เหตุการณ์ ‘No Winner’ เลือกตั้งสหรัฐ ทดสอบประชาธิปไตยแบบอเมริกัน

เหตุการณ์ ‘No Winner’ เลือกตั้งสหรัฐ ทดสอบประชาธิปไตยแบบอเมริกัน

เหตุการณ์ ‘No Winner’ เลือกตั้งสหรัฐ
ทดสอบประชาธิปไตยแบบอเมริกัน

ปรากฏการณ์ไม่ปกติ หนึ่งเดียวในรอบร้อยปี

แม้ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐยังไม่ทราบว่าผู้ใดชนะผู้ใดแพ้ แต่โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ชิงประกาศว่าตนชนะ โจ ไบเดน ก็เช่นกัน โดยกล่าวว่าตนกำลังอยู่บนเส้นทางไปสู่ชัยชนะ

แต่ความจริงปรากฏ ยังไม่มีผู้ใดได้รับชัยชนะ

Advertisement

หากประเด็นยังอยู่ที่ Swing States 3 รัฐคือ มิชิแกน เพนซิลเวเนีย และวิสคอนซิล

ทรัมป์กล่าวว่า จะฟ้องร้องให้ระงับการนับบัตรลงคะแนนที่ส่งทางไปรษณีย์ ส่วนไบเดนยืนยันว่า ต้องนับให้ครบทุกบัตร

เมื่อเป็นเช่นนี้ คงต้องเป็นคดีขึ้นสู่ศาล และยืดเยื้อยาวนาน

Advertisement

ทว่า จากการ “ดีไซน์” ระบอบประชาธิปไตยแบบอเมริกัน เดือนมกราคม 2021 จะต้องมีวันปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่ง และจะต้องมีผู้นำประเทศ

ประเด็นจึงมีอยู่ว่า ท่ามกลางความแก่งแย่งชิงชัย อเมริกันชนจะยอมรับหรือไม่โดยให้โดนัลด์ ทรัมป์ หรือโจ ไบเดน หรือ “แนนซี เพโลซี” ประธานสภาผู้แทนราษฎรผู้ใดผู้หนึ่ง

เข้าประจำการทำเนียบขาว

หลังการเลือกตั้งเหลือไว้ซึ่งปัจจัยแห่งความไม่ชัดเจน เป็นการบ่งบอกถึงความไม่ปกติของระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐ

ความขัดแย้งยิ่งนาน ความปั่นป่วนทางสังคมก็ยิ่งมาก

ความแก่งแย่งชิงชัยยิ่งนาน โอกาสที่จะเกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญก็ยิ่งมาก

ย้อนมองอดีตหลายสิบปีที่ผ่านมา หลังการเลือกตั้ง 1 วันยังไม่ทราบผลนั้นยังไม่เคยปรากฏ

จึงไม่แปลกที่ CNN ขึ้นตัววิ่งหน้าจอโทรทัศน์ว่า “No winner yet in an election” ซึ่งตรงกับเวลาประเทศไทยเวลา 21.00 น.ของวันพุธที่ 4 พฤศจิกายน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกหลังจากปี 2000 โดยเกิดความขัดแย้งประเด็นการนับคะแนนระหว่างจอร์จ ดับเบิลยู บุช พรรครีพับลิกันและอัล กอร์ พรรคเดโมแครต

กรณีคือคะแนนทั้งคู่ที่รัฐฟลอลิดาสูสีคู่คี่กัน

ปัญหาจึงเกิด ทั้ง 2 ค่ายนำคดีขึ้นสู่ศาล ใช้เวลาเกือบ 1 เดือน

ในที่สุด อัล กอร์ ขอถอนคดียอมแพ้ บุชจึงชนะแบบฉิวเฉียดที่ฟลอลิดา 537 คะแนน

แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ รัฐที่ชี้เป็นชี้ตายคือ มิชิแกน เพนซิลเวเนีย และวิสคอนซิล

การสำรวจประชามติก่อนการเลือกตั้งปรากฏว่า ความนิยมไบเดนนำหน้าทรัมป์เกือบ 10 จุด ทว่า มีนักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยยังเชื่อว่าทรัมป์มี “พลังเงียบ” สนับสนุน ไม่น้อยหน้าไบเดน แต่เมื่อเปิดหีบ ปรากฏว่าผลการสำรวจประชามติ เชื่อถือมิได้ เพราะการสนับสนุนทรัมป์ไม่เป็นไปตามนั้น ปรากฏการณ์จึงไม่แตกต่างไปจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว

