ประวัติความเป็นมาของคณะเลือกตั้ง (Electoral College) ของสหรัฐอเมริกา

ประวัติความเป็นมาของคณะเลือกตั้ง (Electoral College) ของสหรัฐอเมริกา

ประวัติความเป็นมาของคณะเลือกตั้ง (Electoral College) ของสหรัฐอเมริกา

ประวัติศาสตร์ของประเทศสหรัฐอเมริกาเริ่มขึ้นจากการที่สเปนได้ค้นพบทวีปอเมริกาเมื่อ พ.ศ.2035 (ตรงกับสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา) หลังจากนั้นบรรดาชาวยุโรปก็อพยพไปตั้งถิ่นฐานที่ทวีปอเมริกากันเป็นยกใหญ่ เนื่องจากทวีปอเมริกามีที่ดินรกร้างว่างเปล่าอยู่อย่างมากมายมหาศาล และไม่มีผู้ใดจับจองเป็นเจ้าของ ซึ่งไม่เหมือนกับในทวีปยุโรปที่บรรดาที่ดินทั้งหลายมีพวกกษัตริย์และขุนนางจับจองที่ดินไปหมดสิ้นแล้ว ชาวยุโรปส่วนใหญ่จึงเป็นทาสติดที่ดินอาศัยอยู่ในที่ดินของเจ้าของที่ดินและใช้ชีวิตเยี่ยงทาสทำมาหากินอยู่ในที่ดินของคนอื่นนั่นเอง ดังนั้น การอพยพไปอยู่ทวีปอเมริกาจึงเป็นเรื่องที่น่าพิสมัยสำหรับคนยุโรปที่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง

ประเทศสหรัฐอเมริกาในชั้นเริ่มต้นก็เป็นชาวอังกฤษอพยพมาอยู่ในทวีปอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งเป็นที่นำนักโทษชาวอังกฤษมาปล่อยทิ้งด้วย เนื่องจากในประเทศอังกฤษมีนักโทษล้นคุกเนื่องจากในสมัยนั้นกฎหมายอังกฤษกำหนดว่าหากใครกู้ยืมเงินแล้วไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ ต้องติดคุก

เมื่อมีคนอพยพมาอยู่มากจึงได้ตั้งเป็นอาณานิคมอยู่ 13 อาณานิคม ตามชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ได้แก่ อาณานิคมนิวยอร์ก, อาณานิคมเพนซิลเวเนีย, อาณานิคมจอร์เจีย, อาณานิคมนิวเจอร์ซีย์, อาณานิคมนอร์ทแคโรไลนา, อาณานิคมเวอร์จิเนีย, อาณานิคมแมสซาชูเซตส์, อาณานิคมแมรีแลนด์, อาณานิคมเซาท์แคโรไลนา, อาณานิคมคอนเนกติคัต, อาณานิคมนิวแฮมป์เชียร์, อาณานิคมเดลาแวร์ และอาณานิคมโรดไอส์แลนด์ โดยทั้งหมดตกอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศอังกฤษจนกระทั่งถึง พ.ศ.2319 (ตรงกับสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี) อาณานิคมทั้ง 13 แห่งนี้ก็รวมหัวกันประกาศเอกราชจากอังกฤษซึ่งต้องสู้รบกันถึง 5 ปี จึงได้เอกราชทั้ง 13 อาณานิคม หรือเรียกง่ายๆ ว่าเกิด 13 ประเทศใหม่นั่นแหละ ที่รวมตัวเป็นพันธมิตรกันในรูปสมาพันธรัฐหลวมๆ อยู่

Advertisement

เนื่องจากทั้ง 13 ประเทศที่เกิดใหม่นี้ต่างตระหนักได้ดีว่าหากทั้ง 13 ประเทศนี้ไม่รวมตัวกันเป็นประเทศเดียวให้มีความเป็นปึกแผ่นอันหนึ่งอันเดียวแล้วก็คงจะรอดปากเหยี่ยวปากกาของมหาอำนาจใหญ่ของโลกในเวลานั้นอันได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน และรัสเซียไปไม่ได้อย่างแน่นอน

จึงได้ส่งตัวแทนของแต่ละ 13 ประเทศเอกราชใหม่นี้ไปร่างรัฐธรรมนูญใหม่สำหรับประเทศใหม่ 1 ประเทศ โดยรวมเอา 13 ประเทศ (รัฐ) ที่เป็นรัฐเดี่ยวเข้าด้วยกันในรูปของรัฐรวมที่เป็นปึกแผ่นแน่นหนามั่นคงแบบว่าเมื่อเข้ารวมกันแล้วจะถอนตัวหรือแบ่งแยกกลับออกมาไม่ได้อีกแล้ว คือสหรัฐอเมริกานั่นเอง

แต่การที่จะรวมประเทศนั้นไม่เหมือนกับการรวมกันเป็นพันธมิตร เพราะพันธมิตรนั้นถอนตัวได้แต่เมื่อตกลงปลงใจที่จะรวมเป็นประเทศเดียวกันแล้ว คำสั่งของรัฐบาลกลางย่อมสูงสุด ดังนั้น การยอมเสียอำนาจอธิปไตยไปโดยสมัครใจนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ก่อนตัดสินใจก็ย่อมต้องมีการต่อรองอย่างถึงพริกถึงขิงในหลายๆ เรื่องเพื่อรักษาผลประโยชน์ ศักดิ์ศรีของประชาชนของแต่ละอดีต 13 อาณานิคม จนในที่สุดก็สามารถประนีประนอมกันได้ โดยเรื่องที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งคือเรื่องผลประโยชน์และศักดิ์ศรีที่ขัดแย้งกันระหว่างรัฐเล็กกับรัฐใหญ่ หรือรัฐที่มีพลเมืองมากกับรัฐที่มีพลเมืองน้อยในการเลือกตั้งฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารของรัฐบาลกลาง

