ที่เห็นและเป็นไป : ไม่มีทางที่ออกได้

ที่เห็นและเป็นไป : ไม่มีทางที่ออกได้ “มันจะจบอย่างไร” เป็นคำถามที่เกิดขึ้น

ที่เห็นและเป็นไป : ไม่มีทางที่ออกได้

“มันจะจบอย่างไร” เป็นคำถามที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่จนถึงวันนี้ทางออกของการเมืองไทยยังหาคำตอบที่ชัดเจนไม่ได้

ความเป็นไปของสถานการณ์ ก่อความวิตกกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าจะหนีไม่พ้นต้องเกิดการปะทะกันรุนแรง และเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะสร้างความเสียหายใหญ่หลวง

จะนำพาประเทศสู่สภาวะประชาชนอยู่ร่วมกันไม่ได้ ซึ่งนั่นหมายถึงหายนะ

Advertisement

ทุกฝ่ายพยายามเสนอทางออก แต่ดูเหมือนไม่มีทางไหนที่ได้รับการยอมรับ

นักการเมืองค้านประสานเป็นเสียงเดียวกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออกก่อนเท่านั้น จึงจะเดินหน้าผ่าทางตันต่อไปได้

แต่เมื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” ถามว่า “ผมผิดอะไร” และประกาศว่า “ผมไม่ออก” ก็ไม่มีใครทำอะไรได้

Advertisement

รัฐบาลอยู่ต่อไปโดยบอกให้ทุกคนเคารพกฎหมาย โดยไม่ฟังว่าฝ่ายต่อต้านพยายามบอกว่า “กฎหมายและการบังคับใช้ไม่มีความเป็นธรรม” หรือถึงขั้นเห็นว่า “กลไกรัฐ” ละเลยที่จะทำตาม “ตัวบทของกฎหมาย” เอาแต่ขอความเห็นใจว่า “ต้องทำตามหน้าที่” ทั้งที่การกระทำนั้นเป็นแค่ตาม “คำสั่งผู้บังคับบัญชา” โดยไม่สนใจว่า “การตีความองค์ประกอบที่ถูกต้องของกฎหมายควรจะเป็นอย่างไร”

นักการเมืองต่างฝ่ายต่างชี้ทางออกตามความคิดของตัวเอง โดยไม่สนใจว่าอีกฝ่ายจะยอมรับหรือไม่

ทางออกที่มีความพยายามกันล่าสุดคือตั้ง “คณะกรรมการสมานฉันท์” เพื่อนำความขัดแย้งมาสู่การพูดคุย

แต่ยังไม่เริ่มก็ถูกปฏิเสธอย่างแข็งกร้าวเสียแล้ว

สถาบันพระปกเกล้าซึ่งได้รับมอบหมายให้คิดรูปแบบของคณะกรรมการสมานฉันท์ ได้เสนอแนวทางสร้าง “เสาหลัก” ขึ้นมาด้วยความหวังว่าจะได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย เมื่อไม่มีใครคนใดคนหนึ่งที่จะทำหน้าที่ “เสาหลัก” ได้

รูปของ “คณะบุคคลที่น่าจะได้รับความเชื่อถือที่สุด” คือ “คณะของผู้ที่เคยเป็นผู้นำประเทศ”

นายชวน หลีกภัย ในฐานะประธานรัฐสภา นำแนวคิดของ “สถาบันพระปกเกล้า” มาดำเนินการ ด้วยการติดต่อ นายอานันท์ ปันยารชุน, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ไปถึง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร

มาร่วมปรึกษาหารือวิธีการนำพาประเทศออกจากวิกฤตของความขัดแย้ง

แต่ยังไม่ทันขยับว่าจะทำงานกันอย่างไร กระทั่งยังไม่ได้เชิญครบคน เสียงปฏิเสธก็ดังให้ขรมเสียแล้ว

ที่สำคัญและไม่คาดคิด เสียงของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน และ นายสิระ เจนจาคะ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นตัวเล่นหน้าฉากของผู้มีอำนาจในปัจจุบัน

ผู้มีอำนาจในรัฐบาลเล่นเกมอย่างไร จะเดินหมากแบบไหน เป็นที่รู้กันว่าให้ดูแนวทางที่นายไพบูลย์และนายสิระแสดงออก

เที่ยวนี้ “คณะอดีตนายกรัฐมนตรี” ถูกถล่มรุนแรง ในระดับที่ “นายชวน” ต้องออกมาปรามไม่ให้ก้าวร้าวกันขนาดนั้น

ขณะเดียวกัน “กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่” แถลงชัดเจนว่า “ไม่ร่วมสมานฉันท์”

ต่างเห็นว่า “แค่ซื้อเวลาไปแบบเสียเปล่า”

ขณะที่สถานการณ์นำมาสู่สภาวะตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ

ในประเทศ การขับเคลื่อนมวลชนมีแนวโน้มจะเข้มข้นขึ้นทั้ง 2 ฝ่าย

ท่าทีพร้อมเผชิญหน้าเกิดขึ้นทั่วประเทศ

ในต่างประเทศการสร้างเครือข่ายแนวร่วม เพื่อทำลายกันและกันให้สายตาชาวโลกขยายตัวอย่างกว้างขวาง ซ้ำยังมีการเปิดประเด็นให้ความขัดแย้งของคนไทยด้วยกัน ลามไปสู่การแทรกแซงจากต่างประเทศ ทำให้ประเทศเป็นสนามการเมืองระหว่างประเทศ

ทั้งที่รู้ว่าจะปล่อยประเทศไว้เช่นนี้ไม่ได้

แต่ทุกทางออกดูจะเป็นปัญหาไปหมด

“นายกฯลาออก” ไม่เพียงคนที่ต้องตัดสินใจคือ “พล.อ.ประยุทธ์” จะถามว่า “ผมผิดอะไร” เท่านั้น ยังบอกให้ “ต้องมีคนที่ซื่อสัตย์เท่าผม” ด้วย

“ยุบสภา” ไม่มีประโยชน์เลย หากจะนำสู่การเลือกตั้งที่โดยยังไม่ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเกิดการต่อต้านวุ่นวายเสียมากกว่า

“รัฐประหาร” แม้จะฟังดูง่าย แต่หากเกิดขึ้นจะไม่เหมือนกับที่เคยทำได้ง่ายๆ ก่อนหน้านั้น มีความเสี่ยงสูงที่เป็นชนวนแตกหักที่เริ่มต้นความรุนแรง

“มันจะจบอย่างไร”

ไม่มีใครตอบได้ แม้แค่จะถามว่า “อะไรดีที่สุด”

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความสิ้นหวัง หมดหนทางนั้น เสียงของหลายคนเริ่มพูดถึง และเหลียวหน้าส่งสายตาฝากความหวังไว้ให้

“ตุลาการภิวัฒน์” อีกครั้ง

“ตุลาการภิวัฒน์” ที่ทำให้กฎหมายเป็นเครื่องมือของ “ความเป็นธรรม”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image