สมเด็จพระญาณวชิโรดม : “เธอจะต้องไปอยู่ กทม.”(3)

พระวิริยังค์เดินธุดงค์กับท่านพระอาจารย์มั่น 2 ต่อ 2 : ระยะใดเล่าจะสำคัญยิ่งยวด และปลื้มใจได้ความรู้ประสบการณ์แห่งความจริงเท่ากับครั้งนี้ไม่มีอีกแล้ว มันเป็นปรากฏการณ์ที่มีความจริงเป็นหลักฐาน เพราะเหตุคือการเดินธุดงค์กับท่านพระอาจารย์มั่น เพียง 2 ต่อ 2 ซึ่งก็มีบุรุษบ๊องๆ อยู่คนเดียวเท่านั้นที่ติดตามไป จะต้องจารึกเป็นประวัติศาสตร์ทางใจอย่างมิมีการเลือนราง ทั้งนี้เพราะความเมตตาปรานีของท่านพระอาจารย์มั่น มีแก่พระวิริยังค์เป็นกรณีพิเศษนั่นเอง เป็นการให้การศึกษากับความจริง แม้พระวิริยังค์จะได้เคยเดินธุดงค์มาแล้วอย่างโชกโชนกับท่านพระอาจารย์กงมาเป็นระยะเวลา 8 ปีก็ตาม แต่นั่นเป็นการฝึกฝนในเบื้องต้นซึ่งมิได้เหมือนกับครั้งนี้ เพราะเป็นการฝึกฝนกับปรมาจารย์ที่เคารพนับถืออย่างสุดยอด

“พ.ศ.2486 เป็นปีที่จะมีการถวายพระราชทานเพลิงของ ‘ท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีลาเถระ’ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของท่านพระอาจารย์มั่น มาแต่เดิมข่าวได้ถูกส่งมาจากจังหวัดอุบลราชธานี โดยแม่ชีพวงว่าให้ท่านขึ้นเครื่องบินไปที่จังหวัดอุบลฯ แม่ชีพวงได้ซื้อตั๋วเครื่องบินถวายแล้ว ขณะนั้นพระวิริยังค์ก็ยังอยู่วัดร้างนี้กับท่านพระอาจารย์มั่นตามปกติ เมื่อได้รับข่าวอย่างนั้นแล้ว ท่านได้บอกกับพระวิริยังค์ว่า ‘จะไปขี่มันเฮ็ดหยังขาเฮามี’ ท่านได้พูดว่าเดินไปก็ได้ เราเคยเดินไปตั้งหลายครั้งแล้ว จึงเป็นที่ทราบกันทั่วไประหว่างพระเถรานุเถระที่มาอยู่เพื่อการศึกษาธรรมกับท่านจำนวนมาก เมื่อทราบว่าท่านพระอาจารย์มั่นจะไปงานพระราชทานเพลิงของท่านพระอาจารย์เสาร์ ก็จัดแจงเพื่อติดตามไปกันหมด จึงต้องเป็นขบวนใหญ่มิใช่ธรรมดาแต่ด้วยเหตุผลอย่างไร? ท่านพระอาจารย์มั่นจึงให้พระวิริยังค์เพียงผู้เดียวติดตามท่านและเป็นการเดินธุดงค์จากบ้านนามนไปถึงพระธาตุพนม เป็นหนทางประมาณ 50 กิโลเมตร ส่วนพระเถรานุเถระทั้งหลายก็ติดตามไปภายหลัง

