีเช่นประเทศฝรั่งเศส อังกฤษ เป็นต้นสําหรับประเทศไทยเรื่องการระบาดและมีคนตายด้วยโควิด-19 อยู่ในอันดับที่ดีต้นๆ ของโลก โดยขณะนี้การระบาดภายในประเทศถือได้ว่าหมดไปแล้ว จะมีก็เฉพาะคนไทยหรือชาวต่างชาติบางรายที่เดินทางเข้าประเทศไทย แต่ก็สามารถนําไปกักตัวและรักษาให้หายได้จนถึงขณะนี้มีผู้ที่เสียชีวิตจากโควิด-19 เพียง 59 คน ถึงเวลาแล้วที่ต้องดําเนินการแก้ไขด้านเศรษฐกิจ ก่อนที่ความหน่อมแน้มจะมาลบล้างความดีที่ปราบโควิด-19

ความสามารถในการป้องกันและการดูแลรักษาของไทยต้องยกให้บรรดาหมอไทยทั้งหลาย ที่ส่วนใหญ่ผู้จบแพทย์สมัยก่อนของไทยล้วนแต่เป็นนักเรียนประเภทสมองดีไอคิวสูงและเรียนเก่งกันทั้งนั้น คนประเภทนี้เมื่อได้รับความรู้ที่ดีมีการสอนเรื่องจรรยาบรรณที่ดีๆ มาตั้งแต่ต้น ก็มักจะทําอะไรที่ดีๆ ได้หมด มีชื่อเสียงจนเป็นที่ยอมรับระดับโลก ผิดกับผู้ที่เรียนในสาขาอื่นๆ ที่ไม่มีการเน้นสอนเรื่องจรรยาบรรณ ก็จะขาดสิ่งดีๆ ซึ่งจะเห็นได้ชัดเมื่อออกมารับใช้ชาติและสังคม ไม่ว่าจะเป็นระดับไหน หาดูได้ไม่ยากครับ

โดยเฉพาะในด้านการเมือง ประเทศไทยอยู่อันดับท้ายๆ ของโลกเสมอ เช่น ตัววัดจากดัชนีการคอร์รัปชั่นระดับนานาชาติอันดับของไทยในช่วงหลังๆ เกิน 100 มาตลอด ตัวดัชนีด้านธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ ก็ติดอันดับสูงล้าหลังประเทศอื่นๆ เขา จนต่างชาติเขาเข็ดขยาดความเป็นศรีธนญชัยของไทย

Advertisement

มาดูด้านการบริหารเศรษฐกิจบ้าง ขอเรียนยํ้าว่าเศรษฐกิจของไทยได้เริ่มแย่มาตั้งแต่สมัย กปปส. ออกมาเย้วๆ อยู่กลางถนนแล้ว เพราะมีการประท้วงและบุกสถานที่ราชการกันบ่อยมาก อย่างที่ได้รู้ได้เห็นกันมาแล้ว จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลและรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 โดยมีท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นํา คสช. เป็นนายกรัฐมนตรีมาจนถึงมีการร่างรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยครึ่งใบแบบพิเรนทร์มาใช้ในการเลือกตั้ง จนได้ผู้นํา คสช. เป็นนายกรัฐมนตรีอีก

ทุกคนสามารถกล่าวได้เหมือนกันว่า ด้วยสถานะด้านการเมืองที่มีแต่ความวุ่นวายตลอดมาร่วม 10 ปีที่ผ่านมา เป็นปัจจัยตัวร้ายที่สุดที่ฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความร่มเย็นเป็นสุขของคนไทยให้ถดถอยไปสู่ภาวะที่ไม่มีเสถียรภาพและยอมรับได้ของคนส่วนใหญ่ในทุกวันนี้

สถาบันต่างๆ และสื่อต่างประเทศถึงกับกล่าวว่า “เศรษฐกิจของไทยนั้นอยู่ในภาวะป่วยไข้มานานแล้ว” ดังนั้น เมื่อมาเจอกับผลกระทบของโควิด-19 ประเทศไทยจึงอยู่ในอาการเมาหมัดและโงนเงนเต็มทีแล้ว จะยิ่งกู้ก็จะยิ่งทรุด เหมือนรถบรรทุกหนักที่ติดหล่ม ถ้าไม่มีรถทุ่นแรงที่เต็มใจมาช่วยก็คงจะจอดดับเครื่องแบบสิ้นหวังอย่างแน่นอน

