สถานีคิดเลขที่ 12 : ศักดิ์ศรีสภา โดย นฤตย์ เสกธีระ

สถานีคิดเลขที่ 12 : ศักดิ์ศรีสภา วันก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

สถานีคิดเลขที่ 12 : ศักดิ์ศรีสภา

วันก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสมาชิกวุฒิสภาว่าเป็นผู้ทรงเกียรติ
จริงๆ แล้ว สมาชิกรัฐสภาทุกคนล้วนเป็นผู้ทรงเกียรติ
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น “มีเกียรติ” ชัดเจน เพราะมาจากการเลือกตั้ง
ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งระบบเขต หรือจะเป็นระบบบัญชีรายชื่อ
ส่วนสมาชิกวุฒิสภา แม้จะมาแบบ “ลากตั้ง” แต่ก็น่าเห็นใจเพราะกฎหมายกำหนดแบบนั้น
ถ้ากฎหมายกำหนดให้เลือกตั้ง หลายคนคงลงสมัคร และหลายคนก็คงได้เข้ามานั่งในสภาในฐานะสมาชิกวุฒิสภาจากการเลือกตั้ง
เมื่อกฎหมายกำหนด ทุกคนที่เข้ามาทำหน้าที่ จึงมีเป้าหมายร่วมกัน นั่นคือ ทำเพื่อคนส่วนใหญ่

ความทรงเกียรติของสมาชิกรัฐสภา คือ การทำหน้าที่เพื่อคนส่วนใหญ่
ศักดิ์ศรีของสมาชิกรัฐสภาจึงเกี่ยวพันกับการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นใคร พรรคใด หรือกลุ่มใด ถ้าทำเพื่อคนส่วนใหญ่ก็ “มีเกียรติ” แน่นอน
แต่ถ้าใคร พรรคใด หรือกลุ่มใด ทำเพื่อพวกพ้อง แสวงหาประโยชน์ให้ตนเอง
ความมีเกียรติก็หมดสิ้น ศักดิ์ศรีก็หมดไป

กรณีการพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดข้อข้องใจ
เมื่อสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ
มีมติร่วมกันว่าจะแก้ไขมาตรา 256 และเห็นชอบกับการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ
มีเหตุผลสวยหรูในการแก้ไข สรุปได้ว่าทำเพื่อคนส่วนใหญ่
แต่พอสุดท้ายก่อนการโหวต กลับรู้สึกไม่แน่ใจในสิ่งที่ตัวเองนำเสนอ
กลับเสนอตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษา “หลักการ”

มองดูจากภายนอกทำให้เข้าใจได้ว่า ตั้งใจถ่วงเวลา
นี่ถ้าเป็นวุฒิสภาเป็นฝ่ายเสนอยังพอมีเหตุ เพราะวุฒิสมาชิกเสียประโยชน์ และไม่เคยศึกษาร่วมกับสภาผู้แทนฯมาก่อน การใช้กลวิธีตามข้อบังคับ จึงเป็นเรื่องงัดง้างกันทางการเมือง โดยมีสายตาประชาชนจับจ้องมอง
แต่นี่ ผู้เสนอคือตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาล และมารู้ภายหลังว่าหลายพรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่รู้เนื้อรู้ตัวมาก่อนด้วย
ผลจากการลงมติในวันนั้นจึงสร้างเงื่อนไขความขัดแย้ง
เกิดความระแวงไม่ไว้ใจรัฐสภา

Advertisement

ประเทศไทยตอนนี้มีความขัดแย้งกันมากพอแล้ว รัฐสภาควรจะช่วยทำให้ความขัดแย้งคลี่คลาย
รัฐสภาต้องสร้างความเชื่อมั่นว่า ที่นี่สามารถแก้ปัญหาแทนประชาชนได้ เพราะตัวแทนประชาชนมารวมอยู่กันที่นี่
แต่เมื่อเกิดเหตุพลิกเกมการโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ทำให้เกิดข้อสงสัยเรื่องการทำงานของรัฐสภาว่า สุดท้ายต้องการแก้ไขความขัดแย้งจริงหรือไม่
หรือทำไปเพื่อสนองตอบต่อโจทย์ให้รัฐบาลเท่านั้น ไม่ได้สนใจความขัดแย้งในหมู่ประชาชน

ถ้าเป็นเช่นนั้นก็สมควรถูกตำหนิ
เพราะศักดิ์ศรีของรัฐสภาคือทำเพื่อคนส่วนใหญ่
หากใครทำไปเพื่อพวกพ้อง ไม่สนใจความขัดแย้งใหญ่ที่อาจเกิดขึ้น
คนคนนั้นยังจะหวังคำ “ผู้ทรงเกียรติ” กันอีกต่อไปหรือ ?
หลังจากนี้อีก 30 วัน คือ โอกาสการพลิกกลับ เรียกความเชื่อมั่นกลับมา
รัฐสภาสมควรเป็นสถานที่แก้ไขความขัดแย้ง มิใช่เป็นตัวจุดชนวนความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในเมืองไทย

นฤตย์ เสกธีระ
[email protected]

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image