ช่องว่างบทเพลง แห่งการฟังแต่ไม่ได้‘ยิน’ ของท่านประยุทธ์

ช่องว่างบทเพลง แห่งการฟังแต่ไม่ได้‘ยิน’ ของท่านประยุทธ์

ช่องว่างบทเพลง  แห่งการฟังแต่ไม่ได้‘ยิน’  ของท่านประยุทธ์

อย่าว่าแต่ช่องว่างระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ “ละอ่อน” อย่าง นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ อย่าง “น้องรุ้ง” อย่าง “น้องมายด์” เลย

แม้แต่ระหว่างชายวัย 80 กับชายวัย 60 กว่าก็มีปัญหา

ทั้งมิใช่เพราะว่าชายวัย 80 อย่าง นายอานันท์ ปันยารชุน พูดด้วยภาษาดิจิทัล ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในโลกแห่งอนาล็อก

Advertisement

หากแต่เนื่องจาก “พื้นฐาน” ในทาง “สังคม”

อย่าลืมเป็นอันขาดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนักเรียนเตรียมทหาร สำเร็จจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

จากนั้นก็เข้ารับราชการเป็น “ทหาร”

อย่าลืมเป็นอันขาดว่า นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนักเรียนอังกฤษ เข้ารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ กระทั่งได้เป็นปลัดกระทรวง

ตรงนี้แหละที่ทำให้ 2 คนนี้ พูดกันไม่รู้เรื่อง

ขอยกตัวอย่างพื้นๆ ง่ายๆ ในกรณีที่ นายอานันท์ ปันยารชุน ระบุออกมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นคนประเภทที่ “ฟังแต่ไม่ได้ยิน”

ผลเป็นอย่างไร

ผลก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงตอบยาวเหยียดว่าตนเองเป็นคนเปิดใจกว้าง รับฟัง “เสียง” ของคนรุ่นใหม่อยู่ตลอดเวลา

เด่นชัดว่า ไม่เข้าใจ “สาร” ที่ นายอานันท์ ปันยารชุน สื่อ

สารนี้เหมือนกับเป็นเรื่องพื้นๆ ง่ายๆ หากไม่เข้าใจว่ารากฐานของสำนวนที่ว่า “ฟังแต่ไม่ได้ยิน” นั้นมีความเป็นมาอย่างไร

นี่ย่อมมาจาก Listening without Hearing

คุ้นๆ ไหมว่ามาจากท่อนหนึ่งในบทเพลงชื่อ The Sound of Silence ของพอล ไซม่อน ที่ประสานเสียงกับ อาร์ท การ์ฟังเคล

จึงไม่แน่เหมือนกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเคยได้ยินหรือไม่

อาจเพราะว่า นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนักเรียนอังกฤษ เคยเป็นทูตอยู่กรุงวอชิงตัน ผ่านบรรยากาศแห่งทศวรรษที่ 1960 มาแล้ว

ไม่ว่าในอเมริกา ไม่ว่าในยุโรป

ย่อมรับรู้ถึงการเกิดขึ้นของฮิปปี้ส์ เกิดขึ้นของบรรยากาศแห่งการเคลื่อนไหวของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าที่เบิร์กเล่ย์ ไม่ว่าที่กรุงปารีส ไม่ว่าที่กรุงลอนดอน

จึงไม่เพียงแต่รู้จัก เดอะ บีทเทิ้ล หากยังรู้จัก พอล ไซม่อน

ตรงกันข้าม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้จะชมชอบในดนตรีและเสียงเพลง แต่ก็มักจะเป็นเพลงมาร์ช มิได้เป็นเพลงในตระกูลที่เรียกว่า “โพรเทสต์”

อาจเคยดูหนังเรื่อง “พิษรักแรงสวาท” แต่ก็เลือนๆ ไปแล้ว

เลือนไปจนไม่รู้ว่าตลอดทั้งเรื่องมีบทเพลงในแบบโฟล์กของ พอล ไซม่อน แอนด์ อาร์ท การ์ฟังเคล คลออย่างได้อารมณ์และความรู้สึก

จึงฟังแต่ไม่ได้ยินเสียงจาก นายอานันท์ ปันยารชุน

จากนี้จึงเห็นได้ว่า ปัญหาในการสื่อจึงมิได้จำกัดจำเพาะระหว่าง “เยาวชนปลดแอก” กับนายกรัฐมนตรีอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น

หากแม้กระทั่ง “ผู้อาวุโส” ด้วยกันก็ยังมี

จึงต้องเข้าใจว่า เหตุใดเสียงท้วงติงจาก นายอานันท์ ปันยารชุน จึงถูกปฏิเสธอย่างฉับพลันทันใดจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

โดยเฉพาะเมื่อเป็นการวิพากษ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยตรง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image