พื้นที่ความคิด 44 ปี วีรชน 6 ตุลาคม กับนักเรียนเลว

พื้นที่ความคิด 44 ปี วีรชน 6 ตุลาคม กับนักเรียนเลว

พื้นที่ความคิด 44 ปี วีรชน 6 ตุลาคม กับนักเรียนเลว

หากเทียบกับสถานการณ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 สถานการณ์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มีความแจ่มชัดมากยิ่งกว่า

เพียงแต่แจ่มชัดในลักษณะ “กระซิบ”

เป็นการกระซิบในเชิง “สัญลักษณ์” อันเป็นท่วงทำนองเดียวกันกับเมื่อกล่าวถึงสถานการณ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475

Advertisement

นี่คือลักษณะ “ไทย” แบบหนึ่ง

ประกอบกับที่ปรากฏผ่านตำรา และแบบเรียนอย่างเป็นทางการ ไม่ว่าเมื่อเดือนมิถุนายน 2475 ไม่ว่าเมื่อเดือนตุลาคม 2516 ดำเนินไปอย่างคลุมเครือ

ขณะที่เดือนตุลาคม 2519 แทบไม่มีการเอ่ยถึง

Advertisement

นี่สะท้อนให้เห็นว่าการดำรงอยู่ของ “อำนาจนำ” เป็นการดำรงอยู่ในทางวัฒนธรรม ความคิดและแผ่ออกมาเป็นพลานุภาพในทางการเมือง

ตรงนี้แหละจึงสะท้อนให้เห็นว่าทำไมจึงต้องมี “นักเรียนเลว”

ความจริงแล้ว ท่วงทำนองในแบบ “นักเรียนเลว” มิใช่ว่าเพิ่งเกิดขึ้น ตรงกันข้าม ลักษณะอย่างเดียวกันนี้เคยปรากฏให้ได้เห็นมาตั้งแต่ก่อนเดือนตุลาคม 2516

จำ “ศูนย์กลางนักเรียน” ได้หรือไม่

จำหนังสือ “กด” อันเป็นผลงานของ “นักเรียนเลว” ที่มีรายงานถึง จอมพลถนอม กิตติขจร ได้หรือไม่ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

จุดเริ่มของพวกเขามาจาก “สังคมนิทรรศน์”

นับแต่ปี 2514 หลังรัฐประหารเป็นต้นมา นักเรียนทั้งหลายโดยเฉพาะที่ “สวนกุหลาบ” เริ่มมีข้อสงสัยต่อการสอน การเรียนที่พวกเขาประสบ

พวกเขาถึงกับมีการ “ชำแหละหลักสูตร”

ทั้งหมดนี้บางส่วนอาจได้รับผลสะเทือนจาก เปาโล แฟร์ จาก อีวาน อิลลิช บางส่วนอาจติดตามอ่านนิตยสาร“ชัยพฤกษ์” และบ้างก็อ่าน “สังคมศาสตร์ปริทัศน์”

แล้ว “นักเรียนเลว” พวกนี้ก็เข้าสู่สถานการณ์เดือนตุลาคม 2516

ปรากฏการณ์ “นักเรียนเลว” จึงเป็นกระบวนการผลิตซ้ำในทางความคิด เป็นความต่อเนื่องมาจากการปรากฏขึ้นของ “ศูนย์กลางนักเรียน”

แต่แสดงออกด้วย “ท่วงท่า” แตกต่างกัน

ในยุคของ “ศูนย์กลางนักเรียน” สำนวนการเขียน การอภิปรายของพวกเขาอาจมีกลิ่นอายของ “ซ้าย” หรือกระทั่งความคิดในแบบ “เหมาอิสม์”

แต่ในยุคเดือนกรกฎาคม 2563

ท่วงท่าของพวกเขาขยายกรอบกว้างมากกว่า มีกลิ่นอายในแบบ “โพสต์โมเดิร์น” เน้นในเรื่องอัตลักษณ์ เน้นในเรื่องสิทธิมนุษยชน

เปิดกว้างกระทั่ง LGBTQ

บรรยากาศของ 44 ปี วีรชน 6 ตุลาคม และบรรยากาศของ 47 ปี วีรชน 14 ตุลาคม จึงแตกต่างออกไปด้วยสีสันอันน่าตื่นตา ตื่นใจมากยิ่งกว่า

กระทั่งการปรากฏขึ้นของ “คณะราษฎร 2563”

ทั้งหมดนี้ คือ การสัประยุทธ์ในทาง “ความคิด” ที่มีทั้งความสัมพันธ์และขัดแย้งกับเมื่อเดือนตุลาคม 2516 และเมื่อเดือนตุลาคม 2519

กระนั้น เป้าหมายก็เป็นอย่างเดียวกัน

นั่นก็คือ การสัประยุทธ์เพื่อเข้าไปแย่งยึดและสร้าง “พื้นที่” อันเป็นของตนขึ้นมา ด้านหนึ่ง วิพากษ์ของเก่าที่ล้าหลัง ด้านหนึ่ง นำเสนอสิ่งใหม่ที่ก้าวหน้าและสร้างสรรค์

ยุทธศาสตร์ คือ การทะยานไปสู่ “อำนาจนำ” ในทางความคิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image