วิกฤตรัฐธรรมนูญและวิกฤตรัฐสภา ในฐานะวิกฤตทางการเมือง

ผมมีความเห็นว่าวิกฤตทางการเมืองในปัจจุบันไม่ใช่วิกฤตรัฐธรรมนูญ เท่ากับวิกฤตรัฐสภา

อธิบายแบบง่ายๆ ก็คือ วิกฤตรัฐธรรมนูญ (constitutional crisis) ในทางทฤษฎี หมายถึงการที่รัฐธรรมนูญแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองไม่ได้ ทั้งนี้มักจะมาจากเงื่อนไขเช่นรัฐธรรมนูญนั้นอาจมีมานานแล้วและก้าวไม่ทันปัญหาที่เพิ่งเกิดขึ้นเพราะไม่ได้คาดการณ์ว่าจะเกิดวิกฤตการทางการเมืองใหม่ และรัฐธรรมนูญในแง่นี้มักจะเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษร เพราะไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่จะแก้นั้น

เมื่อตัวบทรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้ระบุวิธีแก้ปัญหา ทางออกหนึ่งก็คือการมีการตีความ และในหลายสังคมวิกฤตการเมืองที่รัฐธรรมนูญนั้นแก้ไขไม่ได้ก็แก้โดยการมีศาลรัฐธรรมนูญ แต่เอาเข้าจริงคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญอาจสร้างวิกฤตทางการเมืองใหม่ขึ้นมาจากคำพิพากษา แทนที่จะระงับความขัดแย้ง ด้วยศาลรัฐธรรมนูญอาจไม่ยึดโยงกับประชาชน (ซึ่งไม่ได้เป็นเงื่อนไขเสมอไป) แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือไม่ยึดโยงกับประชาชน ยังยึดโยงกับระบอบที่เผชิญหน้ากับประชาชนเสียเอง

ปัญหาการเมืองไทยในวันนี้จึงไม่ใช่วิกฤตรัฐธรรมนูญในความหมายที่ซับซ้อนแบบที่กล่าวมา แต่เป็นปัญหาวิกฤตการเมืองที่รัฐธรรมนูญเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองนั้น

Advertisement

กล่าวอีกอย่างก็คือในวิกฤตใหม่นี้รัฐธรรมนูญเป็นที่มาของวิกฤตการเมืองไม่ใช่เพราะไม่มีบทบัญญัติมาตัดสิน หรือเพราะคำพิพากษาในเงื่อนไขที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนั้นก่อให้เกิดปัญหาความชอบธรรมของระบอบดังที่กล่าวมา แต่ปัญหาวิกฤตการเมืองที่รัฐธรรมนูญเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหานั้นเกิดจากการวางเงื่อนไขดังกล่าวไว้อย่างจงใจ หรือเข้าข้างกลุ่มผู้มีอำนาจที่ปกครองระบอบนี้ เพราะพวกเขาควบคุมกลไกในการร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเอาไว้ตั้งแต่แรก และจงใจที่จะใช้รัฐธรรมนูญนั้นในการรักษาและสืบทอดอำนาจของพวกเขาไว้

สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้แม้ว่าในเบื้องแรกเรามักจะมองว่าเป็นวิกฤตรัฐธรรมนูญ เพราะบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญและความพยายามแก้รัฐธรรมนูญกลายเป็นศูนย์กลางในความขัดแย้ง อาทิ การแก้รัฐธรรมนูญที่ยาก มีความพยายามทำให้กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญนั้นเป็นไปอย่างล่าช้า หรือมีความพยายามในการใส่เนื้อหาในการแก้บางอย่างให้ฝ่ายตนได้เปรียบ อาทิ การกำหนดสัดส่วน ส.ส.ร. ที่ไม่ได้มาจากเลือกตั้ง แต่จริงๆ แล้ว มันเป็นเรื่องของวิกฤตทางการเมือง (political crisis) ที่มีที่มาจากความพยายามใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือรักษาอำนาจเสียมากกว่า

ด้วยว่ารัฐธรรมนูญที่มีอยู่ไม่ได้คลุมเครือ และต้องรอการตีความ แต่เขียนกันโต้งๆ ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ต้องการให้มีการท้าทายได้ง่ายนัก และแถมยังมีการยิงร่างที่หนึ่งตก (จนกระทั่งประธานร่างที่หนึ่งพูดเสียงอ่อยว่าคนที่ยิงตกอยากอยู่ยาว) ร่างที่สองก็มีทั้งการเพิ่มบทเฉพาะกาล (ให้คณะรัฐประหารเลือก ส.ว. ในรอบแรก) และยังมีการเพิ่มคำถามพ่วง (ให้ ส.ว.ที่หัวหน้าคณะรัฐประหารเลือกมาเลือกนายกได้ และพวกเขาก็เลือกหัวหน้าคณะรัฐประหารคนเดิมเข้ามาใหม่) และเมื่อมีการประชามติก็มีการเคลือบแคลงสงสัยกับความเสรีและเป็นธรรมในการลงประชามติ รวมทั้งข้อสงสัยในกระบวนการรัฐธรรมนูญหลังการลงประชามติแล้ว