การเลือกตั้งครั้งนี้ ทรัมป์เฝ้าติดอยู่กับรัฐฟลอลิดา ผลงานดีพอควรใน Swing states หลายรัฐ

พรรคเดโมแครตและรีพับลิกันต่างใช้สัญลักษณ์น้ำเงินและแดงในการ “เรียกแขก”

แม้การแก้ปัญหาโรคระบาดไวรัสโคโรนาของทรัมป์ถูกกล่าวหาว่าล้มเหลว

แต่เดโมแครตก็ไม่สามารถสร้าง “กระแสน้ำเงิน”

และแม้เดโมแครตครองสภาผู้แทนราษฎร

แต่คราวนี้ก็มีแนวโน้มที่จะพลาด

จึงเป็นทุกข์ของไบเดน

จากการสำรวจหน้าหน่วยเลือกตั้ง ปรากฏว่า

ผู้ที่กังวลเรื่องโรคระบาดไวรัส ส่วนใหญ่โน้มเอียงไปทางไบเดน

ส่วนผู้ที่สนใจประเด็นเศรษฐกิจ ก็ให้การสนับสนุนแก่ทรัมป์

การเลือกตั้งปี 2016 ก็เพราะโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับการสนับสนุนเขตเมืองอุตสาหกรรมภาคกลางเมืองสนิมเกาะ (Rust Belt) จึงได้เข้านั่งทำเนียบขาว

ทั้งนี้ เพราะทรัมป์เล่นการเมืองเป็น อ่านการเมืองออก จึงให้คำมั่นว่าจะฟื้นฟูเมืองสนิมเกาะที่เป็นเมืองร้างให้กลับสู่สภาพปกติ เป็นการเรียกแขกได้อย่างดี เป็นการหาเสียงที่ประเสริฐสุด

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ไบเดนกล่าวว่า ขอให้รวบ 3 รัฐแห่งเมืองสนิมเกาะ ก็สามารถเข้าทำเนียบขาว คือ รัฐมิชิแกน เพนซิลเวเนีย และวิสคอนซิล

คำกล่าวของไบเดนก็ไม่เกินความคาดหมาย

เวลาประเทศไทยวันพุธที่ 4 พฤศจิกายน เวลา 21.00 น. ยังไม่ปรากฏผลอีก 7 รัฐ อันหมายความรวมถึงเมืองสนิมเกาะ 3 รัฐด้วย

โจ ไบเดน ได้ 238 คะแนน ในขณะที่โดนัลด์ ทรัมป์ได้ 213 คะแนน

ทั้ง 2 ต้องบรรลุเป้า 270 คะแนน จึงจะได้ชัยชนะ

การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้ใช้สิทธิล่วงหน้าเกือบ 100 ล้านคน ผู้ลงคะแนนทางไปรษณีย์ของเมืองสนิมเกาะ 3 รัฐ ยังไม่มีการนับคะแนน แต่การลงคะแนนหน้าคูหาที่รัฐเพนซิลเวเนีย ทรัมป์นำไป 11 จุด ส่วนการลงคะแนนทางไปรษณีย์ที่เปิดนับคะแนนแล้ว ไบเดนนำทรัมป์ ส่วนมิชิแกนและวิสคอนซิลก็มีแนวโน้มที่จะชนะทรัมป์

ทรัมป์กล่าวหาว่า การลงคะแนนทางไปรษณีย์มีการทุจริตร้ายแรง จะฟ้องคดีขอให้ระงับการตรวจนับคะแนนทางไปรษณีย์โดยพลัน

เมื่อ 20 ปีก่อน คดีระหว่างบุชกับอัล กอร์นั้น ฝ่ายหลังเสียเปรียบตลอดเวลาการดำเนินคดี

บวกกับแรงกดดันประชามติ ฝ่ายหลังจึงประกาศยอมแพ้

แต่ปัจจุบันต่างกับอดีต วันนี้การเมืองสหรัฐแบ่งเป็น 2 ขั้ว

กรณีจึงต่างกับอดีตเป็นอันมาก

สุภาพบุรุษแบบ “อัล กอร์” ก็ไม่มีอีกแล้ว

การเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ว่าผู้สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ว่าผู้นิยมโจ ไบเดน

