สถานีคิดเลขที่ 12 : ปีศาจ 2563

สถานีคิดเลขที่ 12 : ปีศาจ 2563

สถานีคิดเลขที่ 12 : ปีศาจ 2563

“ปีศาจ” ผลงานวรรณกรรมเล่มสำคัญของ “เสนีย์ เสาวพงศ์” ที่มีอายุยืนยาวมาเกือบ 7 ทศวรรษ เพิ่งได้รับการตีพิมพ์ใหม่อีกครั้งในปี 2563

นับเฉพาะการจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน นี่คือการพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่ 5

ในเชิงเนื้อหา จุดเด่นหนึ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาใน “ปีศาจ” ฉบับพิมพ์ใหม่ ก็คือ บทเสมือนคำนำสำนักพิมพ์ โดย “สุพจน์ แจ้งเร็ว” บรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม และคำนำเสนอ โดย “ประจักษ์ ก้องกีรติ” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ที่สนใจศึกษาประเด็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรมช่วงก่อน 14 ตุลาคม 2516

Advertisement

บทความทั้งสองชิ้นได้บ่งชี้ให้เห็นถึงชีวประวัติของนวนิยายเล่มนี้ ที่ดำเนินไปอย่างสอดคล้องกับบริบททางการเมืองที่พลิกผัน

จากผลงานวรรณกรรมที่ประพันธ์ขึ้นตามแนวทาง “ศิลปะเพื่อชีวิต” ในทศวรรษ 2490 ประจักษ์บรรยายให้เห็นว่าชื่อของ “ปีศาจ” และ “เสนีย์ เสาวพงศ์” ได้ค่อยๆ รางเลือน หลังการรัฐประหารโดย “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” อันนำไปสู่การปิดกั้นเสรีภาพและกระบวนการทำลายปัญญาชนสาธารณะ

แต่แล้วผลงานการประพันธ์เรื่องนี้กลับค่อยๆ ถูกพลิกฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาใหม่ในทศวรรษ 2510 โดยเหล่าคนหนุ่มสาวยุคแสวงหา

Advertisement

ตามความเห็นของสุพจน์ “สาย สีมา” ตัวละครเอกของ “ปีศาจ” นั้นมีสถานะเป็น “ปฏิมาของคนรุ่นใหม่” ในยุค 2510 เพราะเขาคือสำนึกใหม่ของประวัติศาสตร์ เขาคือตัวแทนของ “ลูกหลานชาวบ้านคนธรรมดาสามัญ” ผู้มีจิตสำนึกซึ่งตระหนักว่าตนเองกำลังดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมที่มีความขัดแย้งทางชนชั้น

“สาย สีมา” คือตัวแทนของ “คนธรรมดา-คนชั้นล่าง” ที่ไม่เคยมีตำแหน่งแห่งที่และปรากฏบทบาทในประวัติศาสตร์กระแสหลัก

บรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรมยังชี้ให้เห็นถึงความหมายที่แตกต่างกันของคำว่า “ปีศาจ” (spectre) และ “ผี” (ghost)

กล่าวคือ ในขณะที่ “ผี” เป็นวิญญาณร้ายที่คอยตระเวนหลอกหลอนผู้คน “ปีศาจ” กลับเป็นอาการหลอนที่เกิดขึ้นจากความวิตกหวาดกลัวของตัวผู้ถูกหลอนเอง เช่น อาการหวาดวิตกต่อปัญหาที่กำลังจะมาถึงในอนาคต

ความหวาดกลัวที่ตัวละคร “ท่านเจ้าคุณ” มีต่อ “สาย สีมา” ในฐานะ “ปีศาจที่กาลเวลาสร้างขึ้น” จึงมีนัยยะความหมายตามแบบหลัง

บทตอนใหม่ทางประวัติศาสตร์การเมืองที่เริ่มต้นขึ้นหลังเดือนตุลาคม 2516 นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงของนวนิยายเรื่อง “ปีศาจ” เช่นกัน

ดังที่ประจักษ์ระบุว่าหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ “ปีศาจ” ได้กลายเป็นวรรณกรรมยอดนิยมของคนหนุ่มสาวซึ่งกำลังตื่นตัวทางการเมือง

อันเนื่องมาจากการที่ “เสนีย์” สามารถฉายภาพการปะทะกันระหว่าง “โลกเก่า” กับ“โลกใหม่” หรือ “ผู้ใหญ่-ผู้ดี” กับ “คนรุ่นใหม่-คนชั้นล่าง” ได้อย่างชัดเจน

เช่นเดียวกับที่สุพจน์อธิบายว่า “ปีศาจ” นั้นผูกโยงกับคนรุ่นใหม่ที่มีจิตสำนึกการต่อสู้ทางชนชั้น ซึ่งจะยิ่งทวีจำนวนมากขึ้น ภายใน “เกราะกำบังของกาลเวลา” หรือในยุคสมัยที่เคลื่อนหน้าไปไม่หยุดหย่อน

อย่างไรก็ดี บรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมตีความว่า “สารสำคัญ” ที่ “เสนีย์” ใส่เอาไว้ในผลงานเรื่องเอกของเขานั้นมีอยู่สองประการ

นอกจากประการแรก คือ การกล่าวถึงความขัดแย้งระหว่างรูปการจิตสำนึกเก่ากับใหม่ ซึ่งหลายคนสามารถจับใจความได้แล้ว

ยังมีสารประการที่สอง ซึ่งชี้แนะว่าการเปลี่ยนแปลงต้องมีจิตสำนึกและทิศทาง มิใช่การปล่อยให้กาลเวลาทำหน้าที่ของมันตามลำพัง

สอดคล้องกับที่ประจักษ์เขียนเอาไว้ว่า “เสนีย์” นั้นเชื่อมั่นในคุณค่าความเป็นมนุษย์และพลังคนหนุ่มสาวในการเปลี่ยนแปลงสังคม

ความเปลี่ยนแปลงใดๆ จึงจะก่อเกิดขึ้นได้ด้วยพลังของ “ปีศาจ” เหล่านี้ ไม่ใช่การคืบเคลื่อนของเข็มนาฬิกาเพียงเท่านั้น

ประเด็นท้าทายสุดท้าย ที่อยู่นอกเหนือจากงานประพันธ์ของ “เสนีย์ เสาวพงศ์” และบทความแนะนำหนังสือทั้งสองชิ้น ก็คือ เมื่อได้รับการตีพิมพ์ใหม่ในปี 2563

เรื่องราวและความคิดแบบ “ปีศาจ” จะส่งอิทธิพลต่อหรือกลืนกลายเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ผู้เป็น “ปีศาจแห่งกาลเวลา” ณ ยุคปัจจุบัน ได้มากน้อยขนาดไหน?

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image