“ขณะเดินไปนั้นท่านพระอาจารย์มั่นเดินไปข้างหน้า พระวิริยังค์เดินตามข้างหลัง รู้สึกว่าท่านยังแข็งแรงมาก ขณะนั้นท่านอายุประมาน 74 ปี แล้ว ดูการเดินยังกระฉับกระเฉง ในขณะที่พระวิริยังค์ อายุ 23 ปี รู้สึกว่าเป็นการแตกต่างกันมาก ประหนึ่งปู่กับหลานทีเดียว เหนื่อยแล้ว แสงแดดก็กล้ามาก ร้อนจัดเป็นกลางทุ่ง เขาเรียกทุ่งนี้ว่าทุ่งจำปานาแก เป็นทุ่งกว้างมาก ต้องใช้เวลาเดินหลายชั่วโมง ท่านบอกว่าแวะเข้าไปพักที่นี่ก่อน พระวิริยังค์รีบเดินไปก่อน โดยจัดนำเอาอาสนะไปปูถวายให้ท่านนั่งสบาย ถวายน้ำดื่มเรียบร้อยแล้ว ท่านก็พูดว่า “วิริยังค์เหนื่อยบ่’ ‘ไม่เหนื่อยเลยครับ’ พระวิริยังค์ตอบ ‘ดีแล้ว’ ท่านว่า ‘แต่การที่เธอมากับเรานี้มีความรู้สึกอย่างไรบ้าง?’ ‘เป็นโชคชีวิตของกระผมที่สุดแล้วครับ’ พระวิริยังค์ตอบ ‘เวลาเดินธุดงค์เธอตั้งใจอย่างไร?’ ท่านถาม ‘กระผมตั้งสติไว้ทุกระยะเลยครับ เพราะรู้ว่าได้เดินกับท่านที่ทรงคุณธรรม’ ‘เออดี’ ท่านว่า แล้วท่านก็เล่าว่า ทุ่งจำปานาแกนี้เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของคนในละแวกนี้ และนาแถบนี้ไม่ค่อยจะเสียดีทุกๆ ปี แต่ระยะที่พวกเรามา เขาเก็บเกี่ยวกันหมดแล้ว ดูแต่ซังข้าวเป็นไร ซังใหญ่ๆ ทั้งนั้น แสดงว่าข้าวงามมากปีนี้”

“ขณะนั้นพระวิริยังค์ (กล่าวขออภัย) ได้ขออนุญาตเข้าป่าละเมาะเพื่อถ่ายอุจจาระ เมื่อเสร็จกิจแล้วกลับออกมา ทุกๆ ระยะที่พระวิริยังค์เข้าไปถ่ายอุจจาระและกลับ หาได้พ้นสายตาของท่านไม่ เมื่อกลับมานั่งใต้โคนไม้นั้นแล้ว ท่านจึงพูดว่า ‘ทำไมไม่เอาน้ำไปชำระ’ ‘ที่นี่เป็นป่าหาน้ำยากครับผม’ พระวิริยังค์ตอบ ‘นี่แหละถือว่าผิดวินัย’ ท่านพูดและได้พูดต่อไปว่า ‘การรักษาพระวินัยนั้นสำคัญ บุคคลจะมาถือเอาน้อยอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วพากันปฏิบัติหลีกเลี่ยงพระวินัยหาควรไม่’ ‘ในที่นี้เป็นที่ทุรกันดารควรจะได้รับการยกเว้นพระวินัยข้อนี้ครับผม’ พระวิริยังค์ตอบ ‘ทั้งที่ลับและที่แจ้งก็ต้องรักษาพระธรรมวินัย ถ้าผู้ใดมาหาวิธีหลีกเลี่ยงพระธรรมแม้แต่เล็กน้อย ผู้นั้นเชื่อว่าทำลายตนเอง’ ทำเอาพระวิริยังค์เสียวหลังขึ้นมาเลย นี่ก็นับว่าท่านพระอาจารย์มั่น ได้สอนผู้เขียนทุกระยะเลยทีเดียว เหตุเช่นนี้พระวิริยังค์นึกในใจว่า บุญของเราแท้ๆ ที่ได้พระอาจารย์ผู้รับผิดชอบในตัวของเรา แม้แต่ในเวลาถ่ายอุจจาระท่านยังไม่ทอดทิ้ง ยังดูแลตลอดทุกอิริยาบถ ถ้ามีพระอาจารย์อย่างนี้แล้วไม่ได้ดีก็ไม่รู้จะไปได้ดีอย่างไรอีกแล้ว