Advertisement

ด้านเศรษฐกิจขอให้ดูตัวเลขกันให้ชัดๆ ที่จริงมีตัวดัชนีไม่กี่ตัวที่สามารถชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยนั้นไปไม่ไหวแล้ว ตัวแรกคือมูลค่ารายได้ประชาชาติมวลรวม หรือ GDP ซึ่งปี 2563 นี้ติดลบแน่นอนและจะสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนทั้งหมด ตัว GDP นี้หน่วยงานของราชการต่างก็ประมาณการออกมาติดลบน้อยหน่อย เช่น -7% บ้าง -8% บ้าง แต่ขณะที่หน่วยงานภาคเอกชน อย่างศูนย์วิจัยกสิกรไทยกลับคาดการณ์ว่าจะหดตัวถึง -10% แต่เรื่องทํานองคาดการณ์กันให้น้อยไว้ก่อนนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่ว่า พวกลิ่วล้อหรือพวกล้อมหน้าล้อมหลังผู้นําก็มักจะทํางานเอาใจนาย

ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สําคัญอีกประการหนึ่งก็คือตัวเลขการส่งออกไม่น้อยกว่า 2 ปีมาแล้วที่ได้แถลงออกมาตํ่ากว่าของจริงเสมอ แถมยังมีการคาดการณ์แทบทุกครั้งต่อจากนี้ไปจะดีขึ้นแต่เมื่อถึงเวลาสถานการณ์มักจะเลวกว่าเสมอ

เมื่อวันที่ 23 กันยายนนี้ ผู้อํานวยการสํานักนโยบายยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ก็ได้แถลงเรื่องการส่งออกว่าเดือนสิงหาคม 2563 ที่ผ่านมาการส่งออกของไทยหดตัว -7.94% และยอดตั้งแต่มกราคม-สิงหาคม 8 เดือน ก็ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น -7.75% แต่เมื่อไปดูการพยากรณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย กลับคาดว่าการส่งออกของสินค้าทั้งปีจะหดตัว -12.0%

ผลของการส่งออกปี 2563 ที่จะหดตัวมาก มีผลโดยตรงทําให้ GDP ปีนี้ต้องถดถอยเป็นตัวเลข 2 หลัก คือไม่น้อยกว่า -10% อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ส่วนจะมากกว่าหรือไม่แค่ไหน ตัวตัดสินคือการท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ต้องเสียโอกาสแทนที่จะได้แต่ต้องกลับกลายเป็นศูนย์ ความหวาดกลัวโควิด-19 จนหัวไม่อยากคิดของผู้รับผิดชอบเป็นตัวเพิ่มอัตราการติดลบของ GDP แน่ ตามปกติช่วงที่เรียกว่า “ไฮซีซั่น” ของการท่องเที่ยวไทยนั้น จะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์รวมระยะเวลา 5 เดือน ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่หนีอากาศหนาวเข้ามามากกว่าปกติช่วงนี้จะมีนักท่องเที่ยวระดับพรีเมียม หรือระดับนักธุรกิจที่กระเป๋าหนัก เข้ามาอยู่เมืองไทยซึ่งประเทศเราอากาศกําลังดีไม่ร้อนอบอ้าวนักท่องเที่ยวที่เข้ามาก็มาก เฉลี่ยในปี 2561-62 เดือนละไม่น้อยกว่า 4 ล้านคน ถือเป็นช่วงทําเงินของธุรกิจท่องเที่ยว

แต่ฤดูกาลท่องเที่ยวที่จะเริ่มคึกคักในปีที่มีโควิด-19 ที่จะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้คงจะเปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ยิ่งฟังการเปิดเผยของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เมื่อวันที่ 23 กันยายนนี้ว่า ได้ประสานงานให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในไทยชุดแรก 300 คน โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโควิด-19 อย่างเข้มข้นหากไม่พบว่ามีความเสี่ยงใดๆ เกิดขึ้น ก็จะพิจารณาให้ต่างชาติชุดที่ 2 เข้ามาอีก 300 คน ในสัปดาห์ต่อไป โดยอาจทดลองลดวันเก็บตัวเพื่อเฝ้าดูอาการ (State Quarantine) ให้น้อยกว่า 14 วัน และถ้าราบรื่นก็จะให้เข้ามามากกว่า 300 คนต่อสัปดาห์ เอ้า ผมให้เพิ่มสามเท่าตัวเป็น 900 คนต่อสัปดาห์ จะพอทําได้ไหม

