ตัดอำนาจวุฒิเลือกนายกฯ จบ ยุบสภา คืนอำนาจประชาชน

ทั้งๆ ที่มีทางเลือกที่จะทำให้สถานการณ์ตึงเครียดคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นนั่นคือ ก้าวออกมาประกาศจุดยืนสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตัดอำนาจวุฒิสมาชิกในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีออกไป

แต่กลับปรากฏว่า 47 วุฒิสมาชิก กับ 25 ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ร่วมลงชื่อยื่นญัตติต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อขอความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขัดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือไม่

ไม่น่าแปลกใจ แต่น่าสะอิดสะเอียดมากกว่า ทั้งๆ ที่พรรคพลังประชารัฐแกนนำรัฐบาลเป็นเจ้าของญัตติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยตั้ง ส.ส.ร.แต่ ส.ส.ที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนญัตติกลับเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญเสียเอง

หากข้องใจสงสัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยตั้ง ส.ส.ร.อาจขัดหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เหตุใดถึงไม่เคลียร์ประเด็นนี้กันเสียก่อน ถ้าเห็นว่าขัดก็ไม่ต้องลงชื่อ ถ้าเห็นว่าไม่ขัดก็ลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาต่อไป

Advertisement

เมื่อพากันลงชื่อเป็นส่วนใหญ่จนกระทั่งเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา แต่ไม่ลงมติในทันที กลับให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษา 30 วันก่อนรับหลักการ จะเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาอีกครั้งวันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้ 25 ส.ส.กลับมาเสนอขอให้รัฐสภาส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญภายหลัง

เล่นการเมืองด้วยวิธีการอย่างนี้ จะไม่ให้ผู้คนตำหนิติเตียนว่า ตระบัดสัตย์ หน้าไหว้หลังหลอก ไม่จริงใจ เล่มเกมยื้อ ไปได้อย่างไร

พฤติการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้สถานการณ์ความขัดแย้งยิ่งบานปลายต่อไปอีกหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับมติของที่ประชุมรัฐสภาจะให้ความเห็นชอบกับการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

ทั้งๆ ที่นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเขียนไว้ชัด ทั้งๆ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพิ่งแสดงท่าทีล่าสุด ไม่ขัดข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้ประเด็นตัดอำนาจ ส.ว.ในการให้ความเห็นชอบตัวนายกรัฐมนตรีก็ตาม แต่ ส.ส.พรรคแกนนำรัฐบาลกลับเอาตีนราน้ำเสียอย่างนั้น ผลการลงมติจะปรากฏออกมาอย่างไรจึงน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง

ด่านแรก หากที่ประชุมรัฐสภาไม่เห็นชอบกับญัตติเสนอศาลรัฐธรรมนูญก็จบ ยกเว้นมีบางคนตีรวนต่อไป แต่หากมีมติเห็นชอบก็ยื่นศาลรัฐธรรมนูญต่อไปตามกระบวนการ

ด่านต่อมา การประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติจะให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งของพรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้านและฉบับพลเมืองลงชื่อเสนอร่วมกัน รวม 7 ฉบับ หรือไม่

ผลจะออกมาอย่างไรก็ตาม ล้วนส่งผลต่อความร้อนแรงของสถานการณ์ทั้งสิ้น เพราะข้อเรียกร้องของพันธมิตร นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ในนามต่างๆ หลายกลุ่ม ยืนยันให้ พล.อ.ประยุทธ์เสียสละลาออกจากตำแหน่งเป็นข้อแรก ขณะที่การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่เป็นข้อเรียกร้องเดิมยังเดินหน้าต่อไป

กระบวนการแก้ไขหรือยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องใช้เวลาอีกนานนับปี ต้องผ่านการลงประชามติเป็นขั้นตอนสุดท้าย

ทางออกของ พล.อ.ประยุทธ์ หากยืนกรานไม่ออกและเพื่อป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งบานปลายหนักจนกระทั่งเกิดความรุนแรง ถึงขณะนี้จึงมีแต่เร่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตรา 272 ตัดอำนาจวุฒิในการเห็นชอบแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีออก ให้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาโดยเร็ว จากนั้นยุบสภาคืนอำนาจการตัดสินใจกลับไปให้ประชาชน

พล.อ.ประยุทธ์จะประกาศผมพอแล้ว หรือขอโอกาสกลับมาใหม่อีกไม่นาน จะสำเร็จหรือไม่ ประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นผู้ตัดสิน

ส่วนบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมไม่เห็นด้วยและไม่พอใจแน่นอน เพราะส่วนใหญ่ไม่อยากตกงาน ขณะที่ ส.ว.ยังตีขิมอยู่ได้ต่อไป

คงไม่ต้องถามให้มากความว่าสภาผิดอะไร ทำนองเดียวกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ถามแล้วถามอีกก่อนหน้านี้ ผมผิดอะไร

ผิดหรือไม่ผิด สุดแท้แต่มุมมองของแต่ละฝ่ายซึ่งเห็นต่างกัน แต่เป็นเรื่องของสถานการณ์ที่จะต้องมีทางออก ไม่ให้จบลงด้วยการเข่นฆ่าระหว่างคนไทยด้วยกัน หรือกระสุนปืนจากกองทัพ

หลังจาก พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก แสดงท่าทีล่าสุดบอกว่า การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง แต่ความเป็นจริงในสนามการเมือง สนามอำนาจ ไม่ยอมจบ ไม่ยอมเสียสละด้วยวิถีทางทางการเมืองนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image