Advertisement

“การเดินทางธุดงค์ครั้งนี้ ผ่านเข้าอำเภอนาแกก็ไม่มีความหมายแต่อย่างใด แต่ความหมายที่สำคัญที่สุด คือ การเดินไปสองต่อสองกับท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งท่านจะนำความหมายให้แก่พระวิริยังค์ตลอดชีวิต และเมื่อเดินไปท่านก็ถามอะไรหลายอย่าง บางครั้งท่านก็ถามว่า ‘วิริยังค์ ทำไมจึงบวช’ พระวิริยังค์ตอบว่า ‘เพราะภาวนาเห็นทุกข์?’ ‘ใครสอนให้ครั้งแรก?’ ‘ไม่มีใครครับ’ ‘ทำยังไงจึงเป็นสมาธิ?’ ‘เป็นขึ้นมาเองครับผม’ ‘เป็นขึ้นมาได้อย่างไร?’ วันหนึ่งเพื่อนกระผมชวนไปวัดทั้งๆ ที่กระผมไม่อยากไป และวันนี้ท่านพระอาจารย์กงมา เป็นสมภารอยู่ กระผมได้เข้าไปแล้วไม่ทราบขนบธรรมเนียมประเพณี นั่งปนกับผู้หญิง ท่านพระอาจารย์กงมา ได้เรียกให้ผมมานั่งอีกข้างหนึ่งใกล้ๆ ท่าน ขณะนั้นกระผมต้องเหงื่อแตกอึดอัดใจ เพื่อของกระผมอ่านหนังสือไม่ออกจึงไปต่อมนต์ด้วยการกล่าวทีละคำกับท่านพระอาจารย์กงมาต้องอยู่ถึงเที่ยงคืน กระผมกลับบ้านคนเดียวไม่ได้ เพราะกลัว จำเป็นต้องอยู่ อยู่ไปนั่งไปนึกในใจอย่างเดียวว่า ‘ตั้งแต่นี้ต่อไปไม่มาอีกแล้วๆ’ อย่างนี้ไม่ช้าเท่าไร ปรากฏว่าตัวของกระผมหายไปเลยเบาไปหมด ขณะนั้นปรากฏว่ากระผมสั่งตัวกระผมตัวหนึ่งได้เดินออกจากร่างเดิมแล้วเดินลงศาลานั้น ขณะนั้นมองไปรอบทิศ ไม่เห็นใครเลยแม้แต่อาจารย์ คงเห็นแต่ร่างของกระผมนั่งอยู่ เมื่อเดินออกไปที่ลานวัดด้านตะวันออกแล้วไปยืนอยู่ที่นั่น ขณะนั้นมีลมชนิดหนึ่งพัดปลิวเข้ามาสู่หัวใจ รู้สึกเย็นเอาจริงๆ สบายบอกไม่ถูก ขณะนั้นถึงกับอุทานออกมาเองว่า คุณของพระพุทธศาสนามีเพียงนี้เทียวหรือ?”

พระวิริยังค์ได้ถามท่านพระอาจารย์กงมาว่า กระผมเป็นอะไรจึงดีอย่างนี้ และก็เล่าความจริงนั้นถวายท่านพระอาจารย์กงมาถึงตะลึงว่า “เอ เด็กนี่เรายังไม่สอนสมาธิให้เลย ทำไมมันจึงเกิดได้เร็วนัก” ท่านจึงบอกกระผมว่า ดีแล้วเธอ เรายังไม่หัดสมาธิเลยเป็นขึ้นมาก่อนแล้ว และจงพยายามต่อไปเถิด

นี่แหละพระวิริยังค์เล่าถวายท่านพระอาจารย์มั่นฯ ท่านพระอาจารย์มั่นก็ได้พูดว่า “มันแม่นแล้ว” เธอมีความเย็นต่างๆ มีบารมี เธอสมควรมิฉะนั้นจะได้บวชหรือ? มีอยู่หนึ่งหนึ่งคราวนี้ท่านก็พูดขึ้นว่า “วิริยังค์ คุณเคยเห็นไหมที่นักปฏิบัติกัมมัฏฐานหรือพวกที่ทำสมาธิภาวนาคุยอวดตัวอวดตน ถือมานะทิฐิว่า ดีกว่าผู้อื่น เข้าใจตัวเองผิด ทำสมาธิเพื่อโอ้อวดแข่งดี ทำสมาธิเพื่ออุบายกโลบายต่างๆ นานา” พระวิริยังค์ตอบว่า “เคยเห็นครับ รู้สึกพวกเราก็มี” ท่านพูดว่า “ก็นั่นสิ ทำอย่างไรจึงจะรู้ถึงว่าไม่เอาจริงเอาจัง ทำสมาธิเพื่อกโลบาย” ท่านได้อธิบายต่อว่า “ผู้มีความหวังเป็นใหญ่ หวังเพื่อปฏิบัติโดยต้องการจะให้คนแห่แหนกันเข้ามา เป็นการออกอุบายเพื่อหาเหตุเหล่านั้น ย่อมไม่บริสุทธิ์ทั้งตนเองและผู้อื่น”

