รากฐาน ความคิด ของ คณะราษฎร 2563 สถานะ ม็อบมุ้งมิ้ง

รากฐาน ความคิด ของ คณะราษฎร 2563 สถานะ ม็อบมุ้งมิ้ง

รากฐาน ความคิด
ของ คณะราษฎร 2563
สถานะ ม็อบมุ้งมิ้ง

พลันที่ “เยาวชนปลดแอก” ประสานเข้ากับกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม “นักเรียนเลว” เป็นต้น

ประกาศยกระดับขึ้นเป็น “คณะราษฎร 2563”

คำถามก็คือ บทนิยามที่ว่าเป็น “ม็อบมุ้งมิ้ง” บทนิยามที่ว่า “ม็อบฟันน้ำนม” บทนิยามที่ว่า “ม็อบวูบวาบ” จะยังทรงความหมายอยู่หรือไม่

Advertisement

มิได้เป็นคำถามไปยัง “กองทัพบก” มิได้เป็นคำถามไปยัง “ส.ว.”

หากที่สำคัญเป็นอย่างมากยังเป็นคำถามไปยังผู้จัดเจนที่เคยอยู่ใน “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ที่เคยอยู่ในมวลมหาประชาชน “กปปส.”

นี่ยังเป็นเรื่องของเด็กๆ เพิ่งผ่านการอาบน้ำร้อนมาอยู่อีกหรือ

Advertisement

คำถามนี้เรียกร้องต้องการการมองไปยังพัฒนาการแห่ง “เยาวชนปลดแอก” ไม่ว่าในเชิงความคิด ไม่ว่าในเชิงการเมือง ไม่ว่าในเชิงจัดตั้ง

ก่อนที่จะปักหลักอยู่ที่ “คณะราษฎร 2563”

ก่อนอื่นต้องยอมรับว่า ปรากฏการณ์ “เยาวชนปลดแอก” มีความแตกต่างไปจากการเคลื่อนไหวในกาลอดีตอย่างเด่นชัด

เด่นชัดในทาง “ความคิด” เด่นชัดในทาง “การเมือง”

นี่คือการประสานความจัดเจนจากอดีต ไม่ว่าจะเป็นอดีตเมื่อเดือนมิถุนายน 2475 ไม่ว่าจะเป็นอดีตเมื่อเดือนตุลาคม 2516

เพียงแต่มิได้ต้องการ “อำนาจ” เป็นของตนเอง

เพียงแต่มิได้ต้องการอย่างที่เคยเรียกขานกันว่า เป็นการ “เตะหมู” เข้า “ปากหมา” มิได้ต้องการเพียงเปลี่ยนตัว “ผู้เล่น” อย่างที่เคยเห็นกันมา

หากต้องการเปลี่ยน “กติกา” ปรับ “โครงสร้าง”

ขณะเดียวกัน รูปของการเคลื่อนไหวมิได้เริ่มจากที่เรียกว่า “ม้วนเดียวจบ” ไม่ชนะ ไม่เลิก หากแต่สะสมชัยชนะ สะสมบทเรียนจากปริมาณไปสู่คุณภาพ

เป็นการเคลื่อนไหว “การเมือง” บนฐานแห่ง “การจัดตั้ง”

หลังจากปรากฏการณ์แรกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม บนถนนราชดำเนิน บริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพียง 3 เดือนปรากฏการณ์นี้ก็แพร่กระจาย

ไปยังเชียงใหม่ ไปยังปัตตานี ไปยังอุบลราชธานี ไปยังนครปฐม

แต่ละการเคลื่อนไหวดำเนินไปอย่างเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นที่ขอนแก่น ไม่ว่าจะเป็นที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

ในที่สุดก็ผ่านการทดสอบอย่างน้อยก็ 2 การเคลื่อนไหวใหญ่

1 คือการเคลื่อนไหว ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 1 คือ การเคลื่อนไหว ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 19-20 กันยายน

ทะยานจาก “เรือนหมื่น” ไปถึง “เรือนแสน”

ไม่เพียงแต่ยึดถนนราชดำเนิน หากแต่ยังยึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และปักหลักชุมนุมข้ามคืน ณ ท้องสนามหลวง

เป็นพื้นฐานไปสู่การสถาปนา “คณะราษฎร 2563”

เด่นชัดว่ารากฐานของ “คณะราษฎร 2563” ที่สำคัญ 1 มาจากสถานการณ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2475 ที่สำคัญ 1 มาจากสถานการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2516

รวบยอดเป็นผลึกแห่ง “คณะราษฎร 2563”

จากเดือนกรกฎาคม ผ่านเดือนสิงหาคม ผ่านเดือนกันยายน มายังเดือนตุลาคม พวกเขายังมีกลิ่นอายแห่งความมุ้งมิ้ง วูบวาบและมีกลิ่นอายแห่งฟันน้ำนมอยู่หรือไม่

สถานการณ์ในวันที่ 14 ตุลาคมจะเป็น “คำตอบ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image