Advertisement

รัฐธรรมนูญที่กำลังเต็มไปด้วยข้อถกเถียงในเหตุผลความจำเป็นในการแก้ไข ข้อเสนอในกระบวนการแก้ไข และข้อเสนอในประเด็นที่ควรจะแก้ไขนี้ไม่ได้มีปัญหาในแบบวิกฤตรัฐธรรมนูญที่ซับซ้อนแบบที่ผมอธิบายไว้ ในแง่ที่ว่ารัฐธรรมนูญนั้นระงับความขัดแย้งในสังคมไม่ได้ หรือการตีความรัฐธรรมนูญในเงื่อนไขที่ไม่มีบทบัญญัติ จนทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความถูกต้องจริงแท้ของการตีความของศาลรัฐธรรมนูญว่าพวกเขาไม่ได้ตีความรัฐธรรมนูญเนื่องจากไม่มีบทบัญญัติ แต่พวกเขาทำการ “เขียนรัฐธรรมนูญ” ขึ้นมาใหม่ มากกว่าการตีความรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้เขียน

รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับที่จงใจจะให้ถูกแก้ยาก แต่การจงใจที่จะถูกแก้ยากนั้นถูกซ่อนไว้ด้วยเงื่อนไขของการมีวุฒิสภาที่ทั้งถูกแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารซึ่งยังอยู่กันในการเมืองและอำนาจในวันนี้ แถมในรอบนี้ยังชัดเจนมากที่เกือบทั้งหมดนั้นยังแสดงออกว่าจะไม่แก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้

ทั้งนี้ แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะแก้ยาก แต่วุฒิสภาตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญโดยไม่มีบทเฉพาะกาลและคำถามพ่วงก็ยังเชื่อมโยงกับประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่ และถ้าจินตนาการว่าไม่มีการครอบงำจากระบอบรัฐประหารตั้งแต่ต้นในแง่อิทธิพลต่อการสร้างบทเฉพาะกาล และความจงใจในการเสริมเรื่องคำถามพ่วงเข้ามาในตอนท้าย รัฐธรรมนูญก็อาจแก้ไขได้ถ้าโครงสร้างอำนาจไม่กระจุกตัวอย่างจงใจดังที่เป็นอยู่

บทนำ : ควรมี ส.ว.หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ทำไมผมต้องอธิบายให้ซับซ้อน ก็เพราะต้องการชี้ให้เห็นว่าความขัดแย้งเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญนี้เป็นเรื่องของความจงใจในการประกอบสร้างร่างรัฐธรรมนูญนี้ขึ้นมา ไม่ได้เกิดจากวิวัฒนาการของสังคมที่ทำให้รัฐธรรมนูญนั้นปรับตัวไม่ทันแต่อย่างใด

ความขัดแย้งและวิกฤตการเมืองในวันนี้นั้นใหญ่กว่าเรื่องวิกฤตรัฐธรรมนูญ แม้ว่าจะมีรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในสนาม/ปริมณฑลแห่งความขัดแย้ง วิกฤตการเมืองวันนี้เป็นวิกฤตในระดับรากฐานของนิยามของระบอบการเมืองเอง

และส่วนหนึ่งก็เป็นวิกฤตที่ว่าด้วยเรื่องการจำกัดอำนาจและการคานอำนาจของสถาบันการเมืองทุกสถาบัน

หากแต่ว่าแต่ละฝ่ายนั้นจะนิยามการจำกัดอำนาจไว้ในขอบเขตไหน และพุ่งเป้าไปที่สถาบันใด

รวมไปถึงบริบทของวิกฤตทางเศรษฐกิจ และวิกฤตความขัดแย้งในสังคมที่ทับถมกันมาในช่วงสิบกว่าปีนี้ที่กลายเป็นพื้นฐานทำให้วิกฤตใหม่งอกเงยได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ วิกฤตการเมืองในวันนี้ยังเป็นเรื่องของวิกฤตรัฐสภา (parliamentary crisis) เพราะรัฐสภาในวันนี้แก้ไขปัญหาทางการเมืองไม่ได้ แถมฝ่ายผู้มีอำนาจมีตัวแทนในสองส่วนทั้งพรรครัฐบาล โดยเฉพาะ “พรรคสืบสานระบอบ” ที่ตั้งขึ้นมาสนับสนุนระบอบอย่างแข็งขัน กับส่วนที่สองก็คือวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งจากระบอบรัฐประหารและแสดงผลงานที่สนับสนุนระบอบและตัวผู้นำของระบอบอย่างต่อเนื่อง