ล้วนถือว่า เป็นการแข่งขันเกี่ยวกับชะตาชีวิตของตนและประเทศโดยรวม

กรณีเสมือนเป็นสงครามอันเกี่ยวกับความเป็นความตาย จึงรู้แต่ชนะ ไม่รู้จ้กแพ้

ดังนั้น คงไม่มีฝ่ายใดยอมแพ้อย่างง่ายดายเหมือนกับ “อัล กอร์”

สังคมกังวลว่า ทรัมป์มิเพียงไม่ยอมแพ้ ยังอาจฟ้องคดี ตลอดจนปลุกระดมให้ฝ่ายขวาและผู้สนับสนุนอันเป็นแฟนพันธุ์แท้ใช้กำลังเข้าปะทะกัน

ทว่า รัฐธรรมนูญสหรัฐบัญญัติไว้อันเกี่ยวกับการปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นวันที่ 20 เดือนมกราคม ถ้าการนับคะแนนเกิดเป็นคดีฟ้องร้องกัน อาจมีปัญหาเรื่องเวลา

กรณีย่อมเป็นการย้อนแย้งกับรัฐธรรมนูญ

การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้จึงเป็นการทดสอบระบบประชาธิปไตยแบบอเมริกัน

และน่าจะเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในรอบร้อยปี

จากกำหนดการเลือกตั้ง วันที่ 14 เดือนธันวาคม คณะผู้เลือกตั้งจะต้องทำการเลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี

หากการฟ้องร้องคดี ปรากฏว่าโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นฝ่ายชนะ ผู้สนับสนุนโจ ไบเดน คงต้องกล่าวหาว่าศาลสูงเข้าข้างพรรครีพับลิกัน

หากการต่อสู้คดียังไม่สิ้นสุด และต้องลากยาวอันเนื่องจากความขัดแย้งการนับบัตร ก็จะกลายเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรและอาจต้องมีวุฒิสภาร่วมด้วย เพื่อทำการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี

สภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมาก ส่วนวุฒิสภาครองเสียงข้างมากโดยพรรครีพับลิกัน

หากโจ ไบเดน ได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นประธานาธิบดี

โดนัลด์ ทรัมป์ และผู้สนับสนุนก็ต้องไม่ยอม

ถ้าสมมุติว่า ความขัดแย้งในการนับคะแนนยังไม่สิ้นสุด และยืดเยื้อไปถึงวันที่ 20 มกราคม ซึ่งเป็นวันปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี

ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย “แนนซี เพโลซี” ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ก็ต้องเข้านั่งทำเนียบขาว

ยิ่งเป็นเรื่องที่พรรครีพับลิกันรับไม่ได้

เมื่อปี 1876 ครั้งที่เกิดวิฤตรัฐธรรมนูญ เหตุเกิดเพียงเพราะ 20 คะแนนจากคณะผู้เลือกตั้ง จนกลายเป็นความขัดแย้งรุนแรง ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตามระบบแห่งกฎหมาย

ในที่สุด ทั้ง 2 พรรคจึงได้บรรลุข้อตกลงด้วยการทำธุรกิจทางการเมือง

เพื่อคลายวิกฤตแบบเสียไม่ได้

การเลือกตั้งครั้งนี้ จะย้ำรอยประวัติศาสตร์หรือไม่ ยังเร็วเกินที่จะอนุมาน

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับสัจธรรม 1 ว่า สถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจ

ขนาดรัฐมนตรีการะทรวงยุติธรรมสมัยรัฐบาลบุช ได้ออกมาเตือน

ขนาดรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมรัฐบาลสมัยโอบามา ก็ออกมาเตือนเช่นกัน

ล้วนเตือนว่า ทั้งทรัมป์ ทั้งไบเดน ต้องละเว้นความคิด ต้องชนะ แพ้มิได้

โดยเฉพาะการปลุกระดมให้ปะทะกันยิ่งทำมิได้

จะกระทำการใดนอกระบบเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเมืองมิได้

แม้ความคิดของ 2 คนมีความต่าง แต่เป้าหมายเดียวกัน คือเน้นการประนีประนอม สามัคคีกลมเกลียวกัน และขอให้ทั้ง 2 ฝ่ายคิดถึงอนาคตของประเทศเป็นหลัก

ถ้าหากทั้งทรัมป์และไบเดน ไม่เชื่อคำเตือน และเดินหน้าต่อเพื่อหวังผลทางการเมือง

ความเสื่อมมาเยือน

คอนเฟิร์ม

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image