Advertisement

จากข้อมูลประชากรโดยประมาณใน พ.ศ.2323 แสดงให้เห็นดังนี้คือ รัฐเวอร์จิเนียมีพลเมืองมากที่สุดคือ 534,004 คน ส่วนรัฐที่มีคนน้อยที่สุดเพียง 45,385 คน คือรัฐเดลาแวร์ (รัฐของโจ ไบเดน ปัจจุบันนี้นั่นเอง) นอกจากนี้ รัฐจำนวน 4 รัฐ ได้แก่ รัฐนิวแฮมป์เชียร์, รัฐโรดไอส์แลนด์, รัฐเดลาแวร์, และรัฐจอร์เจีย ส่วนอีก 9 รัฐ ต่างก็มีพลเมืองเรือนแสนคนแต่ก็ประเภทแสนเศษ สองแสนเศษตั้ง 8 รัฐ มีเพียงเวอร์จิเนียเพียงรัฐเดียวที่มีพลเมืองถึง 534,004 คน

ดังนั้น จึงมีการประนีประนอมระหว่างรัฐที่มีประชากรมากกับบรรดารัฐที่มีประชากรน้อยก็เพื่อให้เกิดดุลยภาพแห่งอำนาจทางนิติบัญญัติ เนื่องจากหากตั้งรัฐสภาโดยมีสภาเดียวคือสภาผู้แทนราษฎรที่เลือกตั้งโดยสมมุติว่าใช้อัตราส่วนประชากรหนึ่งหมื่นคนเลือกผู้แทนราษฎรได้ 1 คน ก็จะทำให้รัฐที่ประชากรมากเช่น รัฐเวอร์จิเนียก็จะได้ผู้แทนราษฎรถึง 53 คน ในขณะที่รัฐเดลาแวร์จะได้ผู้แทนราษฎร 4-5 คนเท่านั้น ทำให้รัฐที่มีพลเมืองมากเพียง 2-3 รัฐรวมหัวกันก็จะออกกฎหมายอย่างไรก็ได้ตามใจชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายงบประมาณ ดังนั้น จึงมีการประนีประนอมกันโดยให้รัฐสภามี 2 สภา โดยมีสภาผู้แทนราษฎรให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรตามอัตราส่วนของประชากรแบบว่ารัฐใดมีพลเมืองมากก็ได้จำนวนผู้แทนราษฎรมากไปตามอัตราส่วน และรัฐที่ประชากรน้อยก็ได้ผู้แทนราษฎรน้อยตามอัตราส่วน แต่อีกสภาหนึ่งคือวุฒิสภานั้นให้ทุกรัฐมีวุฒิสมาชิกได้เท่ากันคือ 2 คน และกฎหมายทุกฉบับต้องผ่านความเห็นชอบของทั้ง 2 สภา จึงเกิดดุลยภาพแห่งอำนาจทางนิติบัญญัติขึ้น (หมายความว่ารัฐเล็กจะไม่เสียเปรียบรัฐใหญ่เท่าไรนัก)

ส่วนอำนาจทางฝ่ายบริหารของรัฐบาลกลางซึ่งอยู่ที่ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาเป็นหลักนั้น ก็มีการประนีประนอมระหว่างรัฐที่มีพลเมืองมากและรัฐที่มีพลเมืองน้อยสร้างดุลยภาพแห่งอำนาจทางบริหารเช่นกันโดยผ่านทาง คณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) โดยการนับรัฐหนึ่งๆ เป็น 1 หน่วยเท่าเทียมกันแต่นับรวมทั้งจำนวน ส.ส.และ ส.ว. โดยกำหนดว่ารัฐเล็กเท่าไรก็จะมีคณะผู้เลือกตั้ง 3 คน อาทิ รัฐไวโอมิงปัจจุบันมีคณะผู้เลือกตั้ง 3 คน ในขณะรัฐที่มีพลเมืองมากก็ได้ตามรัฐที่มีพลเมืองน้อยเหมือนกัน เช่น รัฐแคลิฟอร์เนียปัจจุบันได้คณะผู้เลือกตั้ง 55 คน โดยที่รัฐไวโอมิงมีอัตราส่วนประชากร 193,000 คนต่อคณะผู้เลือกตั้ง 1 คน ในเวลาเดียวกันที่รัฐแคลิฟอร์เนียต้องใช้อัตราส่วนประชากร 718,000 คนต่อคณะผู้เลือกตั้ง 1 คน และการได้คณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีถือเอาว่า “ผู้ชนะหมดทั้งหน่วยหรือทั้งมลรัฐหากชนะเพียงคะแนนเดียวก็ตาม”

ซึ่งการไม่เท่าเทียมกันแบบนี้ก็เกิดจากการประนีประนอมกันระหว่างรัฐที่มีประชากรน้อยกับรัฐที่มีประชากรมากโดยแท้ เนื่องจากวัตถุประสงค์หลักของแต่ละรัฐนั้นต้องรวมกันเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อรักษารัฐต่างๆ ทั้ง 13 รัฐนี้ให้รอดพ้นจากการคุกคามของบรรดามหาอำนาจต่างๆ ดังกล่าวไว้นั่นเอง

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image