วิกฤตรัฐสภาในปัจจุบันสามารถอธิบายได้ในสองระดับ

หนึ่ง เป็นวิกฤตที่ระบบรัฐสภา (parliamentary system) ไม่ได้ผนวกกับระบอบประชาธิปไตยอย่างสอดคล้องต้องกัน หมายถึงว่าคำว่าระบอบรัฐสภานั้นไม่ได้มีความหมายโดยอัตโนมัติว่าจะต้องเป็นระบอบที่รัฐสภานั้นจะมีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ คือมาจากการเลือกตั้ง

ในมิตินี้คำว่ารัฐสภานั้นไม่ได้มีความหมายโดยอัตโนมัติว่าจะมีขึ้นแต่ในระบอบประชาธิปไตย อาทิ ในระบอบเผด็จการก็มีรัฐสภาได้เช่นกัน แต่เผด็จการนั้นตั้งคนของเขาเองขึ้นมา

หรือแม้กระทั่งในระบอบกษัตริย์นั้นก็อาจมีรัฐสภาที่กษัตริย์ตั้งขึ้น หรือมีระบบผสมที่แม้ว่ากษัตริย์จะแต่งตั้งสภาขุนนาง แต่กษัตริย์ก็อาจจะต้องยินยอมการมอบอำนาจส่วนหนึ่งให้ขุนนาง หรือต้องได้รับการยอมรับจากขุนนางในการที่จะทำหรือไม่ทำอะไร และหลังจากนั้นอำนาจก็ต้องถูกแบ่งปันโดยพ่อค้า คนชั้นกลาง และชนชั้นแรงงานในที่สุด

ขณะที่ระบอบรัฐสภาประชาธิปไตย (parliamentary democracy regime) นั้นอาจจะต้องมีเงื่อนไขสำคัญหลายประการเช่นการที่ผู้นำนั้นจะต้องมาจากประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาจากการเลือกตั้งที่กว้างขวาง ไม่จำกัดสิทธิประชาชนมากนัก (เช่นผู้หญิงก็เลือกตั้งได้) อาทิ นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งเอง เช่นเป็น ส.ส. และนายกรัฐมนตรีสามารถถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจและลงคะแนนให้ออกได้หากไม่ได้รับความไว้วางใจ และตัวนายกฯก็สามารถยุบสภาได้ แต่ต้องลงไปพิสูจน์ตัวเองจากประชาชนอีกครั้งหนึ่ง

ที่เห็นและเป็นไป : การเมืองหลัง ‘คืนหลอกลวง’

ระบอบรัฐสภาประชาธิปไตยนั้นแม้จะมีประมุขที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ประมุขไม่ได้เลือกนายกรัฐมนตรีตามอำเภอใจ แต่ทำหน้าที่แต่งตั้งและให้คำปรึกษา ระบอบนี้มีทั้งกษัตริย์หรือประธานาธิบดีเป็นประมุข อาทิ สิงคโปร์ ในแง่ที่ประมุขไม่ได้บริหารประเทศเอง ซึ่งในความหมายที่เฉพาะเจาะจงเช่นนี้ระบอบรัฐสภาประชาธิปไตยจึงไม่ใช่ระบอบเดียวกับระบอบประธานาธิบดีที่เป็นทั้งผู้บริหาร และประมุขเสียเอง

ในวันนี้จะพบว่ารัฐสภาของเราไม่ได้มีมิติของประชาธิปไตยเต็มร้อย เพราะยังมีเงื่อนไขของวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนอยู่

สอง วิกฤตรัฐสภาสามารถอธิบายว่าเป็นเรื่องของการที่รัฐสภาถูกลดบทบาทลง (de-parliamentarization) ในเงื่อนไขที่ว่า รัฐสภานั้นในบางมิติถูกลดบทบาทลงจากที่ควรจะเป็น หากเราพูดถึงตัวส่วนที่เป็นสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ควรจะมีน้ำหนักมากที่สุดในระบอบรัฐสภา

โดยกรอบทฤษฎีแล้ว de-parliamentarization หมายถึงการที่รัฐสภานั้นถูกลดบทบาทลง โดยเฉพาะในกรณีประเทศในยุโรปที่แต่ละประเทศนั้นร่วมมือกันจัดตั้งสหภาพยุโรปขึ้น และก็มอบอำนาจการตัดสินใจและออกกฎเกณฑ์บางอย่างที่เหนือไปกว่าทั้งอำนาจอธิปไตยของประเทศสมาชิก และเหนือจากอำนาจของรัฐสภาของแต่ละประเทศ และทำให้ประเทศสมาชิกต้องปฏิบัติตาม

