แนวรบการเมือง ทิศทาง‘รัฐธรรมนูญ’ อนาคตประเทศ

แนวรบการเมือง ทิศทาง‘รัฐธรรมนูญ’ อนาคตประเทศ

แนวรบการเมือง ทิศทาง‘รัฐธรรมนูญ’ อนาคตประเทศ

เป้าหมายของ “ราษฎร” ที่ประกาศชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภา กับ เป้าหมายของ “ไทยภักดี” ที่ประกาศชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภา

ต่างกัน

“ไทยภักดี” แสดงความภักดีต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ไม่ต้องการให้มีการแก้ไข เปลี่ยนแปลง เพราะคิดว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นคุณ

Advertisement

นี่ย่อมเป็นจุดยืนเดียวกันกับ “พรรครวมพลังประชาชาติไทย”

นี่ย่อมเป็นจุดยืนเดียวกันกับกระแสหลักอันมาจากรัฐบาล อันมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ผ่าน 250 ส.ว. ผ่านพรรคพลังประชารัฐ

Advertisement

เมื่อด้านหลักดำรงอยู่อย่างนี้แล้วคำประกาศของ “ราษฎร” ที่จะมากินหมูกระทะกันหน้าบริเวณรัฐสภาในวันที่ 17 และวันที่ 18 พฤศจิกายน จะมีประโยชน์อะไร

นี่คือ “ไต๋” อันกลบเอาไว้ของ “ราษฎร”

แรกที่ออกโรงเคลื่อนไหวในนามของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อเดือนกรกฎาคม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทำไมพวกเขาจะไม่รู้ว่ากำแพงที่ขวางอยู่หนักหนาสาหัส

ไม่เพียงเป็นกำแพงที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หากแต่ยังเป็นกำแพงที่หมกเอาไว้ภายในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 นั่นก็คือไม่เพียงแต่เป็นรัฐธรรมนูญเพื่อการสืบทอดอำนาจ

ที่สำคัญ คือเป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ยาก

ลำพังรัฐธรรมนูญเปิดทางให้ คสช.โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถจัดตั้ง 250 ส.ว.อันเท่ากับเป็นพรรคการเมืองส่วนตัว

ก็เหลือกิน เหลือใช้อย่างยิ่งอยู่แล้ว

นี่รัฐธรรมนูญยังสามารถใช้ “อภินิหาร”เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมืองผ่านพรรคพลังประชารัฐเข้ามาอีก

เท่ากับเป็นผนังทองแดง กำแพงเหล็ก

อย่าลืมเป็นอันขาดว่า “เยาวชนปลดแอก” เมื่อเดือนกรกฎาคมได้มีการยกระดับกระทั่งพัฒนามาเป็น “คณะราษฎร 2563” เมื่อเดือนตุลาคม

มิได้สะสมความจัดเจนเฉพาะแต่ในปี 2563

ตรงกันข้าม เป็นความจัดเจนจากเดือนมิถุนายน 2475 เป็นความจัดเจนจากเดือนตุลาคม 2516 และ 2519 เป็นความจัดเจนจากเดือนพฤษภาคม 2553

การล้อม “รัฐสภา” ครั้งนี้จึงรัดกุม

เป้าหมายอย่างแท้จริงมิได้อยู่ที่ 250 ส.ว. มิได้อยู่ที่พรรคพลังประชารัฐ หากแต่อยู่ที่พรรคร่วมรัฐบาลอย่างน้อยก็ 3 พรรคการเมือง

พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา

นี่คือการใช้พลังมวลชน 1 เปิดโปงโจมตี 250 ส.ว. เปิดโปงโจมตี พรรคพลังประชารัฐ และ 1 แยกสลายพรรคร่วมรัฐบาลให้แยกและแตกตัว

จะเลือก “เผด็จการ” หรือเลือก “ราษฎร”

สมรภูมิการต่อสู้ผ่านที่ประชุมรัฐสภาไม่ว่าในวันอังคารที่ 17 ไม่ว่าในวันพุธที่ 18 พฤศจิกายน จึงมีบทบาทและทรงความหมายในทางการเมือง

ณ เบื้องหน้า “ราษฎร”

มติที่ออกมาจึงเป็นมติที่ไม่เพียงแต่จะชี้ถึงทิศทางในอนาคตของ “รัฐบาล” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะดำเนินไปอย่างไร

หากแต่ยังชี้อนาคต “ประเทศไทย” อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image