การเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ยุ่งเหยิงที่สุด จากปัญหาของคณะผู้เลือกตั้งเมื่อ พ.ศ.2419

การเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ยุ่งเหยิงที่สุดจากปัญหาของคณะผู้เลือกตั้ง

การเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ยุ่งเหยิงที่สุดจากปัญหาของคณะผู้เลือกตั้งเมื่อ พ.ศ.2419

ท่านผู้อ่านที่เคารพต่างก็ทราบดีแล้วว่าชาวอเมริกันผู้ออกเสียงเลือกตั้งจะเลือกคณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี ไม่ได้เลือกตั้งตัวประธานาธิบดีโดยตรงเนื่องจากคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญอเมริกาเมื่อ 144 ปีก่อนนี้นั้น เขาไม่ไว้ใจคนธรรมดาสามัญในการให้ความรับผิดชอบในการเลือกผู้นำไปบริหารบ้านเมืองทำนองว่าประชาชนยังมีการศึกษาไม่เพียงพอนั่นเอง ดังนั้น จึงให้คนธรรมดาสามัญนี่เลือกคนที่จะไปเลือกประธานาธิบดีอีกทีหนึ่ง นัยว่าต้องใช้ตะแกรงร่อนเอาคนที่รู้จักคิด รู้จักใช้เหตุผล มีความรับผิดชอบไปทำหน้าที่เลือกผู้นำ (ประธานาธิบดี) ที่จะกำชะตาชีวิตของชาติเป็นเวลา 4 ปี ดูออกจะปลอดภัยกว่าให้ประชาชนตัดสินกันเอง

นอกจากนี้ คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญของอเมริกานั้นรังเกียจพรรคการเมืองเนื่องจากพรรคการเมืองคือ การเล่นพวกอย่างเปิดเผย จึงไม่ได้ใส่เรื่องพรรคการเมืองลงในรัฐธรรมนูญเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดี ดังนั้น ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2 ครั้งแรกจึงไม่มีพรรคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อคณะผู้เลือกตั้งที่ได้รับเลือกตั้งในวันอังคารแรกของเดือนพฤศจิกายนแล้ว ก็จะเดินทางไปยังเมืองหลวงของมลรัฐของตนในวันจันทร์แรกของเดือนธันวาคมเพื่อทำการหย่อนบัตรลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีเสร็จแล้วก็หมดหน้าที่ กลับบ้านได้ ส่วนทางมลรัฐก็จะส่งผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีไปให้ประธานวุฒิสภาสหรัฐ ซึ่งประธานวุฒิสภาก็จะนำคะแนนเสียงของแต่ละมลรัฐไปนับกันอย่างเปิดเผยในที่ประชุมร่วมของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาในต้นเดือนมกราคมแล้วก็ประกาศผลอย่างเป็นทางการว่าใครคือผู้ได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป

แต่พรรคการเมืองเป็นธรรมชาติของการเมืองเมื่อมีการเมืองก็ย่อมต้องมีพรรคการเมืองเป็นเรื่องธรรมดา และสหรัฐอเมริกาก็เป็นประเทศที่มีระบบพรรคการเมือง 2 พรรคมาโดยตลอดหลังจากสมัยของประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน มาจนถึงปัจจุบันนี้

Advertisement

ปัญหาการขัดแย้งในการเลือกตั้งประธานาธิบดี พ.ศ.2419 นี้เป็นปัญหาของระบบการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาที่มีมาแต่เริ่มสถาปนาประเทศที่ยังเรื้อรังมาจนปัจจุบันนี้ กล่าวคือ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีนั้น แม้จะเป็นการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชนทั้งประเทศแต่การนับคะแนนรวมที่จะตัดสินว่าผู้ใดแพ้ชนะนั้นกลับใช้ระบบ คณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College System) ซึ่งการเลือกตั้งประธานาธิบดีของ พ.ศ.2419 นี้แสดงให้เห็นชัดว่าผู้ที่ได้คะแนนเสียงรวมทั้งประเทศคือ นายแซมวล เจ. ทิลเดน ผู้แทนพรรคเดโมแครตได้คะแนนเสียงรวมทั่วประเทศ 4,284,020 คะแนน ในขณะที่ นายรูเธอร์ฟอร์ด บี. เฮส์ แห่งพรรครีพับริกัน ได้คะแนนเสียงรวม 4,036,572 คะแนน ซึ่งนายทิลเดนได้คะแนนเสียงมากกว่าถึง 247,448 คะแนน