แต่ในกรณีบ้านเรานั้น ในช่วงระบอบรัฐประหารนั้น จะเห็นว่านอกจากหัวหน้าคณะรัฐประหารจะเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเอง และแต่งตั้งสมาชิกสภาต่างๆ ตามที่ตัวเองพอใจ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นยังใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ในการกำหนดนโยบายโดยไม่ต้องขออนุมัติหรือรับฟังความเห็นหรือคำคัดค้านจากรัฐสภาแต่อย่างใด

มาในวันนี้อำนาจรัฐสภานั้นโดยภาพรวมอาจจะดูเหมือนมีมากขึ้น เพราะมาจากการเลือกตั้ง และไม่มีการใช้อำนาจใหม่ๆ จาก ม.44 แต่ในอีกด้านหนึ่งรัฐสภาปัจจุบันถูกลดอำนาจการปกครองลง เพราะไม่สามารถแก้ไข ม.44 ได้ เอาผิดการทำรัฐประหารก็ไม่ได้ ตัวฝ่ายค้านเองในเบื้องแรกมีความเป็นไปได้ที่จะสามารถจัดตั้งรัฐบาล แต่การประกาศสูตรคำนวนการเลือกตั้งที่ล่าช้าทำให้เกิดการพลิกผันในการลดเก้าอี้ของพรรคฝ่ายค้าน และทำให้พรรคที่คะแนนไม่ครบตามเกณฑ์แรก แต่ได้รับการปัดเศษสามารถเข้าสู่สภาได้

หลังจากนั้นพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่คานอำนาจกับระบอบและเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ก็ถูกยุบด้วยการตีความความผิดที่ไม่ได้ระบุไว้โดยตรง และเกิดความเคลือบแคลงสงสัยว่าทำไมพรรคอื่นที่ถูกกล่าวหาด้วยเงื่อนไขที่เหมือนหรือใกล้เคียงกันไม่ถูกยุบตามไปด้วย (ยังไม่ได้กล่าวถึงพรรคการเมืองที่ถูกยุบก่อนการเลือกตั้งซึ่งมีแนวโน้มได้รับความนิยมเช่นกัน)

ในด้านหนึ่งเราเห็นว่ารัฐสภานี้อาจทรงอำนาจในการค้ำยันระบอบการเมืองนี้ต่อไป แต่ในอีกด้านหนึ่งอนาคตในระยะยาวของรัฐสภานี้ก็จะเห็นว่าอำนาจต่างๆ ของรัฐสภานั้นถูกลดลงเป็นอย่างมาก มีเรื่องบางอย่างในสังคมที่อภิปรายถกเถียงในรัฐสภาไม่ได้ หรือเลือกที่จะไม่อภิปรายถกเถียง ทั้งที่รัฐสภาควรจะเป็นที่ถกเถียงในทุกๆ เรื่องในฐานะที่เป็นตัวแทนของประชาชน หรือเมื่อสังคมนั้นมีข้อเรียกร้อง/ร้องเรียนบางอย่าง รัฐสภาเองก็ไม่ได้ตอบสนองกับข้อเรียกร้องจากสังคมได้อย่างตรงไปตรงมา

มิหนำซ้ำ พรรคฝ่ายค้านเอง รวมทั้งบรรดาผู้สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านแต่ละพรรคก็ไม่สามารถร่วมมือกันได้อย่างทรงเอกภาพ

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่าวิกฤตการเมืองระดับรุ่นนั้นไม่ใช่เรื่องเดียวของวิกฤตการเมืองที่ดำรงอยู่ และสำหรับผมวิกฤตการเมืองระดับรุ่นเป็นวิกฤตในทางสังคมวิทยาการเมือง ขณะที่วิกฤตรัฐสภาที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นเนื่องมาจากการยื้อเวลาในการพิจารณาข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญไปอีกหนึ่งเดือนโดยฝ่ายค้านไม่เข้าร่วมกรรมาธิการด้วยเป็นวิกฤตการเมืองในระบบรัฐสภาที่มีมิติทางรัฐศาสตร์ ขณะที่วิกฤตที่เกี่ยวข้องกับเทคนิคการแก้รัฐธรรมนูญว่ามาตราต่างๆ นั้นถูกจัดวางอย่างไรเป็นมิติของการเมืองของกฎหมาย

แต่ทั้งหมดนี้ก็หลอมรวมกันเป็นวิกฤตการเมืองที่เรากำลังเผชิญอยู่นั่นแหละครับ

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image