ย้อนอดีต 10 ปี กับคำถามจากการเรียนรู้ เพื่อรับมือกับน้ำท่วมโคราช 2563

“น้ำท่วมโคราช” หรือภัยพิบัติอุทกภัย พ.ศ.2563 ได้กลายเป็นประเด็นความสนใจต่อสาธารณะ ณ ขณะนี้  เนื่องจากการดำเนินตัวเองของปัญหาที่ยังไม่แสดงปลายทางและความรุนแรงเสียหายอันเกิดจากการกระทำของสถานการณ์   ซึ่งหากมองย้อนกลับไปในอดีตที่ผ่านมา จังหวัดนครราชสีมา หรือ โคราช ได้เผชิญกับสถานการณ์ภัยพิบัติอุทกภัยเช่นนี้มาแล้วเมื่อครั้งปี พ.ศ. 2553  และมีการกล่าวถึงเหตุการณ์ในครั้งดังกล่าวจากเสียงของพื้นที่ว่าเป็นภัยพิบัติครั้งสำคัญที่โคราชต้องเผชิญ  เช่นเดียวกัน การเผชิญกับภัยพิบัติอุทกภัยครั้งนี้ของจังหวัดนครราชสีมาในรอบเวลา 10 ปี (นับจากปี 2553 และ 2563) เป็นเหตุผลให้เราต้องหันมาทบทวนกันว่า หากวันนี้เราใช้โจทย์จากผลลัพธ์ของการบริหารจัดการน้ำท่วมโคราชย้อนรอยอดีต 10 ปี เราต้องตั้งโจทย์ให้กับการบริหารจัดการกับสถานการณ์น้ำท่วมโคราชปี 2563 อย่างไร ที่จะช่วยสร้างประสิทธิภาพให้การปฏิบัติการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติอุทกภัยในรอบนี้ 

การกล่าวถึงสาเหตุของปัญหาน้ำท่วมโคราชครั้งปัจจุบัน คงจะย้อนรอยเชิงพื้นที่ก่อนว่า จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดหนึ่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นหนึ่งของประเทศ มีทั้งสิ้น 32 อำเภอ ด้วยพื้นที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบสูงจึงทำให้ภัยแล้งเป็นภัยประจำถิ่นของพื้นที่  ภัยพิบัติอุทกภัยในปี พ.ศ. 2553 และ 2563 ปรากฏในเขตอำเภอปากช่อง อำเภอเมือง และอำเภอปักธงชัยเช่นเดียวกัน สาเหตุที่ปัญหาก่อรูปขึ้นเกิดจากฝนตกหนักในพื้นที่และเกิดน้ำป่าไหลหลากจากเขาใหญ่ลงสู่ลำน้ำมูลและลำน้ำสาขาในพื้นที่จังหวัดในช่วงกลางเดือนตุลาคมเช่นเคย นอกจากนี้บริบทของสถานการณ์ทำให้มีการคาดการณ์ว่าพื้นที่ทั้งสองประสบปัญหาภัยแล้งเช่นเดียวกัน  การดำเนินสถานการณ์น้ำท่วมในโคราชขณะนั้น(2553) เป็นที่ประจักษ์ว่าการบริหารจัดการค่อนข้างล้มเหลวเนื่องจากขากการเตรียมพร้อมรับมือและความสามารถในการบูรณาการการบริหารจัดการกับปัญหา

