คว่ำ รธน.ฉบับประชาชน… ผลประโยชน์ทับซ้อน

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาวันที่ 17-18 พฤศจิกายน ที่ผ่านมารวม 7 ฉบับ หลักการสำคัญเป็นอย่างไรต้องบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ ดังนี้
ฉบับแรก พรรคร่วมรัฐบาลเสนอ แก้ไขมาตรา 256 ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ มาจากการเลือกตั้ง 150 คน แต่งตั้ง 50 คน แก้ไขภายใน 240 วัน

ฉบับที่สอง พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอ แก้ไขมาตรา 256 ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ มาจากการเลือกตั้ง 200 คน แก้ไขภายใน 120 วัน

ฉบับที่สาม พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอ แก้ไขมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และแก้ไขมาตรา 159 ปิดทางเลือกนายกรัฐมนตรี

ฉบับที่สี่ พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอ แก้ไขมาตรา 270 และมาตรา 271 ตัดอำนาจ ส.ว.ติดตามการปฏิรูป

Advertisement

ฉบับที่ห้า พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอ แก้ไขมาตรา 279 ยกเลิกการรับรองความชอบด้วยกฎหมายของประกาศคำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ฉบับที่หก พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอ แก้ไขระบบเลือกตั้งจากบัตรเลือกตั้งใบเดียว กลับไปใช้ 2 ใบ แยกกันระหว่างระบบ ส.ส.บัญชีรายชื่อและ ส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้ง แบบรัฐธรรมนูญ 2540

ฉบับที่เจ็ด โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน เสนอแก้ไขมาตรา 256 ตั้ง ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง ร่างใหม่ทั้งฉบับ ยกเลิกช่องทางนายกฯคนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยกเลิกแผนปฏิรูปประเทศ ยกเลิกที่มาของผู้บริหารท้องถิ่นแบบพิเศษที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ยกเลิกการนิรโทษกรรม คสช. แก้ไขที่มานายกฯ ยกเลิกบัญชีว่าที่นายกฯและให้นายกฯต้องเป็น ส.ส. แก้ไขที่มาของ ส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้ง ลดอำนาจพิเศษ ส.ว.

Advertisement

ขณะผมเรียบเรียงวรรณกรรมรีบเร่ง การพิจารณาเพิ่งเริ่มขึ้น จึงยังไม่รู้ผลว่าฉบับไหนผ่าน ฉบับไหนตกไป และวุฒิสมาชิกทั้ง 250 คน ใครตัดสินใจอย่างไร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉบับประชาชนซึ่งมีหลักการที่กว้างขวางและก้าวหน้าที่สุด ที่สำคัญเป็นข้อเรียกร้องประการหนึ่งของภาคีคณะราษฎร 2563 ซึ่งจะมีผลต่อความร้อนแรงของสถานการณ์

ถ้าผ่านการพิจารณานำไปสู่การปรับปรุงสิ่งที่ควรคงไว้และที่ควรตัดไปร่วมกันได้ แรงกดดันคงลดลง แต่หากถูกคว่ำทิ้งทั้งฉบับเหตุการณ์ประท้วงเรียกร้องกดดันคงดำเนินต่อไป

หลักการที่ทำให้ร่างฉบับประชาชนถูกวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านโดยสรุปก็คือ เลยเถิด ไปไกลเกินกว่าที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจในรัฐสภาจะรับได้ ขณะที่คณะผู้เสนอเห็นตรงข้าม กลับจะทำให้ความเป็นประชาธิปไตยของสังคมก้าวไปข้างหน้า สอดคล้องกับยุคสมัยของคนหนุ่ม คนสาว ผู้เป็นอนาคตของประเทศ

ป ระเด็นที่น่าพิจารณาก็คือ หลักการสำคัญให้ ส.ว.ชุดปัจจุบัน 250 คนพ้นตำแหน่งทันทีและเลือกตั้ง ส.ว.ชุดใหม่ขึ้นมาแทนที่ 200 คน ตามรัฐธรรมนูญ 2540 คณะผู้ร่วมพิจารณาลงมติก็คือ ส.ว. 250 คน นั่นเท่ากับผู้ตัดสินใจมีผลประโยชน์ทับซ้อน มีส่วนได้เสียโดยตรง จึงเป็นไปได้ยากที่จะรับหลักการง่ายๆ เพราะนั่นเท่ากับต้องสูญเสียสถานภาพปัจจุบัน เก็บของกลับบ้าน ทั้งๆ ที่ยังเหลือเวลาอีก 3 ปีกว่า

วุฒิสมาชิก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จะหักล้างหลักการใหญ่ ประเด็นปิดสวิตช์ ส.ว.ของภาคประชาชนว่าอย่างไร

ร่างฉบับนี้ผ่านการลงชื่อสนับสนุนของประชาชนนับแสนคน การตัดสินใจคว่ำทิ้งตั้งแต่วาระแรกทันที เท่ากับเสียงของประชาชนไร้ความหมาย

ขณะที่สมาชิกวุฒิสภาต่างอ้างความชอบธรรมในการทำหน้าที่ว่า ทุกคนมาจากรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งผ่านการรับรองจากการลงประชามติของประชาชนกว่า 16 ล้านคน เช่นกัน

ฉะนั้นทางออกที่ควรจะเป็นในการคว่ำทิ้งทั้งฉบับ น่าจะเกิดจาการลงประชามติโดยประชาชนผู้มีสิทธิทั่วประเทศมากกว่า

แต่เมื่อสมาชิกรัฐสภาลงมติไปแล้วดังที่ปรากฏผลออกมา สถานการณ์ต่อจากนี้ไปจะเป็นอย่างไรจึงต้องติดตาม

เพราะต่อจากนี้ ญัตติขอให้ที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมี ส.ส.ร.ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ กำลังจะเข้าสู่การประชุมรัฐสภาต่อไป

หากรัฐสภาไม่อนุมัติให้ยื่นก็จบ หากอนุมัติก็ต้องเกาะติดกันต่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินออกมาอย่างไร และจะกระทบต่อกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ทำให้ล่าช้าออกไปเกินควรหรือไม่

ขณะที่ข้อเรียกร้องสำคัญอีกสองประการ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต้อง
ลาออก และปฏิรูปสถาบัน ยังดำรงอยู่

ระหว่างรอผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญอีกเรื่อง วันที่ 2 ธันวาคม คือ ชี้ขาดความเป็นรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงหรือไม่ จากกรณีอยู่บ้านพักหลวง หลังพ้นจากราชการแล้วกว่า 6 ปี เนื่องจากรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า ห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับผลประโยชน์อื่นใดจากหน่วยราชการทุกกรณี

ภายใต้ปัจจัยต่างๆ ตามลำดับนี้ ความร้อนแรงคงยังไม่จบลงง่ายๆ แต่หากไม่เรียกร้องและใช้ความรุนแรงเป็นหนทางแก้ปัญหา การปรับตัวและอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลาย และความเห็นต่างต่อไป เป็นยุคสมัยที่มิอาจปฏิเสธได้อย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image