สถานีคิดเลขที่ 12 : เชื้อที่ฆ่าไม่ตาย

สถานีคิดเลขที่ 12 : เชื้อที่ฆ่าไม่ตาย ไฉนคำว่า รัฐประหาร จึงไม่อาจหายไป

สถานีคิดเลขที่ 12 : เชื้อที่ฆ่าไม่ตาย

ไฉนคำว่า รัฐประหาร จึงไม่อาจหายไปจากหน้าสื่อ ตามคำร้องขอของ ผู้บัญชาการทหารบก
แถมคณะราษฎรยังย้อนแย้ง
อ้าง “กลิ่นแปลกๆ”
ใช้ 5 แยกลาดพร้าว ชุมนุมซ้อมต้านปฏิวัติกันครึกครื้น เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
โดยอ้างเหตุผล
“ช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นมีกระแสรัฐประหารเกิดขึ้นบ่อยครั้ง …ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาสอนให้รู้ว่าเราไม่สามารถวางใจได้ ด้วยเหตุนี้ จึง…ร่วมชุมนุมกัน เพื่อซ้อมรับมือกับการรัฐประหารที่มีโอกาสเกิดขึ้น”
เพราะเหตุนี้ รัฐประหารจึงไม่น่าจะหายไปไหน

และผู้ที่มีโอกาสทำ ก็จะถูกซักไซร้ไตร่ถาม ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ว่าจะเบื่อจะเอียนอย่างไรก็ตาม
ด้วยตอนนี้ เรายังไม่สามารถแลเห็นทางออกจากวิกฤตที่เกิดขึ้น
แถมยังเห็นเงื่อนไขที่ไปเพิ่มโอกาสให้เกิดสิ่งที่ไม่พึงคือรัฐประหาร เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา
ที่เราหวังว่า จะช่วยลดอุณหภูมิหรือทำให้มีทางเลือกมากขึ้น เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เราก็เริ่มเห็นการบิดเบี้ยว

เช่น มีความพยายามของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งแม้จะยังเป็นความเห็นส่วนบุคคล ไม่ให้แตะอำนาจสมาชิกวุฒิสภา
แต่ก็สะท้อนว่า สภามิได้ตระหนักว่า ความจริงใจที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยเป็นหนทางหนึ่งที่จะลดแรงกดดันทางการเมืองเลย
เททิ้ง ฉบับแก้ไขของประชาชนแล้ว ยังไม่พอ ยังจะพลิกพลิ้วดำรงการสืบทอดมรดกของคณะรัฐประหารต่อไปอีก
ไม่รู้ว่า เอาเข้าจริงแล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือสภาร่างรัฐธรรมนูญ จะออกมาบิดเบี้ยวขนาดไหน
มิต้องคาดหวังไปถึงคณะกรรมการสมานฉันท์ 21 คน ที่ดูแล้ว ยากอย่างยิ่งที่จะรวมตัวมาหาฉันทามติร่วมกันได้
นั่นเป็นเรื่องของสภา

Advertisement

ส่วนเรื่องของรัฐบาล
เพียงแค่ท่าทีของผู้นำ ก็ชวนงงงวย
เพราะวันหนึ่ง ออกมาประกาศ จะบังคับใช้กฎหมาย ทุกฉบับทุกมาตรา อย่างเข้มงวด
นำไปสู่การฟื้นการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อเล่นงานแกนนำม็อบฝ่ายตรงข้าม กันคนละหลายๆ คดี
พอมีผู้ติงหรือวิจารณ์ว่าอาจไม่เป็นไปตาม “พระราชประสงค์” ทั้งในอดีตและปัจจุบัน
ชาวบ้านก็ได้ยิน คำชี้แจงว่า “ผมไม่ได้ใช้ แต่ตำรวจเขาใช้”
ก็เลยมึนๆ ว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ นี่คือความสับสนที่เกิดขึ้นตลอด

รวมถึงที่ว่า รัฐบาลไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร
แต่เอกสาร ที่หลุดจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งสื่อความชัดเจน ให้ควบคุมม็อบอีกฝ่ายหนึ่งอย่างเต็มที่ ขณะที่อำนวยสะดวกให้กับมวลชนอีกฝ่ายหนึ่ง
ก็สะท้อนให้เห็นว่า การไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร จริงหรือไม่
และพลอยทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้น จากทั้งการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ (ซึ่งอาจรวมถึงทหาร ที่แฝงมาในกลุ่มบุคคลต่างๆ) จากทั้งมวลชน ที่ปะทะกันถี่ขึ้นทุกวัน
คือความไม่จริง ของวาทกรรม รัฐบาลไม่ใช่คู่ขัดแย้งหรือไม่

และมีใครหรือองค์กรไหน อยากจะให้มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น เพื่อที่จะนำไปสู่การใช้กฎหมายแรงๆ อย่างที่เริ่มมีการพูด กฎอัยการศึกหรือไม่
ซึ่งถ้าไปถึงจุดนั้น
ขยับอีกนิดเดียวก็น้องๆ การรัฐประหาร
หรืออาจทะลุเพดานไปเป็น การยึดอำนาจได้ตลอดเวลา
นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไม คำว่า “รัฐประหาร” ไม่สร่างซาไปจากสังคม
ถูกถาม ถูกตั้งข้อสงสัย และซ้อมรับมือกันอย่างที่เห็น

Advertisement

สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image