สถานีคิดเลขที่ 12 : รางวัล-เกียรติยศ

สถานีคิดเลขที่ 12 : รางวัล-เกียรติยศ เข้าช่วงท้ายปีแบบนี้ องค์กรและสื่อมวลชน

สถานีคิดเลขที่ 12 : รางวัล-เกียรติยศ

เข้าช่วงท้ายปีแบบนี้ องค์กรและสื่อมวลชนเริ่มประมวลสถานการณ์-มอบรางวัล-จัดอันดับเรื่องราว และบุคคลโดดเด่นแห่งปีกันแล้ว

บีบีซี สื่อใหญ่ของอังกฤษ เพิ่งเปิดผลการคัดเลือกผู้หญิงที่มีบทบาทโดดเด่นติดทำเนียบ 100 Women หรือผู้หญิง 100 คนจากทั่วโลก ในฐานะ “ผู้เป็นแรงบันดาลใจ” และ “ทรงอิทธิพล” ประจำปี 2020

บีบีซีไทยรายงานเจาะประวัติผู้หญิง 3 คนของไทยที่มีชื่อติดทำเนียบนี้ด้วย

Advertisement

คนแรก รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักศึกษาธรรมศาสตร์ในฐานะแกนนำการชุมนุมแห่งปี 2563 มีทั้งคนชอบชื่นชม และคนไม่ชอบชิงชัง

การที่บีบีซีคัดเลือกแกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเข้ามาติดทำเนียบนี้ น่าจะทำให้คนไม่ชอบขุ่นเคืองบีบีซีไปด้วย แต่สำหรับคนที่ชอบคงเห็นด้วยว่า บีบีซีเลือกได้อย่างสมเหตุสมผลแล้ว

เมื่อมองในแง่ของการต่อสู้ที่มุ่งมั่น แม้รุ้งถูกจับและถูกดำเนินคดีมากมาย นักศึกษาปี 3 คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ยืนยันว่าต้องการเห็นทุกคนในสังคมมีศักดิ์ศรี และสิทธิในความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน

Advertisement

และเมื่อมองสาวไทยอีก 2 คนที่อยู่ในทำเนียบ 100 Women ของบีบีซี ได้แก่ กชกร วรอาคม สถาปนิกด้านภูมิสถาปัตยกรรมที่มีผลงานช่วยบรรเทาปัญหา และผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และ ซินดี้ สิริยา บิชอพ มิสไทยแลนด์เวิลด์ 1996 และทูตพิเศษของยูเอ็นวีเมน ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคนแรก เป็นผู้หยิบยกประเด็นการแต่งตัวไม่ใช่ข้ออ้างที่จะให้ใครล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้หญิง เป็นแฮชแท็ก #DontTellmeHowToDress ฮือฮาตั้งแต่ปีก่อน

ถือว่าทั้งสามคนโดดเด่นพอกัน แม้จะทำงาน หรือกิจกรรมต่างกัน แต่เป็นแรงบันดาลใจ และทรงอิทธิพล ตรงกับคุณสมบัติที่บีบีซีคัดเลือก

เพียงแต่รุ้งน่าจะเป็นคนที่สร้างปฏิกิริยาในหมู่ผู้รับสารได้มากที่สุด เหมือนกับการชุมนุมของกลุ่มราษฎรที่มีทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้าน

แต่รางวัล หรือการจัดอันดับก็ไม่ใช่เรื่องต้องดีใจ หรือขุ่นใจให้เป็นดราม่า เพราะไม่ได้มีผลไปตลอดกาล

อย่างรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ คณะกรรมการที่เคยมอบรางวัล นายอาบีย์ อาห์เหม็ด นายกรัฐมนตรีเอธิโอเปีย เมื่อปีก่อนจากผลงานยุติความขัดแย้งด้านพรมแดน น่าจะเซ็งไปแล้ว เพราะนายกฯคนเดียวกันนี้สั่งใช้กองกำลังทหารเข้าโจมตีกองกำลังในภูมิภาคทีเกรย์ พื้นที่พิพาทในปีนี้

หรือกรณี นางออง ซาน ซูจี แห่งเมียนมา ถูกครหาเรื่องนิ่งเฉยต่อปัญหาโรฮีนจา จนถูกองค์กรหลายแห่งยึดคืนรางวัล แต่คณะกรรมการโนเบลแถลงยืนยันว่า ยึดไม่ได้ เพราะมอบให้ผลงานในอดีตที่เคยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และเสรีภาพ

กรณีนี้บ่งบอกว่ารางวัล หรือเกียรติยศใดๆ ที่เคยเชิดชูเรื่องในอดีต อาจไม่ได้มีความหมายมากนัก สำหรับปัจจุบัน และอนาคต ไม่ใช่สิ่งถาวรที่ต้องยึดถือไปตลอดกาล

ถ้าคนเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน ความคิด และความศรัทธาก็ย่อมเปลี่ยนไป

ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image