ประชานิยมVSประชารัฐ

ผมได้รับเชิญให้ไปร่วมเสวนาในหัวข้อ ประชานิยมกับนโยบายหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองไทยŽ ที่จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ร่วมกับนักวิชาการ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ หรือผู้แทน ซึ่งถ้าหาก พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไปร่วมเองก็คงน่าจะสนุก เพราะมีคำถามของนโยบายพรรคพลังประชารัฐ
ที่สัญญาไว้เป็นจำนวนมากแต่ยังไม่ได้ทำเลย ซึ่งประชาชนจำนวนมากฝากทวงถามมา

เมื่อพูดถึงนโยบายประชานิยม แทบทุกคนจะต้องคิดไปถึงนโยบายในสมัยพรรคไทยรักไทยที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ซึ่งทำให้หลังครบเทอม รัฐบาลพรรคไทยรักไทยได้รับการเลือกตั้งกลับมาอย่างถล่มทลายถึง 377 เสียง จนกระทั่งมาถูกปฏิวัติรัฐประหารในปี 2549 และเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาการเมืองไทยนับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

นโยบายที่ได้รับความนิยมสูงสุดจนกระทั่งปัจจุบันคือนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งเป็นเหมือนหลักประกันรักษาสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้ประชาชนเข้าถึงการบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง แม้หลังมีการปฏิวัติรัฐประหารจะมีความพยายามที่จะยกเลิกนโยบายนี้หลายหน และพยายามจะเปลี่ยนชื่อ แต่ก็ทำไม่สำเร็จเพราะประชาชนนิยมอย่างมากและจำเป็นชื่อติดหูคุ้นชินกันไปแล้ว

อีกนโยบายที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันคือ นโยบายกองทุนหมู่บ้าน ที่รัฐสามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนได้ โดยไม่ถูกระบบราชการชักหัวคิว ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทุกวันนี้ทุกรัฐบาลก็ยังต้องอัดฉีดเงินผ่านกองทุนหมู่บ้านนี้อยู่เสมอ

Advertisement

นี่เป็นเพียงบางตัวอย่างเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก จริงๆ ยังมีอีกหลายนโยบาย เช่น หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอท็อป) กองทุน SML ที่ให้ท้องถิ่นตัดสินใจเองว่าจะพัฒนาชุมชนของตนเองอย่างไร กองทุน SMEs เพื่อส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และอีกหลายนโยบาย

หลักคิดของนโยบายประชานิยมในช่วงนั้นคือการคิดให้ครบทุกกรอบคือ ประชาชนต้องมีสุขภาพดี เข้าถึงแหล่งทุน และสามารถประกอบธุรกิจสร้างรายได้ และยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ผลคือรายได้ประชาชาติ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นสูงทุกปี และยังมีการ
กระจายรายได้อย่างทั่วถึงเพราะคนส่วนใหญ่มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง

ครั้งหนึ่งผมเคยไปตีกอล์ฟที่สนามกอล์ฟหรูกลางใจเมืองและได้ถามกลุ่มแคดดี้ว่าทำไมยังรักและนิยมอดีตนายกฯ และพรรคการเมืองของเขา คำตอบที่ได้รับทำให้ผมถึงกับน้ำตาซึม บางคนเล่าว่า แม่เขาไม่สบายหนักนอนติดเตียงกำลังจะตายถ้าไม่มี 30 บาทรักษาทุกโรคมาช่วยป่านนี้คงตายไปแล้ว อีกคนเล่าว่าที่บ้านได้เงินกู้จากกองทุนหมู่บ้านมาทำร้านขายส้มตำจนมีฐานะดีขึ้น และคนสุดท้ายเล่าว่าไม่เคยคิดเลยว่าชาตินี้จะมีบ้านเป็นของตัวเองได้ จนกระทั่งมีโครงการบ้านเอื้ออาทรจึงทำให้มีบ้านได้ นี่เป็นคำตอบจริงๆ ที่ได้รับแบบไม่ได้มีการเตรียมกันล่วงหน้า

Advertisement

นอกจากหลักคิดนโยบายประชานิยมแล้ว รัฐบาลในสมัยนั้นยังคิดเรื่องเศรษฐกิจคู่ขนาน (Dual Track Economy) ซึ่งหมายความว่า ในขณะที่ช่วยประชาชนระดับล่างให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแล้ว ยังคำนึงถึงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อให้บริษัทใหญ่ๆ ของประเทศไทยสามารถออกไปต่อสู้และแข่งขันกับต่างประเทศเพื่อนำเงินเข้ามาในประเทศได้ด้วยโดยจะได้ยินคำว่า เมกะโปรเจ็กต์ ที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในทุกด้าน โดยเฉพาะการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิจนเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างมากจนถึงปัจจุบัน และยังมีโครงการเมกะโปรเจ็กต์อีกหลายเรื่องที่ยังไม่ได้ทำ เช่น แลนด์บริดจ์ในภาคใต้ ที่รัฐบาลนี้เพิ่งจะคิดปัดฝุ่นนำขึ้นมาพิจารณา เป็นต้น