Advertisement

โดยสรุป “แรงบันดาลใจ” เจ้าประคุณสมเด็จพระญาณวชิโรดม (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร) ชื่อเดิม วิริยังค์ บุญฑีย์กุล ประชาชนส่วนมากเรียกตามนามเดิมว่า “หลวงพ่อวิริยังค์” เป็นเจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล สุขุมวิท 101 เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร หลวงพ่อสงบลึกซึ้งเป็นสมาธิครั้งแรกเมื่ออายุเพียง 13 ปี ที่วัดป่าสว่างอารมณ์ ซึ่งมีท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ เป็นเจ้าอาวาส นับตั้งแต่นั้นมาการทำสมาธิได้ดำเนินติดต่อกันเรื่อยมา จนกระทั่งอายุ 15 ปี ท่านอาจารย์กงมาจึงบวชให้เป็นตาผ้าขาวอยู่รับใช้ท่าน เมื่ออายุ 16 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร อยู่ปฏิบัติสมาธิกันทั้งในป่าไม้ ภูเขา และตามวัดอย่างเคร่งครัด จนกระทั่งอุปสมบทเป็นพระภิกษุ รวมการอยู่เรียนสมาธิกับท่านเป็นเวลา 8 ปีเต็ม จึงมีความรู้เรื่องสมาธิสามารถสอนผู้อื่นได้

ท่านพระอาจารย์กงมาได้พาพระวิริยังค์ไปอยู่กับหลวงปู่มั่น เมื่อ พ.ศ.2484 ขณะนั้นอายุ 22 ปีพอดี ท่านบอกอาตมาว่า “วิริยังค์ หลวงปู่มั่น ภูริทัตตาเถระ เป็นปรมาจารย์และเป็นปรมาจารย์ของเรา สมาธิทุกขั้นตอน เราได้สอนเธอไปหมดแล้ว ต่อไปนี้เธอจะได้เรียนสมาธิกับท่านปรมาจารย์ เธอจงอย่าประมาท ปฏิบัติหลวงปู่มั่นแบบถวายชีวิต เธอจะได้ความรู้อย่างกว้างขวางยิ่งกว่าที่เราสอนอีกมากนัก”

พระวิริยังค์รับคำตักเตือนท่านพระอาจารย์กงมาด้วยความตั้งใจ ดังนั้นในปี พ.ศ.2484 จึงเป็นปีเริ่มศักราชใหม่ของพระวิริยังค์ โดยที่หลวงปู่มั่นรับเป็นลูกศิษย์อย่างใกล้ชิด ที่เรียกว่า ท.ส. พระวิริยังค์จึงได้เป็นพระอุปัฏฐากตั้งแต่นั้นมา นับเป็นโอกาสดีที่สุดในชีวิตของพระวิริยังค์ที่ได้มาอยู่ใกล้ชิด ปรมาจารย์ด้านสอนสมาธิ และเป็นโอกาสได้รับทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดของสมาธินับเป็นบุญญาธิการอันยิ่งใหญ่ที่จะนำเอาหลักสมาธิมาเป็นประโยชน์และก็เหมือนด้านรู้ซึ่งถึงจิตใจของพระวิริยังค์ที่ต้องการรู้เรื่องสมาธิอย่างกว้างขวาง ถ้าไม่ถามท่านก็จะยกปัญหานี้ขึ้นมาและท่านตอบเอง ดังนั้นระยะเวลาอยู่ใกล้ชิด 4 ปี และอยู่นอกพรรษา หมายถึงตุลาคมไปถึงมิถุนายนเป็นเวลาอีก 5 ปี รวมเวลาทั้งหมด 9 ปี จึงเป็นอันว่าปัญหาของสมาธิได้ถูกชี้แจงหมดเปลือกจริงๆ

