สังคมไทยกับโรคซึมเศร้า

สังคมไทยกับโรคซึมเศร้า

สังคมไทยกับโรคซึมเศร้า

ในปัจจุบัน มีผู้คนจำนวนมากรวมถึงนักศึกษาทั่วๆ ไปที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจหรือป่วยมีอาการเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากหน้าที่การงาน สังคมรอบข้าง ครอบครัว เงินทอง หรือการเรียน ทำให้เกิดความเครียดสะสมจนนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้ จนกระทั่งกลายเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทย

อย่างกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว เมื่อเด็กนักเรียนชายคนหนึ่งที่จังหวัดชลบุรี ถูกโกงค่าโดยสารรถสองแถวร้อยบาท จนเกิดอาการน้อยใจ ทำให้เกิดอารมณ์ชั่ววูบคิดฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากเด็กนักเรียนคนนี้เดิมเป็นโรคซึมเศร้า ที่มีสาเหตุต้นตอมาจากปัญหาครอบครัว และในสัปดาห์ต่อมาได้ก่อเหตุซ้ำ โดยพยายามจะกระโดดสะพานลอย หลังจากถูกเพื่อนๆ ในโรงเรียนล้อเลียนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ทำให้เกิดความกดดันและเกิดความเครียดสะสมจนคิดจะฆ่าตัวตายอีกครั้ง และอีกกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นในเดือน ก.ค. เมื่อสาวชาวไร่วัย 35 ปี ได้ผูกคอฆ่าตัวตายคาบ้านพักในจังหวัดตาก โดยผู้ตายป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามานานและพยายามฆ่าตัวตายมาแล้ว 5-6 ครั้ง จนสุดท้ายทำสำเร็จ ซึ่งกรณีตัวอย่างแบบนี้ทำให้รู้ว่าโรคซึมเศร้าสามารถเกิดได้ทุกเพศ ทุกวัย เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่จบไม่สิ้น และมักจะลงท้ายด้วยโศกนาฏกรรม

ในสังคมไทยมีมุมมองต่อโรคซึมเศร้าที่แตกต่างกัน ซึ่งผู้เขียนขอแบ่งออกเป็น 3 แบบโดยการสังเกตของผู้เขียนเองว่า ในแต่ละแบบนั้นมีการมองโรคซึมเศร้าแบบไหน? นั่นคือ แบบที่หนึ่ง ผู้คนในสังคมส่วนใหญ่ มองว่า โรคซึมเศร้าเป็นแค่โรคธรรมดาหรือโรคที่เรียกร้องความสนใจจากคนรอบข้าง แบบที่สอง บุคลากรทางการแพทย์มองว่าโรคซึมเศร้าเกิดขึ้นจากสิ่งผิดปกติของสารเคมีในสมอง และแบบที่สาม เป็นแบบที่นักศึกษาทั่วๆ ไป มองว่าโรคซึมเศร้าเกิดขึ้นจากความผิดปกติทางจิตใจและความคิด

Advertisement

คนทั่วไปส่วนใหญ่มักจะมองว่าโรคซึมเศร้าเป็นแค่โรคธรรมดา ไม่นานก็หาย แต่หารู้ไม่ว่าโรคซึมเศร้านี้สร้างความเจ็บปวดอย่างมากให้แก่ผู้ที่เป็นและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้มานับไม่ถ้วนกับคำว่า “มันก็แค่โรคธรรมดา” ซึ่งผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่เป็นโรคซึมเศร้า และจะมาบอกเล่าประสบการณ์จริงในช่วงเวลาที่ผู้เขียนต้องเผชิญกับโรคซึมเศร้า

“ผมติดอยู่กับโรคซึมเศร้ามาประมาณเกือบปี เริ่มตั้งแต่เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยในช่วงแรกๆ ผมได้รับผลกระทบจากเรื่องครอบครัว เรื่องเงิน และการเรียน ทั้งหมดเป็นตัวหล่อหลอมให้ผมเริ่มเป็นคนที่เครียดมากขึ้น จนเริ่มเก็บตัวอยู่แต่ในห้อง แอบร้องไห้ แอบเศร้าโดยไม่บอกใคร ไม่มีสมาธิในการเรียน จนเริ่มรู้ตัวว่าเป็นโรคซึมเศร้า ผมได้ปรึกษาเพื่อนหลายๆคน แต่ผมมักจะไม่ทำตามที่เพื่อนบอก และไม่ยอมไปรักษาเลยแม้แต่ครั้งเดียว ได้แต่คิดว่าใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ เดี๋ยวความเศร้าความเครียดก็จะหายไปเอง