ความสำเร็จของนโยบายประชานิยมขณะนั้นเป็นที่ยอมรับกันในระดับโลกถึงกับมีผู้นำต่างประเทศขนานนามว่าเป็น ทักษิโนมิกส์Ž คล้ายกับสมัยของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐ ที่โด่งดังที่ออกนโยบายเศรษฐกิจที่เรียกกันว่า เรแกนโนมิกส์Ž แบบนั้นเลย โดยช่วงเวลานั้นประเทศไทยกลายเป็นคู่แข่งที่สำคัญของประเทศสิงคโปร์เลยทีเดียว

อี กแนวคิดหนึ่งที่สำคัญและยังไม่ได้ทำคือ โมเดิร์นไนซ์ไทยแลนด์ ที่จะพัฒนาประเทศไทยให้เป็นระบบดิจิทัลทั้งหมด ซึ่งขณะนั้นถ้าหากประเทศไทยได้ทำ ไทยก็จะทำไปพร้อมๆ กับประเทศเอสโตเนียที่เพิ่งแยกตัวออกมาจากประเทศโซเวียตรัสเซีย และป่านนี้ก็คงมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่าประเทศเอสโตเนียไปแล้ว ที่ประเทศเอสโตเนียมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อคนเพิ่มขึ้นถึง 53,000 บาทต่อเดือน หรือเพิ่มขึ้น 7-8 เท่าในเวลา 20 ปีที่ผ่านมา และมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อคนสูงกว่าคนรัสเซียถึงเท่าตัว

เรื่องที่สำคัญมากแต่กลับไม่มีคนพูดถึงกันมากนัก แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยครั้งใหญ่คือเปลี่ยนแปลงกรอบคิดของระบบข้าราชการให้มารับใช้ประชาชน ไม่ใช่ทำตัวเป็นเจ้านายของประชาชน โดยที่ในอดีตประชาชนต้องมารอและต้องมากราบไหว้ข้าราชการทุกครั้งในทุกเรื่องที่ต้องมาติดต่อกับราชการ แม้แต่ยามเฝ้าประตูของสถานที่ราชการก็ยังคิดว่าเป็นนายของประชาชน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ประชาชนมีความสุขเพราะได้รับการบริการจากภาครัฐอย่างเต็มที่ จนมีสโลแกน ประชาชนต้องมาก่อนŽ แต่พอหลังจากรัฐประหาร และมีรัฐบาลจากเผด็จการ แนวคิดแบบนี้ได้หายไป กลับย้อนยุคกรอบคิดไปในอดีตที่ข้าราชการคิดว่าตนเองเป็นเจ้านายของประชาชน ซึ่งเห็นได้ชัดในปัจจุบัน ที่มีการทำร้ายประชาชนโดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา เพื่อสลายการชุมนุม ข้าราชการยังไม่รู้สำนึกเลยว่าเป็นการกระทำความผิดแต่อย่างไร

แม้กระนั้น โครงการประชานิยมเหล่านี้ในสมัยนั้นกลับถูกโจมตีอย่างมาก ตั้งแต่เริ่มเปิดนโยบายก็ถูกดูถูกแล้วว่าจะทำไม่ได้จริง แต่สุดท้ายก็ทำได้หมด และต่อมาเมื่อทำสำเร็จแล้วก็ยังโดนโจมตีอีกว่าประชานิยมจะทำให้ประเทศชาติล่มจม ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่านโยบายประชานิยมเป็นเรื่องน่ารังเกียจ สร้างความรู้สึกในทางลบ แต่เมื่อดูตัวเลขสัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยต่อ
จีดีพีในขณะนั้นและตลอดหลายปีที่ผ่านมาก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำมากประมาณ 40% ของจีดีพีเท่านั้น ซึ่งพิสูจน์ชัดเจนว่าไม่ได้ทำให้ประเทศล่มจมแต่อย่างใด แต่มาปัจจุบันที่มีการกู้เงินกันอย่างมากเพื่อแจกอย่างสะเปะสะปะ จีดีพีไม่เพิ่มแถมติดลบ จนสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีพุ่งขึ้นสูง และจะพุ่งสูงทะลุ 60% และยังไม่มีทิศทางที่เศรษฐกิจจะฟื้นได้อย่างไร อีกทั้งหนี้สาธารณะอาจจะเพิ่มขึ้นไปอีกมาก นี่แหละที่อาจจะทำให้ประเทศชาติล่มจมได้จริงๆ

