สถานีคิดเลขที่ 12 : Call Out

สถานีคิดเลขที่ 12 : Call Out ก่อนนี้เวลาพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา และ 14 ตุลา

สถานีคิดเลขที่ 12 : Call Out

ก่อนนี้เวลาพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา และ 14 ตุลา หลายคนที่อาจไม่เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์พูดผิดเป็น 16 ตุลาอยู่บ่อยๆ

แต่ตอนนี้ 16 ตุลาฯ มีเหตุการณ์ของตัวเองจริงๆ แล้วนับจากเหตุสลายการชุมนุมเมื่อวันศุกร์ที่ 16 ต.ค.2563

เหตุการณ์วันนั้นเป็นเหตุพิเศษ เพราะเจ้าหน้าที่ใช้น้ำแรงดันสูงผสมสารเคมีสีฟ้าฉีดใส่ผู้ประท้วงอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในประเทศ เคยเห็นแต่เหตุการณ์ที่ฮ่องกง

Advertisement

คนที่อยู่ฝั่งอำนาจนิยมบอกว่านี่ไง เดี๋ยวเด็กๆ ของไทยก็จะต้องพ่ายแพ้เหมือนกับกลุ่มคนหนุ่มสาวผู้ประท้วงในฮ่องกง เจอกฎหมายความมั่นคงมัดแน่นจนขยับเขยื้อนแทบไม่ได้

ส่วนไทยมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินมัดไว้อยู่แล้ว ยังมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมาช่วยมัดอีก

แต่หลังเหตุการณ์ 16 ตุลา บ่งบอกว่ารัฐมัดไม่อยู่ แฟลชม็อบกระจายผุดขึ้นตรงนั้นตรงนี้อย่างต่อเนื่อง มีแต่รถเข็นขายลูกชิ้นซึ่งผู้ชุมนุมเรียกซีไอเอเท่านั้นที่รู้ทัน

Advertisement

ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐ นับจากวันที่ 16 ต.ค. นอกจากโดนแกงไปหลายรอบ จะทำอะไรก็ดูไม่เข้าท่าไปเสียหมด รวมถึงความพยายามที่จะสกัดกั้นการสื่อสารของเด็กๆ ในโลกออนไลน์

ถ้าไปถามรัฐบาลตอนนี้ว่าอยากเคลื่อนรถฉีดน้ำออกมากระทำซ้ำแบบเดิมหรือไม่คำตอบอาจเป็นแผ่นเสียงตกร่องว่า ถ้าทำผิดกฎหมายก็ต้องทำอีก แต่ในใจลึกๆ ของผู้ร่วมสังฆกรรมในรัฐบาลน่าจะรู้แก่ใจว่า เหตุการณ์ 16 ต.ค. สั่นสะเทือนสังคมเพียงใด

แม้แต่ในกลุ่มคนบันเทิง ดารานักแสดงหลายคนที่เคยเงียบๆ หรือบางคนเคยเป่านกหวีด ก็ยังแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงแบบนั้น

แต่ดาราบางคนอยู่เฉยๆ ไม่แสดงออกอะไร ก็ยังโดนชาวเน็ตกระทุ้งว่าน่าจะ Call Out หรือออกมาต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อเด็กๆ ผู้ชุมนุม

แม้แต่นางเอกคนดังอย่าง อั้ม พัชราภา หรือเจ้าหญิงแห่งวงการบันเทิง แอน ทองประสม ก็โดนแซะด้วยว่ามัวแต่รักสุนัขกับเพลย์เซฟ

งานนี้มีดาราและแฟนคลับอีกฝ่ายโต้แย้งจนเป็นข้อถกเถียงกันว่า ถ้าเราเป็นประชาธิปไตยจริง จะต้องไปกดดันให้ดาราแสดงจุดยืนทางสังคม หรือการเมืองทำไม

ปกติแล้วการพูดคุย หรือตั้งคำถามทางการเมืองกับดารานักแสดงไม่ค่อยมีในสังคมไทย แม้ว่าช่วงม็อบนกหวีดที่มีดาราจำนวนมากเข้าร่วม แต่ก็ทำได้เพียงไปให้ความบันเทิงสนุกกันเองในหมู่พวก ไม่ต้องรับผิดชอบเมื่อมีเหตุการณ์ความรุนแรงถึงขั้นคนตายและไม่ต้องทุกข์ร้อนเมื่อเกิดรัฐประหารที่หยุดกระบวนการประชาธิปไตย

ถึงอย่างไรดาราไม่ใช่ผู้นำทางความคิดทางสังคม และไม่ได้เป็นปากเป็นเสียงของประชาชน

ดังนั้น หากดาราจะไปร่วมชุมนุม จะร่วมโพสต์ข้อความสนับสนุน หรือต่อต้านการชุมนุม หรือจะนิ่งเงียบ ล้วนเป็นสิทธิและเสรีภาพของแต่ละคน

แฟนคลับบางคนที่กำลังอินกระแสการชุมนุมอาจจะอยากเห็นแอ๊กชั่นอะไรบ้าง แต่ไม่ควรไปคาดหวัง หรือคาดคั้นอะไร

เพราะการชุมนุมทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์ 16 ตุลา ผู้เข้าร่วมประกาศตัวแล้วว่า “ทุกคนคือแกนนำ”

จึงไม่จำเป็นต้องมีนางเอก พระเอก หรือซุปตาร์

ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image