ผลงานชิ้นแรกที่พระวิริยังค์ได้ทำ คือ เมื่ออยู่กับท่านปีที่ 2 ได้บันทึกพระธรรมเทศนาของท่านตลอดพรรษา เมื่อบันทึกก็ถวายให้ท่านตรวจดู ท่านพอใจและไว้ใจตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จากการบันทึกครั้งนั้นได้นำมาพิมพ์เป็นหนังสือมุตโตทัย ที่โด่งดังอยู่เวลานี้ และได้ถูกพิมพ์เผยแพร่ไว้ล้านเล่ม ระหว่างอยู่ใกล้ชิดหลวงปู่มั่นได้ทราบข้อเท็จจริงทั้งสมาธิตื้นสมาธิลึก ตลอดถึงวิปัสสนาซึ่งเมื่อเข้าใจทุกประการแล้วพระวิริยังค์มีความรักและหวงแหนในหลักการไม่อยากให้หลักการนี้ต้องสลายไป เพราะ “ท่านมีวิธีทั้งขั้นพื้นฐานและขั้นสูงสุด” พระวิริยังค์ท่านถามว่า “ต่อไปกระผมจะเขียนเป็นหลักการให้ชาวโลกเขาทำกันจะได้ไหม” ท่านตอบว่า “ได้ แต่ต้องเอาแบบขั้นพื้นฐานสำหรับเป็นประโยชน์แก่มหาชน สำหรับขั้นสูงให้มีน้อย โอกาสที่เธอจะทำนั้นมีอยู่ แต่ต้องทำขั้นพื้นฐานเพื่อคนส่วนมากในโลกจะได้สงบ และเธอจะต้องไปอยู่กรุงเทพฯ เพราะคนกรุงเทพฯ ที่มีวาสนาบารมีมีอยู่ไม่น้อย”

ปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวมานี้เป็นแรงสนับสนุนในใจของ “หลวงพ่อวิริยังค์” อยู่ตลอดเวลา จน พ.ศ.2529 ถึง พ.ศ.2534 หลวงพ่อวิริยังค์ได้มีโอกาสไปพักผ่อนที่วิทยาลัยสงฆ์น้ำตกแม่กลาง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นบริเวณป่าไม้ ภูเขาดอยอินทนนท์ ทำให้ได้ทบทวนหลักการต่างๆ ที่เคยได้โต้ถามธรรมปัญหาสมาธิพร้อมทั้งคำแนะนำจากหลวงปู่มั่นฯ จึงได้เขียน “ตำราสมาธิ” ขึ้นจนเต็มรูปแบบ สามารถใช้ในการเรียนการสอนวิชาสมาธิ ได้รวมการทบทวนและรวบรวมการเขียนตำรานั้นใช้เวลา 5 ปี ตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน ขั้นกลาง และขั้นสูง รวม 3 เล่ม เหมาะแก่การศึกษาและปฏิบัติสมาธิยิ่งนัก

คิดสร้างนครธรรม สถานที่ตั้งสถาบันพลังจิตตานุภาพ ในขณะเขียนตำราสมาธิ ก็มาคำนึงว่าชาวโลกได้พัฒนาก้าวไปไกลถึงยุคโลกาภิวัตน์ เขาได้ลงทุนสร้างวัตถุต่างๆ ทั้งแหล่งบันเทิง เริงรมย์ ทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลาย ทั้งที่อยู่อาศัย รถยนต์ เรือยนต์ เรือบิน ก็ย่นระยะการสื่อสารกันได้อย่างสบาย ทั้งหมดเงินงบประมาณเป็นหมื่นล้านแสนล้าน เขาก็ยังลงทุนได้ แล้วทำไม? เราจะลงทุนสร้าง “นครธรรม” ให้ทันสมัยด้วยใช้เทคนิคต่างๆ เพื่อย่นระยะการศึกษาและปฏิบัติธรรมบ้างมิได้หรือ?