“แต่ผมคิดผิด ผมปล่อยมันมาเรื่อยๆ จนผมเริ่มทำร้ายตัวเอง ต่อยกำแพง เตะโต๊ะ จนมาถึงจุดที่ผมต้องยอมรับว่าตัวเองนั้นเป็นโรคซึมเศร้า เป็นความรู้สึกที่ตัวผมได้แต่คิดลบ คิดแต่โทษตัวเอง ไม่ว่าตัวผมจะทำอะไรนั้น ก็มักจะโทษตัวเองอยู่เสมอ ถึงแม้บางเรื่องอาจจะเป็นเรื่องที่ตัวผมไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ในความ รู้สึกผม มันแย่ มองว่าตัวเองผิด ไม่ได้เรื่อง ทำอะไรก็ไม่ได้ ทำให้การใช้ชีวิตในแต่ละวันของผมมันน่าเบื่อ ไม่มีกำลังใจเรียน ไม่มีสมาธิในการทำเรื่องต่างๆ จนสุดท้ายผมจำเป็นต้องยอมรับกับการหลอกตัวเองว่าไม่ ได้เป็นโรคซึมเศร้า

Advertisement

“ในปัจจุบัน ผมเริ่มเข้ารับการรักษาโรคซึมเศร้าโดยหมอจิตแพทย์ท่านหนึ่งได้ให้มุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าว่า โรคนี้เปรียบเสมือนคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่ง ถ้าส่วนใดของคอมพิวเตอร์เกิดความเสียหาย ก็จะส่งผลกระทบต่อส่วนอื่นๆภายในคอมพิวเตอร์ แต่ไม่ใช่ว่าจะซ่อมแซมไม่ได้ เพราะฉะนั้นโรคแบบนี้สามารถรักษาให้หายได้ ไม่ใช่โรคที่จะติดตัวเราไปตลอดชีวิต

ผมได้รับยามาจำนวนหนึ่งและเข้ารับการปรึกษาจากหมอจิตแพทย์ รวมถึงความช่วยเหลือจากเพื่อนๆที่คอยดึงผมออกมาจากห้องแคบๆ มืดๆ พวกเขาได้พาผมออกไปเที่ยว พาไปเจอบรรยากาศใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แค่ห้องสี่เหลี่ยม พวกเขาให้แนวคิดบวกกับผม โดยเฉพาะเพื่อนสนิทของผมที่ชื่อฮาร์ท ที่มีความคิดบวกและให้ทัศนคติใหม่ๆ กับผมที่เป็นบวกเสมอๆ จนปัจจุบันอาการเริ่มดีขึ้น เริ่มคิดบวกมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพราะเพื่อนๆ และหมอที่ให้คำปรึกษา และแนวทางในการเปลี่ยนความคิดให้เริ่มคิดบวกมากขึ้น เปลี่ยนสภาพแวดล้อมรอบตัว เปิดรับสิ่งใหม่ๆ มากขึ้น”

ดังนั้น แล้วโรคซึมเศร้าจึงเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกๆ คน ตามความคิด สภาพแวดล้อมรอบตัวเรา ผู้เขียนขอแบ่งแนวทางการอธิบายการเกิดโรคซึมเศร้าจากสิ่งที่ผู้เขียนได้ประสบเจอด้วยตัวเองมา ดังนี้

หนึ่ง ความคิดนำไปสู่โรคซึมเศร้า ทำไมความคิดถึงส่งผลต่อโรคซึมเศร้า เมื่อใดก็ตามที่เรากำลังคิดลบหรือคิดในสิ่งที่ไม่ดีเกี่ยวกับตัวเอง หรือได้ฟังคำพูดที่ทำร้ายจิตใจ โดยที่ตัวเรานั้นนำคำพูดหรือความ คิดลบนั้นมาคิดซ้ำให้เกิดการบั่นทอนใจ จนรู้สึกสิ้นหวังกับสิ่งนั้นๆ ทำให้เกิดอคติและเริ่มถอยห่างออกมาจากที่ตรงนั้น จนจมปลักกับความโดดเดี่ยวที่ตัวเรานั้นสร้างขึ้นมา กระทั่งเกิดเป็นโรคซึมเศร้า

อาการของคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้านั้นจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังเผชิญ โดยคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะแสดงอาการต่างๆ เช่น มีอารมณ์เศร้า เบื่อและท้ออยู่ตลอดเวลา นอนไม่หลับ ไม่มีความสุข ไม่มีสมาธิกับสิ่งที่กำลังทำ เป็นต้น โดยอาการในลักษณะเช่นนี้ส่งผลต่อจิตใจจนทำให้คนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเกิดความคิดที่นำไปสู่การกระทำที่ไม่คาดคิดขึ้นถึงขั้นทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย เพราะคิดว่าตัวเองนั้นไม่มีคุณค่าให้อยู่บนโลกใบนี้อีกต่อไป

สอง การกระทำนำไปสู่การจากลา เมื่อใดที่เรารู้สึกว่าตัวเองนั้นไร้ค่าหรือคิดว่าตัวเองไม่สำคัญ ไม่จำเป็นต้องอยู่บนโลกนี้อีกต่อไป หรือมีความคิดว่าตัวเรานั้นอัปลักษณ์ (เช่นร่างกายไม่สมประกอบหรือรูปร่างอ้วน) ความคิดเหล่านี้จะหล่อหลอมจิตใจให้ตัวเองรู้สึกว่าไม่ได้เรื่องหรือคิดว่าตัวเรานั้นกำลังเป็นภาระให้กับคนอื่นจนทำร้ายตัวเอง แล้วนำไปสู่การจากลา การจากลาในที่นี้มีได้หลายความหมาย ตั้งแต่การหนีออกจากบ้านไปจนถึงการฆ่าตัวตายจบชีวิตไปเลย

สาม การจากลานำไปสู่บทเรียน เมื่อใดที่เกิดการสูญเสียเพราะโรคซึมเศร้า ผู้คนในครอบครัวและคนรอบข้างมักจะนึกย้อนเวลากลับไปและตั้งคำถามว่าทำไมเราถึงไม่ช่วยเขา? ทำไมเราถึงช่วยไม่ทัน? ทำไมเราถึงไม่รับรู้ว่าเขากำลังทนทุกข์ทรมาน? คนส่วนมากมักจะรู้ตัวในตอนที่สายไปเสียแล้ว ซึ่งนี่คือบทเรียนอย่างหนึ่งของผู้คนในสังคมที่ควรตระหนักว่าโรคซึมเศร้าไม่ใช่แค่โรคธรรมดาแต่อย่างใด แต่เป็นโรคที่อันตรายมากถึงขึ้นที่สามารถพรากชีวิตของคนสำคัญในครอบครัวได้ทุกเมื่อ

คุณนุ๊ก สุทธิดา เกษมสันต์ ณ อยุธยา นักร้องและนักแสดงหญิงชาวไทยซึ่งกำลังเผชิญทั้งโรคมะเร็งและโรคซึมเศร้า ถึงขั้นมองว่าโรคซึมเศร้าร้ายแรงยิ่งกว่าโรคมะเร็ง เพราะมะเร็งกินแค่เนื้อเรา แต่โรคซึมเศร้ากินความสุขของเรา

เพราะฉะนั้น เราจึงควรตระหนักและควรใส่ใจคนที่เป็นโรคซึมเศร้าให้มากขึ้น ให้ความรัก ให้ความอบอุ่น ให้ทัศนคติที่ดีแก่เขา เพราะผู้เขียนเชื่อว่าความคิดบวกของคนรอบข้างจะสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดลบของคนที่เป็นโรคซึมเศร้าได้ ถ้าหากคนที่มีอาการหรือเป็นโรคซึมเศร้าได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแต่ความคิดบวกและรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามีประโยชน์ ก็จะช่วยส่งผลทำให้เขาเริ่มที่จะเปลี่ยนความคิดใหม่ และใส่ใจสิ่งรอบข้างใหม่ๆ หาประสบการณ์ใหม่ๆ ให้แก่ตนเองมากขึ้น จนสามารถหลุดพ้นจากคำว่า โรคซึมเศร้า….และเริ่มต้นชีวิตใหม่

พงศกร เตละวานิช
นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image