สถานีคิดเลขที่ 12 : ทางออก

สถานีคิดเลขที่ 12 : ทางออก การประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อหาทางออกประเทศ

สถานีคิดเลขที่ 12 : ทางออก

การประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อหาทางออกประเทศระหว่างวันที่ 26-27 ตุลาคม เริ่มต้นขึ้นแล้ว

เริ่มต้นขึ้นท่ามกลางความหวาดผวาว่า การประชุม ส.ส.และ ส.ว.จะเป็นเพียงแค่การเปิดเวทีมาด่ากัน

เกรงว่าจะด่าผู้ชุมนุม เกรงว่าจะด่ารัฐบาล ด่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

Advertisement

รวมทั้งเกรงว่าจะเป็นเวที “ฟอกขาว” ให้ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล หลังจากตัดสินใจสลายการชุมนุมนักเรียนนิสิตนักศึกษาไปเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม

แต่เมื่อการประชุมรัฐสภาเริ่มต้นเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม สิ่งที่ได้ยินกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม

ข้อเสนอของฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล ล้วนแล้วแต่เป็นการเสนอทางออกของประเทศ

Advertisement

พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลนั้น เป็นผู้เสนอญัตติ จึงมาขอรับฟังมากกว่าจะมาพูด

ขณะที่ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน เสนอทางออกจากวิกฤต โดยให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากนายกรัฐมนตรี

และสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเลือกตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างฉบับใหม่

ส่วน นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์สมควรจะเป็นนายกฯต่อไป พร้อมเสนอให้ทำประชามติว่า ประชาชนเห็นด้วยกับการชุมนุมประท้วงหรือไม่

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง มีผู้เกี่ยวข้องรวมถึงตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าร่วมด้วย

ทั้งหมดร่วมพิจารณาข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อให้ได้คำตอบโดยเร็ว

ข้อเรียกร้องไหนที่เห็นพ้องก็ดำเนินการทันที เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ข้อเรียกร้องไหนที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ ให้พักเอาไว้ก่อน

นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ จากพรรคชาติไทยพัฒนา ชี้ว่าทางออกคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญฉบับร่างใหม่นั้นต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และอำนาจอธิปไตยต้องเป็นของปวงชนชาวไทยในทุกเรื่อง

ส่วนสมาชิกวุฒิสภาเริ่มมีความเห็นพ้องที่จะโหวตผ่านวาระ 1 แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

นอกจากนี้ยังมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาอีกหลายคนเสนอทางออก

รับฟังมาจนถึงเวลาปิดต้นฉบับ รัฐสภาได้เสนอทางออกประเทศไว้หลายอย่าง

หวังว่า การประชุมรัฐสภาจะไม่ปั่นป่วนโกลาหลจนความพยายามแก้ปัญหากลายเป็นซ้ำเติมปัญหา

สำหรับรัฐสภา แม้จะมีข้อเสนอทางออกไว้มากมาย แต่ถ้ารัฐบาลไม่เอาด้วย และกลุ่มผู้ชุมนุมไม่สนใจ ข้อเสนอต่างๆ ก็กลายเป็นหมัน

ข้อเสนอทางออกที่ดี จึงต้องได้รับการยอมรับจากคู่ขัดแย้ง

การที่คู่ขัดแย้งจะยอมรับ ทางออกที่เสนอต้องเป็นทางออกให้ทั้ง 2 ฝ่าย

ทั้งฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มผู้ชุมนุม

ต้องเป็นทางออกให้รัฐบาล และเป็นทางออกให้กลุ่มผู้ชุมนุม

โดยมีเป้าหมาย คือ ประเทศชาติพ้นวิกฤต

นฤตย์ เสกธีระ
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image