สถานีคิดเลขที่ 12 : เทศกาลใหญ่

สถานีคิดเลขที่ 12 : เทศกาลใหญ่

สถานีคิดเลขที่ 12 : เทศกาลใหญ่

ถือเป็นข่าวดี ที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย แจ้งความคืบหน้าของการเลือกตั้งท้องถิ่น

กล่าวคือ จะมีการประชุมร่วมของ กกต.กับมหาดไทย ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ เพื่อซักซ้อมความพร้อมต่างๆ

มท.1 จะนำผลหารือเข้า ครม. จากนั้น กกต.ประกาศวันเลือกตั้ง เริ่มจากเลือกตั้ง อบจ.พร้อมกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ ประมาณเดือน ธ.ค. ส่งท้ายปี 2563

Advertisement

ส่วนเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และท้องถิ่นอื่นๆ รวม อบต. จะตามมาในปี 2564

กำหนดเลือกตั้ง ธ.ค. ช่วงใกล้เทศกาลปีใหม่ น่าจะช่วยลดความเงียบหงอยของเศรษฐกิจการเมืองหลังโควิด และสร้างสีสันและความสะพัดมากมายแน่นอน

กกต.อาจจะต้องรับบทหนัก และหวังว่า คงไม่เกิดกรณีอย่างที่เชียงใหม่ เขต 8 ที่ทำให้ นายสุรพล เกียรติไชยากร แห่งพรรคเพื่อไทย กลายเป็น ส.ส.นอกสภาไป

Advertisement

องค์กรปกครองท้องถิ่น หรือ อปท. มีอยู่ 7,852 แห่งทั่วประเทศ ประกอบด้วย อบจ., เทศบาล, อบต., ผู้ว่าฯกทม. ผู้ว่าฯพัทยา

ทั้งหมดโดนดองเค็มหวานเปรี้ยวครบสูตร มาเป็นเวลา 6 ปีแล้ว นับจากรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา

ไม่มีการเลือกตั้ง ถ้าหมดวาระก็ให้รักษาการ ไม่หมดวาระก็ทำหน้าที่ไปตามปกติ

ทั้งหมดนี้คือ ประชาธิปไตยในระดับฐานรากของประเทศ ที่ใช้ระบบเลือกตั้ง ให้ประชาชนเลือกฝ่ายบริหารและสภาท้องถิ่น เข้ามาดูแลปกครองตนเอง และบริหารงานแก้ปัญหากันเอง

การที่ไม่มี อปท. มาทำงาน ผลเป็นอย่างไร ทุกคนรับรู้สัมผัสได้ด้วยตนเอง ชาวกรุง ปริมณฑล และจังหวัดต่างๆ ลองเหลียวมองสภาพต่างๆ รอบตัว แล้วเปรียบเทียบดู จะเห็นความแตกต่าง

แน่นอนว่า เมื่อเป็นการเลือกตั้ง ทุกพรรค ทุกกลุ่มการเมือง จะต้องแข่งขันกันอาสาเสนอตัวต่อเจ้าของสิทธิเลือกตั้ง

เชื่อว่าตอนนี้ สังคมของแต่ละจังหวัด ไหวตัวรับรู้กันแล้วว่า เทศกาลการเมืองสำคัญ ที่จะมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ ใกล้จะมาถึง

ส่วนใน กทม. ก็รับรู้กันแล้วว่า นักการเมืองคนไหนบ้าง ที่ตระเตรียมตัวอยู่

ไม่ว่าจะเป็น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคมในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่จะลงอิสระไม่สังกัดพรรค, พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ที่เพิ่งพ้นหน้าที่ ผบ.ตร.หมาดๆ รวมถึงสตรีแกร่งอีกหลายท่าน อาทิ นวลพรรณ ล่ำซำ นักธุรกิจและนักกิจกรรมสังคมชื่อดัง ไปจนถึง ทยา ทีปสุวรรณ สายเลือดตระกูลการเมือง ฯลฯ

การเลือกตั้งท้องถิ่นมีความแตกต่างจากเลือกตั้งระดับชาติ ประชาชนเจ้าของสิทธิรู้ดีว่า คะแนนเสียงในมือ ควรจะกาให้ใคร เบอร์ไหน ก่อนหย่อนลงหีบเลือกตั้ง

บรรดาผู้อาสา ไม่ว่าจะเป็น พลังประชารัฐโดยลุงป้อม, เพื่อไทยยุคปรับปรุงใหม่, คณะก้าวหน้ายุคคนรุ่นใหม่, ภูมิใจไทยยุคเบ่งบาน, ปชป.ที่กำลังทวงคืนความยิ่งใหญ่ และพรรค-กลุ่มอื่นๆ

ล้วนได้เปรียบ-เสียเปรียบกันคนละแบบ

แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ต้องผ่านด่าน ครม.ในไม่กี่วันนี้ไปก่อน

วรศักดิ์ ประยูรศุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image