หลวงพ่อวิริยังค์จึงได้ตัดสินใจคิดสร้าง “นครธรรม” โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในยุคดิจิทัล เมื่อ พ.ศ.2529 และได้ดำเนินการสร้างเมื่อ พ.ศ.2536 ซึ่งเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะคนส่วนมากเข้าใจแต่การสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ บวชพระ ถวายสังฑทาน เป็นต้น จึงจะได้บุญกุศล แต่จะมาสร้างนครธรรม สอนคนด้วยไฮเทคนี้ไม่รู้ว่าจะได้บุญตรงไหน แต่ด้วยใจที่มุ่งมั่นของผู้สร้าง จึงพยายามพูดให้สาธุชนทั้งหลายเข้าใจในการทำบุญกุศล จนสามารถมีผู้บริจาคสร้างสำเร็จ พ.ศ.2539 จึงเป็น “นครธรรมยุคไฮเทค” แหล่งย่นระยะการศึกษาธรรมล้ำยุคสุดอลังการ ณ วัดธรรมมงคล ในเนื้อที่ 4,800 ตาราเมตร ใต้ฐานมหาเจดีย์ที่สูงที่สุดในกรุงเทพมหานคร คือ สถานที่ศึกษาและปฏิบัติธรรมที่ทันสมัย มีห้องชมธรรมะด้วยสไลด์มัลติวิชั่น มีห้องสนทนาธรรม มีห้องสมุดธรรม มีห้องธุรการ มีห้องอาหารและเครื่องดื่ม มีห้องสำนักงานประทีปเด็กไหว เพื่อช่วยเหลือเด็กทั่วเมืองไทย มีห้องถ้ำวิปัสสนาไว้ให้ปฏิบัติธรรม เป็นต้น ผู้ที่มาศึกษาและปฏิบัติธรรมจะได้รับความสะดวกสบายในห้องแอร์อย่างดี เป็นการลงทุนสร้างนครธรรมให้ทันสมัยเพื่อ “เพื่อสุขภาพใจ” โดยเฉพาะเป็นคุณูปการยิ่งแก่คนยุคโลกาภิวัตน์ที่ได้มาศึกษาและปฏิบัติธรรมทั้งมีเกียรติมีศักดิ์ศรี ทั้งจะได้รับความรู้และความสุขใจเป็นอย่างยิ่ง นี่คือ “นครธรรม” ที่ตั้ง “สถาบันพลังจิตตานุภาพ” ในใจกลางกรุงเทพมหานคร มีสาขาทุกจังหวัดทั่วประเทศ และในต่างประเทศมีลูกศิษย์ของหลวงพ่อเป็นหมื่นเป็นแสนคนทั่วโลกเป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้เพื่อ “การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของมนุษย์” อยู่ร่วมกันด้วย “สันติสุข”

ด้วยหลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร จะมีอายุวัฒนครบ 101 ปี ในวันที่ 7 มกราคม 2564 หลวงพ่อวิริยังค์ของ “คนไทย” ด้วยบารมีแห่งแรงกตัญญูกตเวทิตา และพละห้า ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ของหลวงพ่อ ได้ปฏิบัติศาสนกิจทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่องจนอายุกว่า 100 ปี ด้วยอัธยาศัยมีความเมตตากรุณาอ่อนโยน โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย เพื่อมนุษย์ ด้วยการ “สร้างคน” ให้เป็น “มนุษย์” ไม่เลือกว่าเขาจะเป็นใครที่ไหนอย่างไรให้มี “สมาธิ” มี “พลังจิตตานุภาพ” ในการสร้างแต่คุณความดีเพื่อตนเองครอบครัวสังคมและประเทศชาติ เพื่อ “สันติภาพโลก” เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้วยความปรารถนาดี จริงใจของหลวงพ่อต่อมวลมนุษยชาติถ้วนทั่วทุกคนโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ เชื้อชาติ ศาสนาใดๆ อย่างต่อเนื่องตลอดอายุขัย จนถึงปัจจุบัน

อนึ่ง พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนา “พระพรหมมงคลญาณ” ขึ้นเป็น “สมเด็จพระราชาคณะ” มีพระราชทินนามที่จารึกในสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระญาณวชิโรดม พุทธาคมวิศิษฐ์ จิตตานุภาพพัฒนดิลก สาธกธรรมวิจิตร วิเทศศาสนกิจไพศาล วิปัสสนาญาณธุราทร ธรรมยุตติกคณิสสรบวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี” สถิต ณ วัดธรรมมงคลเถาบุญนนทวิหาร กรุงเทพมหานคร มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 10 รูป ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2563 ประกาศ ณ วันที่ 2 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2563 เป็นปีที่ 5 ในรัชกาลปัจจุบัน

ท้ายสุดนี้ในนามของผู้เขียนและผู้อ่าน ขอแสดงมุทิตาจิต สาธุ สาธุ สาธุ ขอให้หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร มีสุขภาพดีแข็งแรง ทั้งกายและใจนานเท่านาน นะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image