ที่เห็นและเป็นไป : ต้องเชื่อก่อนว่า‘เด็กไม่โง่’ โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

สัปดาห์นี้ “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ” จะกลับเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

หากติดตามการเมืองมาต่อเนื่องจะพบว่าต้นเหตุของความขัดแย้งทางการเมืองจนเกิดความหวาดวิตกไปทั่วว่าจะเกิดความรุนแรงจนนำไปสู่ความสูญเสียอันน่าเศร้า ก็คือ “รัฐธรรมนูญ 2560” ฉบับนี้

ในความคิดของ “เยาวชนคนรุ่นใหม่” รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความน่ารังเกียจอย่างยิ่ง

เริ่มจากเขียนขึ้นมาด้วยความคิดว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความไม่พร้อม หรือจะพูดให้ตรงๆ คือ “โง่” จนต้องจำกัดการให้มีสิทธิในอำนาจที่เท่าเทียมตามหลักการประชาธิปไตยสากล ต้องให้คนกลุ่มหนึ่งที่สถาปนาตัวเองเป็น “คนดี” มีอำนาจมากกว่า

Advertisement

แล้วร่างขึ้นมาให้มีการลดบทบาทพรรคการเมือง และนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง โดยซ่อนเร้นเจตนาไว้ในบทบัญญัติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น “บัตรเลือกตั้งใบเดียว เลือกทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ” ทำให้พรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.เขตมากถูกตัดสิทธิไม่ให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทำให้ไม่มีพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งชนะเลือกตั้งแบบเด็ดขาด เพื่อเปิดทางให้มาช่วงชิงการรวบรวม ส.ส.เพื่อแข่งกันตั้งรัฐบาลผสม

โดยมี “ส.ว.” ที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด เป็น “ตัวล็อก” ให้พรรคการเมืองที่ต้องการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล หมดสิทธิเลือกที่จะผสมกับพรรคอื่น เพราะคนที่มีโอกาสเป็น “นายกรัฐมนตรี” นั้น ถูกล็อกไว้ที่ “คนแต่งตั้ง ส.ว.” เท่านั้น

เป็นกฎหมายสูงสุดที่เปิดประตูชนะให้ผู้ที่ต้องการสืบทอดอำนาจแบบถ่างกว้าง ขณะที่พรรคการเมืองที่เป็นคู่แข่งมีแต่ประตูพ่ายแพ้เท่านั้นที่เดินได้

Advertisement

ตามด้วยองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่จัดการให้เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความติดขัดของการขึ้นสู่อำนาจ พร้อมกับอำนวยให้เกิดความมั่นคง ยั่งยืนในการอยู่ในอำนาจอย่างมีประสิทธิภาพ

สามารถไล่ล้างทุกสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อเสถียรภาพได้อย่างไม่ต้องกังวล

เสถียรภาพที่แข็งแกร่งนั้นเป็นเรื่องดี หากรัฐบาลใช้เพื่อสร้างผลงานให้เป็นประโยชน์กับประชาชนอยู่ดีมีสุข และประเทศชาติพัฒนาไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้

แต่ในทางกลับกัน “เสถียรภาพ” จะเป็นโทษมหันต์หากเป็นเครื่องมือรักษารัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพ พิสูจน์แล้วว่าไม่มีความรู้ความสามารถในการบริหาร ทำให้ประเทศเกิดความเลวร้ายในทุกๆ ด้าน

ประเทศที่ถูกนำพาดำดิ่งสู่อนาคตที่ไร้ความหวัง แต่ถูกล็อกความเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงด้วย “เสถียรภาพอันมั่นคงของรัฐบาล” โดยรัฐธรรมนูญ

“เยาวชนคนรุ่นใหม่” ที่ต้องการสร้างความหวังให้กับอนาคตของพวกเขาจึงออกมาเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลง

ซึ่งแน่นอนต้องเริ่มตรง “รัฐธรรมนูญ” ที่พวกเขาเชื่อว่า “ไม่เป็นธรรมนั้น”

แต่ก็นั่นแหละ เมื่อการเมืองของ “นักการเมือง” ไม่ว่าจะมาจาก “การแต่งตั้ง” หรือ “เลือกตั้ง” หัวใจอยู่ที่การช่วงชิงอำนาจ ฝ่ายที่ได้ประโยชน์จาก “รัฐธรรมนูญ” ย่อมต้องดิ้นรนสุดฤทธิ์ที่จะรักษารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้ เพื่อความได้เปรียบดังกล่าว

รัฐธรรมนูญที่แก้ไขได้ยากเย็น และกลไกรัฐสภาถูกออกแบบไว้ให้อยู่ในอำนาจควบคุมของฝ่ายที่ได้เปรียบ

การใช้พลังมวลชนเพื่อกดดันนอกรัฐสภาจึงเกิดขึ้น

และเสียงเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนถูกปฏิเสธ การกดดันจึงกระจายไปสู่สิ่งอื่นที่เห็นว่าเป็นเงื่อนไขให้เป็นข้ออ้างใช้อำนาจขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ด้วยดังกล่าว หากถามว่า “ความวุ่นวายทางการเมืองคล้ายจะไร้ทางออกนี้ จะแก้ไขอย่างไร”

คำตอบที่ดีที่สุดคือ “กลับมาที่ต้นเหตุ” คือ “รัฐธรรมนูญ”

การแก้ไขให้กลับมาเป็น “รัฐธรรมนูญที่เป็นธรรม” ยืนอยู่ในหลักการ “เคารพสิทธิที่เท่าเทียมกันของทุกคน” เท่านั้น จึงจะเป็นทางออกที่ดีและง่ายที่สุด

ดังนั้น การประชุมสภาในสัปดาห์นี้ ต้องเริ่มจาก “นักการเมือง” ทุกคน ทุกฝ่าย ต้องเชื่อก่อนว่า “เยาวชนรุ่นใหม่ไม่ได้โง่”

ต้องเชื่อว่า “เด็กๆ” ตามทันความคิดอันฉ้อฉลที่จะหาเหตุผลข้ออ้างมาบิดพลิ้วเจตนารมณ์ที่ควรจะเป็นของรัฐธรรมนูญ

อย่าทำให้ “ลูกๆ หลานๆ” ต้องอยู่ร่วมกับ “ลุงป้า น้าอา ปู่ย่า ตายาย” ด้วยความรู้สึกสลดหดหู่กับการมองไม่เห็นอนาคต เพราะความเห็นแก่ตัวที่จะต้องอยู่ด้วย “ความได้เปรียบจากกติกาที่ไม่เป็นธรรม” เลย

การประชุมในวาระนี้ จะพิสูจน์ว่า “รัฐสภา” เป็นที่พึ่งช่วยคลี่คลายความขัดแย้ง หรือยิ่งใส่ฟืนโหมไฟให้อยู่ร่วมกันไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image