ดังนั้น แม้จะถูกรัฐประหารแต่เมื่อมีการเลือกตั้งอีกครั้ง พรรคพลังประชาชนที่สืบทอดต่อมาก็ยังชนะการเลือกตั้ง โดยมีนโยบายประชานิยมคือ น้ำประปาฟรี ไฟฟ้าฟรี (แต่ต้องใช้แบบประหยัด) รถเมล์ฟรี รถไฟฟรี เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ซึ่งก็ได้ความนิยมอย่างมาก และไม่ได้ใช้เงินมากเลย แต่ได้ช่วยคนเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ใช้อำนาจพิเศษสลับขั้วทางการเมือง มีการจัดรัฐบาลในค่ายทหารให้พรรคประชาธิปัตย์เข้ามานำการบริหารประเทศ แต่ประชาชนก็ไม่ได้พอใจแม้จะมีการแจกเงิน 2,000 บาท มีโครงการไทยเข้มแข็งที่ใช้เงินนอกงบประมาณสูงถึง 4 แสนล้านบาท แต่คนจำไม่ได้เลยว่าใช้ทำอะไรบ้าง อีกทั้งมีไข่ชั่งกิโลขาย และมีโรงพัก
ที่สร้างไม่เสร็จ เป็นต้น

สุ ดท้ายเมื่อมีการเลือกตั้งอีก พรรคเพื่อไทยก็ได้รับชัยชนะอีกครั้งหนึ่งด้วยคะแนนเสียงเกินครึ่งในสมัยนั้นมีนโยบายเครดิตการ์ดชาวนาเพื่อช่วยเหลือในการซื้อปัจจัยการผลิต นโยบายจำนำข้าวแม้จะเป็นที่ถกเถียงกันมาก แต่ชาวนาก็ได้ประโยชน์ ส่วนนโยบายที่ให้ประโยชน์อย่างมากคือโครงการแจกแท็บเล็ต ที่ผมเป็นผู้เสนอเอง ซึ่งเป็นการปูพื้นฐานเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัลโดยเฉพาะ โดยดูตัวอย่างจากประเทศสวีเดนที่มีความสามารถแข่งขันสูงมากในขณะนั้นเพราะเด็ก 7 ขวบของเขาสามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้กันหมดถึง 100% เลย ประกอบกับราคาของแท็บเล็ตได้ลดลงมามากในขณะนั้น และต้องคิดว่าโครงการนี้คิดและคาดการณ์ล่วงหน้ามากว่า 10 ปีแล้ว ก่อนที่เศรษฐกิจดิจิทัลจะเจริญรุ่งเรืองอย่างมากทั่วโลกในปัจจุบัน ซึ่งถ้าไม่ถูกยกเลิกและมีการบริหารจัดการที่ดี
เด็กไทยคงพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีได้ไม่แพ้เด็ก
ชาติอื่น ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการ คนปัจจุบันจะพยายามนำโครงการแจกแท็บเล็ตนี้กลับมาทำใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ก็ถูกโจมตีจากพวกเดียวกันจนต้องล้มเลิกความคิดนี้ไป

ในส่วนของพลังงานที่ผมเคยรับผิดชอบ นโยบายประชานิยมที่นำมาใช้คือการงดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ซึ่งทำให้น้ำมันเบนซินลดลงถึงลิตรละ 7-8 บาทในทันที น้ำมันดีเซลลดลงลิตรละ 3 บาท เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนชั่วคราว อีกทั้งยังมีนโยบายเครดิตการ์ดพลังงานเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะ ซึ่งแนวคิดทั้งเรื่องเครดิตการ์ดชาวนาและเครดิตการ์ดพลังงานนี้น่าจะเป็นต้นแบบของบัตรคนจนในปัจจุบัน นอกจากนี้ ในช่วงน้ำท่วมยังมีการออกคูปองเป็นส่วนลดในการซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าประหยัดพลังงานเพื่อทดแทนอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ถูกน้ำท่วมด้วย หลังจากที่กระทรวงพลังงานเป็นที่ตั้งของศูนย์ช่วยเหลือน้ำท่วมจนน้ำลดในขณะนั้น

ทั้งนี้ อยากให้เห็นว่าตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบันทุกนโยบายที่พรรคเคยหาเสียงไว้สามารถทำจริงได้ทั้งหมด