ถ้าท่านรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบทําได้เราก็จะได้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาทั้งเดือนถึง 3,600 คน ครับ ฟังดูแล้วขนลุกไหมครับ เพราะคิดว่านี่ไม่น่าเป็นผลงานของระดับรัฐมนตรี ขณะเดียวกันความหดหู่และสมเพชก็เกิดตามมาอย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อนเกิดขึ้นแบบลมออกหู เพราะเมื่อนําตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยเข้ามาเที่ยวเมืองไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ช่วงยังไม่มีโควิด-19 เดือนละ 4 ล้านคน แต่จะหดเหลือเพียงเดือนละ 3,600 คน ตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้หรือเท่ากับ 0.1% ของที่เคยเข้ามา ตัวเลขนี้เอามาเป็นนัยหรือสาระไม่ได้เลย ถือว่าเท่ากับศูนย์ได้เลย นี่มันเป็นการบริหารวิกฤตของประเทศหรือเป็นการเล่นชิงช้าสวรรค์กันแน่

ผมลองคิดคํานวณต่อไปเพื่อจะหาตัวเลขความหายนะที่จะเกิดขึ้นทางเศรษฐกิจ โดยเอาตัวเลขปี 2562 ที่ค่อนข้างปกติอยู่มาเป็นเกณฑ์ปี 2562 นั้น GDP ของประเทศไทยโต 2.4% ด้วยมูลค่า 16.879 ล้านล้านบาท ปี 2562 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวเมืองไทย 40 ล้านคน จากตัวเลขของสภาพัฒน์การท่องเที่ยวในปีนั้นสร้างรายได้ประชาชาติด้วยมูลค่า 1.93 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 11.4 ของ GDP หรือร้อยละ 20.4 ของมูลค่าการส่งออกของสินค้าและบริการซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักของไทย

ลองคํานวณต่อไปว่า ถ้าเดือนตุลาคม-ธันวาคม ซึ่งเป็นไตรมาสสุดท้ายที่ควรทํารายได้จํานวนมากจากการท่องเที่ยวเข้าประเทศ โดยจะมีปริมาณนักท่องเที่ยวเข้ามาเฉลี่ยในช่วงนี้เดือนละ 4 ล้านคน สามเดือนควรจะได้เข้ามา 12 ล้านคน แต่ต้องเหลือศูนย์ในปีนี้ ซึ่งจากการคํานวณโดยใช้รายได้และ GDP ปี 2562 ดังกล่าวข้างต้นเป็นเกณฑ์ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ประเทศไทยจะขาดรายได้จากการท่องเที่ยวไปถึง 0.58 ล้านล้านบาท (มากกว่าครึ่งหนึ่งของเงินกู้พิเศษเพื่อฟื้นฟูผลกระทบจากโควิด-19 จํานวน 1 ล้านล้านบาท) หรือถ้าคิดเป็นรายได้ประชาชาติก็จะเท่ากับ GDP ต้องถูกหดตัวเพิ่มขึ้นไปอีก 3.4%

ตัวเลขนี้บอกได้เลยว่า ถ้าสถาบันไหนคิดจะคาดการณ์การหดตัวของ GDP ปี 2563 ตํ่ากว่า -10% ขออย่าได้หลงเชื่อเป็นอันขาด นี่แหละคือพิษร้ายจากโควิด-19 ที่จะกระทบเศรษฐกิจ จริงๆ แล้วรายได้จากการท่องเที่ยวถ้าเข้ามาในระบบเศรษฐกิจเม็ดเงินที่ได้นี้จะดีกว่าการแจกเงินทุกรูปแบบที่รัฐบาลทํา เพราะเป็นเงินที่ออกจากกระเป๋านักท่องเที่ยวแล้วมาเข้ามือของนักธุรกิจและพ่อค้าแม่ค้าโดยทันทีก่อให้เกิดการหมุนเวียน และสามารถกระตุ้นให้ขายทั้งสินค้าและบริการได้อีกเป็นรอบๆ

มาพิจารณาการยืนกระต่ายขาเดียวต้องให้นักท่องเที่ยวผ่านกฎเกณฑ์พักการตรวจเช็กดูแลอาการ 14 วัน ที่เรียกว่า State Quarantine ว่าสมควรหรือไม่ที่จะใช้แต่ความกลัว หรือความซื่อบื้อเอาแต่กลัว หรือการเอาแต่สบายเฉพาะคุณหมอและพยาบาลเป็นหลัก โดยไม่อนาทรร้อนใจกับรายได้ทางเศรษฐกิจที่จะหดหายไปเป็นแสนแสนล้านบาทภายในเวลาไม่กี่เดือน ซึ่งเรื่องนี้ที่เกิดขึ้นจนสายไปมากในวันนี้ผมไม่อยากจะโทษผู้นําของรัฐบาลเลย แต่เมื่อมองการวางตัววางท่าทีในเรื่องนี้ของท่านผู้นําแล้ว ผมไม่รู้จะโทษผู้อื่นใดได้เลย