แต่นายทิลเดนได้คะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้ง 184 คะแนน จากคะแนนรวม 369 คะแนน ซึ่งยังขาดอีกเพียงคะแนนเดียวเท่านั้นที่จะทำให้นายทิลเดนชนะจากการเลือกตั้งของคณะผู้เลือกตั้ง ในขณะที่นายเฮส์ได้คะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งเพียง 165 คะแนน แต่มีคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งที่ขัดแย้งตกลงกันไม่ได้จาก รัฐเซาท์แคโรไลนา รัฐหลุยเซียนา และรัฐฟลอริดา เนื่องจากทั้ง 3 รัฐนี้ยังอยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลทหารที่ส่งไปรัฐบาลสหรัฐอยู่ หากนายเฮส์ได้อีก 20 คะแนนเสียงของทั้ง 3 รัฐนี้ เขาก็มีสิทธิที่จะเป็นประธานาธิบดีด้วยคะแนน 185 ต่อนายทิลเดนที่มีคะแนนเสียง 184 คะแนน

เมื่อเรื่องนี้ตกลงกันไม่ได้ก็จำต้องให้สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐตัดสินตามบทแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราที่ 12 ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมาธิการเฉพาะกิจขึ้นประกอบด้วยคณะกรรมาธิการ 15 คน ประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 10 คน และผู้พิพากษาศาลฎีกา 5 คน ซึ่งแบ่งตามพรรคได้เป็นฝ่ายพรรครีพับริกัน8 คน พรรคเดโมแครต 7 คน ซึ่งก็มีการลงคะแนนเสียงกันตามพรรคทำให้นายรูเธอร์ฟอร์ด บี. เฮส์ ได้เป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา

Advertisement

ปัญหาความขัดแย้งในการเลือกตั้ง พ.ศ.2419 นี้ได้สิ้นสุดลงด้วยการประนีประนอมระหว่างพรรครีพับริกันและพรรคเดโมแครต โดยฝ่ายเดโมแครตยอมเสียตำแหน่งประธานาธิบดีไปให้กับฝ่ายรีพับริกัน โดยฝ่ายรีพับริกันต้องยินยอมยกเลิกการยึดครองของรัฐบาลสหรัฐในรัฐภาคใต้ที่เป็นอดีตกบฏและยอมให้บรรดาชนผิวขาวชาวใต้ที่เคยมีอำนาจอยู่ก่อนสงครามกลางเมืองกลับขึ้นมีอำนาจได้ดังเดิม และยกเลิกความพยายามที่จะยกฐานะอดีตทาสผิวดำในรัฐภาคใต้ให้มีสิทธิเท่าเทียมกับชาวผิวขาว ซึ่งทำให้เป็นปัญหาเรื้อรังเรื่องการเหยียดผิวในปัจจุบันนี้ ส่วนปัญหาของการเลือกตั้งแบบคณะผู้เลือกตั้งก็มิได้รับการแก้ไขแต่อย่างใดถึงแม้ว่าจะเกิดปัญหาถึง 5 ครั้งแล้วในประวัติศาสตร์ ที่ผู้ที่ได้เป็นประธานาธิบดีได้คะแนนเสียงจากประชาชนน้อยกว่าผู้แพ้แต่สามารถได้รับชัยชนะจากคะแนนเสียงของคณะผู้เลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายใน พ.ศ.2559 ที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้คะแนนเสียงจากประชาชนน้อยกว่า นางฮิลลารี คลินตัน ถึง 2,868,686 คะแนน แต่ได้ชัยชนะการเลือกตั้งจากคณะผู้เลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 304 คะแนน ต่อ 227 คะแนน

เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นรัฐรวม ไม่ใช่รัฐเดี่ยวเหมือนราชอาณาจักรไทย ประเทศสหรัฐอเมริกาจึงเปรียบเสมือนการมีประเทศ 50 ประเทศเข้ามารวมกันโดยความสมัครใจเป็นประเทศเดียว ดังนั้น มลรัฐทั้ง 50 มลรัฐของอเมริกานั้นก็มีวัฒนธรรม ระเบียบแบบแผน กฎหมาย ความเชื่อ วิธีคิด ฯลฯ ที่แตกต่างกัน จึงมีวัตรปฏิบัติอะไรที่ไม่เหมือนกัน ดังกฎหมายเลือกตั้งของแต่ละมลรัฐของสหรัฐอเมริกานี่ไม่เหมือนกันนะครับ ยกตัวอย่างเช่นการนับบัตรลงคะแนนว่าเสียหรือใช้ไม่ได้นั้นก็ไม่เหมือนกันทุกมลรัฐ ต่างกับประเทศที่เป็นรัฐเดี่ยวเช่นประเทศไทยที่มีกฎหมายเลือกตั้งฉบับเดียวเหมือนกันทั่วประเทศ ดังนั้น คงจะเป็นการยากที่สหรัฐอเมริกาจะเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งจากคณะผู้เลือกตั้งมาใช้ระบบคะแนนเสียงของประชาชนโดยตรง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image