ค ราวนี้หันมามองนโยบายประชารัฐ ซึ่งเชื่อได้ว่ากลุ่มคนคิดก็คือกลุ่มคนที่เคยทำงานอยู่กับพรรคไทยรักไทยเดิม โดยพยายามจะมีการใช้นโยบายประชานิยมคล้ายกันเพียงแต่เปลี่ยนชื่อเป็นประชารัฐ นโยบายที่คนรู้จักคือนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือที่เรียกกันติดปากว่าบัตรคนจน ซึ่งในอดีตสมัยพรรคไทยรักไทยได้มีความพยายามจะหาวิธีพิสูจน์ความจนของประชาชนทุกกลุ่มซึ่งทำได้ยากมาก จึงยังไม่ได้มี นโยบายนี้ออกมาในขณะนั้น

ดังนั้น พอกลุ่มเดิมมาทำจึงได้มีการแจกบัตรคนจนแบบแจกกระจายกว่า 14 ล้านคน ทั้งที่โดยหลักการสากลประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยไม่ควรมีคนจนเกิน 10% หรือประมาณ 6-7 ล้านคน แต่รัฐบาลอาจจะต้องการหาเสียงเลือกตั้งในขณะนั้นจึงมีการแจกกระจาย แถมยังดีใจอ้างเป็นความสำเร็จที่มีคนจนจำนวนมากแทนที่จะต้องกังวลมากกว่า ซึ่งขณะนั้นน่าจะมีคนที่ไม่จนจริงเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันจากผลงานบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลอาจทำให้มีคนจนมากเกินจำนวนนั้นแล้วก็เป็นได้

นอกจากบัตรคนจนนี้แล้วยังมีโครงการชิมช้อปใช้ และโครงการเที่ยวแล้วได้เงินคืน ซึ่งแทบไม่ได้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจเลย เป็นการใช้เงินอย่างสิ้นเปลืองโดยไม่เกิดประโยชน์ แต่ที่ประชาชนทวงถามกันมากที่สุดคือนโยบายหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐที่สัญญาไว้มากมาย เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท ปริญญาตรี 20,000 บาท/เดือน อาชีวะ 18,000 บาท/เดือน ลดภาษีบุคคลธรรมดา 10% โครงการมารดาประชารัฐ ข้าวหอมมะลิ 18,000 บาท/ตัน ข้าวเจ้า 12,000 บาท/ตัน อ้อย 1,000 บาท/ตัน ยางพารา 65 บาท/กก. ปาล์ม 5 บาท/กก. มันสำปะหลัง 3 บาท/กก. เป็นต้น ซึ่งยังไม่สามารถทำได้เลย ตรงข้ามกับพรรคดั้งเดิมเจ้าตำรับประชานิยมที่ทำตามสัญญาได้หมด ซึ่งประชาชนน่าจะเห็นความแตกต่างได้ชัดแล้ว

นอกจากนโยบายประชารัฐที่ไม่ได้ผลและนโยบายหาเสียงที่ไม่ได้ทำตามสัญญาแล้ว รัฐบาลยังไม่มีแนวทางในการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อีกทั้งขาดความเชื่อถือและความเชื่อมั่นจากนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศจากข่าวสารในทางลบมาตลอดหลายปี เนื่องจากเป็นรัฐบาลที่มาจากการสืบทอดอำนาจของระบอบเผด็จการ ซึ่งจะไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศต่อไปได้เลย

แนวทางประชานิยมในหลักคิดของผมคือการให้สวัสดิการมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในสถานะทางการเงินของประเทศในขณะนั้น ประเทศหารายได้ได้เพิ่มก็ให้สวัสดิการเพิ่มขึ้น โดยหวังว่าในอนาคตจะสามารถพัฒนาเป็นรัฐสวัสดิการได้ แต่คงไม่ง่ายนัก เพราะการเป็นรัฐสวัสดิการได้ประเทศต้องมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกมาก เช่น ประเทศในแถบสแกนดิเนเวียเจ้าตำรับรัฐสวัสดิการประเทศเหล่านี้มีรายได้ภาษีต่อจีดีพีสูงกว่า 50% ในขณะที่ไทยมีรายได้เพียง 16-17% ต่อจีดีพีเท่านั้น ดังนั้น รัฐบาลอนาคตจะต้องมีแนวคิดที่จะต้องหารายได้ให้เพิ่มขึ้นมากๆ ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน และเพิ่มสวัสดิการขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันคงทำไม่ได้แน่ และก็ไม่รู้จะอยู่ต่อไปทำไม ซึ่งนี่น่าจะเป็นเหตุผลที่ประชาชนจำนวนมากออกมาขับไล่กันในปัจจุบัน

ออกไปเถอะครับ อย่าอยู่เพื่อถ่วงความเจริญของประเทศเลย

 

พิชัย นริพทะพันธุ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image