จากหลักฐานการวิจัยภัยพิบัติอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาครั้ง พ.ศ.2553 จึงหนีไม่พ้นการตั้งประเด็นกับการบริหารจัดการในครั้งนี้ ด้วยโจทย์แรกว่า การประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าด้วยวิธีการเชิงเทคนิคได้สร้างความยืดหยุ่น (Flexible) กับความผิดพลาดในการคาดคะเนไว้มากน้อยแค่ไหน และการรับรู้เชิงพื้นที่ควรมีบทบาทอย่างไรในการคาดคะเนต่อสถานการณ์ภัย และเมื่อสถานการณ์เกิดขึ้น โจทย์ถัดมาจึงมุ่งไปที่การบริหารจัดการในระดับพื้นที่ตั้งต้นที่ท้องถิ่น-อำเภอ-จังหวัด ตามลำดับ ซึ่งในสถานการณ์ภัยพิบัติเชิงพื้นที่นั้น เป็นไปได้หรือไม่ที่การบริหารจัดการจะเริ่มต้นในการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการบริหารจัดการปัญหาทั้งสามระดับพร้อมกันและทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาไปด้วยกันตั้งแต่ต้น เป็นเครือข่ายความร่วมแรงร่วมใจทางการจัดการ(Collaborative Management Network) เพราะแม้ว่าจะให้หลักของการประเมินสถานการณ์และกำลังด้านทรัพยากรเป็นตัววัดการยกระดับการปฏิบัติการซึ่งต้องเริ่มจากท้องถิ่นก่อนแต่ด้วยการวางแผนและตอบสนองภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็วก็เป็นตัวแปรของความสำเร็จทางการบริหารจัดการ อีกทั้งการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในระดับพื้นที่ยังไม่มีน็อตประสานงานในระดับพื้นที่อำเภอที่ชัดเจน การตั้งคลังทรัพยากรในระดับพื้นที่จึงเป็นไปได้ยาก และการหันไปพึ่งพาคาดหวังกับความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่ ซึ่งต้องอาศัยความสามารถเชิงกลยุทธ์ของผู้นำท้องถิ่นและมุมมองในการประสานทรัพยากรก็ทำให้การบริหารจัดการเหลื่อมล้ำกันด้านขีดความสามารถทางการปฏิบัติในพื้นที่อยู่ ฉะนั้นการผสานให้ชั้นของการจัดการ(management layer)และตัวแสดงที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ (formal and informal actors) ในการบริหารจัดการทำงานร่วมกันเชิงเครือข่ายอาจเป็นหนทางในการเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการกับปัญหาระดับพื้นที่ โจทย์ที่สาม การผสานความร่วมแรงร่วมใจระหว่างตัวแสดงไม่ใช่เรื่องง่าย หน่วยงานส่วนใหญ่มีความสามารถจากความลับ(secret) ทางทรัพยากรและการสั่งสมทรัพยากรมากกว่าการแลกเปลี่ยน (exchange) ทรัพยากรระหว่างหน่วยงาน

Advertisement

 โจทย์ที่สามจึงต้องพยายามหาทางออกว่า ทำอย่างไรจะสลายความเกราะความลับทางทรัพยากรของหน่วยงานที่กีดกันการมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานลงได้ ซึ่งจะนำไปสู่การตอบในโจทย์ที่สี่ว่าการพัฒนาบรรทัดฐานการมีส่วนร่วมและการแลกเปลี่ยนตั้งแต่ในระดับวัฒนธรรมองค์กรให้นำไปสู่การเป็น Cross-Cultural fit ควรสร้างด้วยกลยุทธ์/วิธีการแบบใดเพื่อรองรับการเป็นเครือข่ายระหว่างหน่วยงานทางการบริหารจัดการ เพื่ออาศัยการสร้างบรรทัดฐานให้นำไปสู่การแสดงพฤติกรรมเชิงแลกเปลี่ยนระหว่างกันของตัวแสดง และโจทย์สุดท้าย มุมมองและการตัดสินใจของผู้นำในสถานการณ์ในทุกระดับของพื้นที่ควรมีลักษณะร่วมไปในลักษณะอย่างไรที่จะทำให้การทำงานร่วมกันจากทุกภาคส่วนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด การตัดสินใจสร้างการเตือนภัยอย่างทันท่วงทีและถูกต้องเป็นเงื่อนไขเชิงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการภัยพิบัติ แน่นอนว่าการสร้างผู้นำที่เห็นความสำคัญกับการมีส่วนร่วมเพื่อข้อมูลที่สอดคล้องกับสถานการณ์มากที่สุดย่อมเป็นลักษณะหนึ่งในการสร้างโมเดลผู้นำในการบริหารจัดการสถานการณ์

อย่างไรก็ตาม คำถามที่เกิดจากข้อมูลเหตุการณ์น้ำท่วมโคราชเมื่อปีพ.ศ. 2553 เหล่านี้คงไม่ใช่ข้อกำหนดที่เคร่งครัดให้กับการบริหารจัดการภัยพิบัติอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาต้องตอบ แต่ทว่าในทางกลับกัน การเรียนรู้จากบทเรียนดังกล่าวอาจเป็นคำถามที่ช่วยเสริมการบริหารจัดการภัยพิบัติอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา(น้ำท่วมโคราช) ให้เป็นไปในทิศทางที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image