ยิ่งมีข่าวที่ว่า ศบค.จะเสนอเข้า ครม. (หรืออาจจะนําเสนอไปแล้วเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา) ในเรื่องมาตรการออกวีซ่าให้ต่างชาติเข้าไทยได้โดยยังจะยืนกระต่ายขาเดียวให้ต้องเข้าพักดูแลสุขภาพ 14 วันนั้น เชื่อได้ว่าจะทําให้นักท่องเที่ยวเข้ามาใกล้ศูนย์มาก คือเฉพาะผู้ที่จําเป็นต้องเข้ามารักษาตัว มาทําธุรกิจที่จําเป็น หรือมาเพราะมีคอนโดมิเนียม มีบ้าน หรือมีคนที่รักจริงๆ อยู่ที่เมืองไทยเท่านั้น แต่นักท่องเที่ยวปกติเขาจะไม่มาหรอกครับ ซึ่งจะทําให้ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ลากยาวไปถึงไตรมาสแรกของปีหน้า ที่ยังเป็นฤดูท่องเที่ยว แต่ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา แห้งผากเหมือนแม่นํ้าลําธารที่เจอฝนแล้งหนัก

เมื่อเร็วๆ นี้ผมได้มีโอกาสพบกับคุณหมอระดับอาจารย์หมอท่านหนึ่ง ท่านเล่าให้ฟังว่าที่คนไทยติดเชื้อโควิด-19 แล้วตายน้อยกว่าชาติอื่น ซึ่งจากการรักษาจนเหลือผู้ติดเชื้อประปรายที่เป็นคนไทยมาจากเมืองนอกขณะนี้ปรากฏว่าในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมานี้มีคนตายด้วยโควิด-19 เพิ่มเพียง 1 คน จาก 58 คน เป็น 59 คน ทั้งนี้ เพราะหมอไทยรู้วิธีดูแลรักษาอย่างดีรู้ว่าจะต้องใช้ยาตัวไหน ขนาดที่ว่าพอตรวจเจอว่าใช่หรืออาจใช่ ทุกโรงพยาบาลรู้ทันทีว่าจะต้องใช้ยาตัวไหน แล้วก็หายทุกราย ยิ่งกว่านั้น อาจารย์หมอยังบอกด้วยว่า ตอนนี้แทบทุกโรงพยาบาลไม่ว่าในจังหวัดใด ล้วนมีอุปกรณ์และเครื่องมือพร้อม มีห้องรับคนไข้มากมายเหลือพอ และมีหมอที่รู้วิธีรักษา ขอให้บอกว่ามีคนไข้เถอะ ไม่ต้องห่วงว่ากว่าจะได้วัคซีนอีกนาน หมอไทยเอาอยู่ ทําให้มั่นใจได้ว่าพิษจากโควิด-19 ในทางสุขภาพอนามัยตอนนี้ไม่ร้ายแรงแล้ว แล้วใครล่ะที่ทําให้คนไทยทั้งประเทศกลัวจนขาดสติและปัญญาอย่างที่เป็นอยู่ขณะนี้

ผมจึงไม่เชื่อว่าทางด้านการแพทย์จะเป็นตัวถ่วงไม่ให้ท่านผู้นํากล้าทําอะไรมากกว่านี้ ผมเชื่อว่าทางการแพทย์เขารู้ดีว่าไวรัสที่เกิดขึ้นจะไม่หมดไปง่ายๆ แบบที่เจอกับไข้หวัดใหญ่ หรือไวรัสอื่นๆ ในอดีตมามากต่อมากแล้ว และบรรดาคุณหมอต่างก็รู้ตัวดีว่าอาชีพของท่านต้องทํางานหนักเพื่อประชาชน และต้องรับผิดชอบด้วย ซึ่งต่างกับอาชีพนักการเมือง

ยังไงๆ ก็คงอยู่กันได้ไม่นาน ขอให้กล้าๆ หน่อยเถอะครับ

สมหมาย ภาษี

ติดตามบทความ สมหมาย ภาษี ที่เฟซบุ๊ก
Sommai Phasee — สมหมาย ภาษี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image