สถานีคิดเลขที่ 12 : ลุ้นโหวตแก้ รธน.

สถานีคิดเลขที่ 12 : ลุ้นโหวตแก้ รธน. แล้วก็มาถึงวันนี้ วันที่ 17 พฤศจิกายน

สถานีคิดเลขที่ 12 : ลุ้นโหวตแก้ รธน.

แล้วก็มาถึงวันนี้ วันที่ 17 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นการพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง

จากเดิมที่มี 6 ญัตติเมื่อรวมกับญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไอลอว์รวบรวมรายชื่อประชาชนได้แสนกว่าคนเข้าไปอีก

รัฐสภาจึงรวมพิจารณา 7 ญัตติ ประกอบด้วย

Advertisement

1.ญัตติของพรรคร่วมรัฐบาลที่เสนอแก้ไข ม.256 ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยมาจากการเลือกตั้ง 150 คน มาจากการแต่งตั้ง 50 คน กำหนดการแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใน 240 วัน

2.ญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้าน เสนอแก้ไข ม.256 เหมือนกัน แต่เลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งหมด 200 คน กำหนดแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใน 120 วัน

3.ญัตติของพรรคเพื่อไทย 4 ญัตติ
ได้แก่ ญัตติแก้ไข มาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และแก้ไขมาตรา 159 ปิดทางเลือกนายกฯ ญัตติแก้ไขมาตรา 270 และมาตรา 271 ตัดอำนาจ ส.ว.ติดตามการปฏิรูป

Advertisement

ญัตติแก้ไขมาตรา 279 ยกเลิกการรับรองความชอบด้วยกฎหมายของประกาศ คำสั่ง และกระทำโดย คสช. และญัตติแก้ไขระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว โดยให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง2 ใบ คือ เลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 ใบ และเลือก ส.ส.เขต 1 ใบ แบบรัฐธรรมนูญ 2540

4.ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ไอลอว์ เสนอให้แก้ไขมาตรา 256 เลือกตั้ง ส.ส.ร. เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

ฉบับไอลอว์นี่แหละที่มีประชาชนร่วมลงชื่อแสนกว่าคน

มีสาระสำคัญ เช่น ไม่เอานายกฯคนนอก ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ยกเลิกแผนปฏิรูปประเทศ ยกเลิกการนิรโทษกรรม คสช. เป็นต้น

ในบรรดาญัตติทั้งหมด 6 ญัตติแรกรัฐสภาเคยมีการประชุมกันมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อสมัยประชุมที่แล้ว

ขณะที่กำลังจะโหวตก็มีเรื่องพลิกล็อก เมื่อจู่ๆ วิปรัฐบาลเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาอีกครั้ง

ญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แทนที่จะเป็นน้ำกลับกลายเป็นน้ำมันที่ราดเข้าไปในกองเพลิงทันที

มาคราวนี้ รัฐสภามีกำหนดพิจารณาใหม่ โดยกำหนดการประชุมวันที่ 17-18 พฤศจิกายน

และมีม็อบที่ประกาศรวมพลกันมารอฟังการพิจารณาถึงรัฐสภา

ประเด็นที่จับตาคือ เสียงของพรรคพลังประชารัฐ และเสียงของสมาชิกวุฒิสภา

อีกประเด็นที่จับตาคือ เสียงโหวตญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญจากไอลอว์

ทั้ง 2 ประเด็นไม่ได้เป็นเพียงแค่การผ่านหรือไม่ผ่านกฎหมาย

หากแต่ยังเป็นสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับสายตาของรัฐสภาที่มองประชาชน

มองร่างกฎหมายที่มาจากประชาชน

มองร่างกฎหมายที่ยอมคืนอำนาจให้ประชาชน

แน่นอน เมื่อคืนอำนาจให้ประชาชน ย่อมต้องมีกลุ่มสูญเสียอำนาจ

วุฒิสภาย่อมสูญเสียอำนาจ คสช.ก็ต้องสูญเสียประโยชน์

และที่สำคัญที่สุด คือ ร่างกฎหมายดังกล่าวเปิดทางให้เอาผิด คสช.

ดังนั้น ผลการลงมติวันที่ 18 พฤศจิกายน จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตาม

ผลโหวตจะสุดโต่ง หรือลงท้ายที่ประนีประนอม

นฤตย์ เสกธีระ
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image