ความซับซ้อนของข่าวลวง

การพูดถึงข่าวลวง/ข่าวปลอม (fake news) เป็นที่กล่าวถึงมากมายในบ้านเรา ทั้งรัฐบาลและประชาชนก็มีความสนใจ เข้าใจ และคาดหวังในเรื่องนี้ที่แตกต่างกันไป

ความเข้าใจที่แตกต่างกัน (หรือความเข้าใจที่อาจจะไม่ต่างกันมากนักเอาเข้าจริงแล้ว) ย่อมส่งผลให้ความรับรู้ของแต่ละฝ่ายที่มีต่อการเมืองของการอยู่ร่วมกันที่อาจต่างกันออกไป

ในทางวารสารศาสตร์ (journalism) คำว่าข่าวลวง หรือสื่อปลอม (fake media) นั้นเป็นคำที่มีปัญหาในตัวเองมาก เพราะอาจจะกินความกว้างขวางมากเกินไป และเหมารวมเอาทุกอย่างที่เราไม่เชื่อ ไม่ให้ค่า หรืออาจจะใช้โจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง จนทำให้เราละเลยกระบวนการประกอบสร้างข่าว ซึ่งหมายรวมถึงทั้งการประกอบสร้างข้อเท็จจริง และความจริง (แน่นอนการทำข่าวนั้นย่อมหมายถึง การผลิตข่าวนำมารายงาน และมีขั้นตอนต่างๆ มากมายในฐานะมืออาชีพ ที่ปัจจุบันแม้ว่าใครๆ จะอาจจะเป็นสื่อได้ แต่การพิจารณาความน่าเชื่อถือของข่าวก็ยังมีขั้นตอน และกระบวนการอยู่)

ในงานเขียนของ Claire Wardle ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อโซเชียล และ Hossein Derakhsham นักเขียน/นักวิจัยชาวอิหร่าน-แคนาดา ซึ่งมีบทบาทสำคัญในเรื่องการวิจัยเรื่องข่าวปลอมกับ แคลร์ พวกเขาพัฒนาแนวคิดและกรอบการพิจารณาข่าวปลอมอย่างเป็นระบบ และบทความของเขาที่ชื่อว่า การพิจารณาเรื่อง “ความผิดปกติของข้อมูลข่าวสาร” (information disorder): รูปแบบของข้อมูลที่ผิด (misinformation) ข้อมูลบิดเบือน (disinformation) และข้อมูลที่แฝงเจตนาร้าย (malinformation) ซึ่งเป็นบทที่สองของหนังสือ “การเสนอ “ข่าวลวง” และข้อมูลบิดเบือน” คู่มือเพื่อการศึกษาและอบรมด้านวารสารศาสตร์ ที่ได้รับการจัดทำและตีพิมพ์เผยแพร่ในปี 2563 โดย UNESCO (องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ) ซึ่งเป็นการแปลจากฉบับภาษาอังกฤษ ผมคิดว่าแคลร์ กับ โฮสเซน มีประเด็นที่น่าสนใจในการนำมาพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเรามิใช่น้อย

Advertisement

นักวิชาการด้านวารสารศาสตร์ทั้งสองท่านนี้มองว่าการพูดถึงข่าวลวงนั้นออกจะเป็นคำที่กว้างเกินไป ควรจะพิจารณาเรื่องข่าวลวงในฐานะส่วนหนึ่งของความผิดปกติของข้อมูลข่าวสาร (misinformation) และเมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้วจะพบว่า ความปกติของข้อมูลข่าวสารนั้นอาจแยกออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ๆ โดยมีฐานสำคัญของการพิจารณาสามประเภทก็คือ ความเท็จ (false) กับเจตนาร้าย (intent to harm)

1.ข้อมูลที่ผิด (misinformation) หมายถึงข้อมูลที่ปลอมขึ้นมา หรือ เป็นเท็จ แต่คนที่เผยแพร่เชื่อว่าเป็นความจริง ได้แก่ เรื่องของการเชื่อมโยงที่ผิดๆ (false connection) หรืออาจจะมีเนื้อหาสาระที่นำไปสู่การเข้าใจที่ผิดๆ (misleading content) ในแง่นี้แม้ข้อมูลจะผิดเป็นเท็จ แต่คนส่งอาจไม่ได้มีเจตนาร้าย

แต่กระนั้นก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าภูมิทัศน์สื่อในปัจจุบันนั้น สื่อไม่ได้ถูกผลิตโดยองค์กรใหญ่เท่านั้น ยังรวมไปถึงสื่อที่ถูกผลิตโดยฝ่ายรัฐ หรือฝ่ายต่อต้านก็ได้ และรวมไปถึงสื่อที่

Advertisement

ผลิตจากประชาชน โดยเฉพาะประเภทที่ส่งต่อกันไปทั้งในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือกลุ่มไลน์ ดังนั้นการทำความเข้าใจกับเรื่องข้อมูลที่ผิด จึงมีความสำคัญ เพราะบางทีคนที่ส่งต่อๆ กันอาจไม่ใช่คนที่มุ่งร้ายกับใคร โดยเฉพาะพวกคนดี

2.ข้อมูลที่บิดเบือน (disinformation) คือข้อมูลที่บิดเบือน และคนที่เผยแพร่ก็รู้อยู่ว่าไม่เป็นความจริง เป็นเจตนาโกหก และมีเป้าหมายคือกลุ่มคนที่ถูกหลอกได้ง่ายโดยผู้ไม่ประสงค์ดี

ข้อมูลที่บิดเบือนเหล่านี้ความสำคัญไม่ใช่แค่การได้ข้อมูลที่ผิดมา หรือ ส่งต่อ เพราะอยากให้คนอื่นรู้ด้วยความหวังดี แต่เรากำลังหมายถึงข้อมูลที่ถูกทำ หรือประกอบสร้างขึ้นใหม่ อาจจะไม่ได้ผิดเสียทั้งหมด แต่อาจผิดที่ผิดทางผิดบริบท (false context) เป็นข้อมูลที่มีเนื้อหาแอบอ้าง (imposter content) เป็นข้อมูลที่มีการดัดแปลง (manipulated content) หรือแต่งขึ้นมาใหม่ (fabricated content) สรุปง่ายๆ ก็คือ ข้อมูลบิดเบือนนั้นแฝงเจตนาที่ไม่ดีและต้องการทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง

3.ข้อมูลที่แฝงเจตนาร้าย (malinformation) คือข้อมูลที่มีพื้นฐานของความจริง แต่ถูกนำไปใช้เพื่อทำร้ายบุคคล องค์กร หรือประเทศ โดยเจตนาร้าย หรือแฝงเจตนาร้าย อาทิ การเปิดเผยเรื่องส่วนตัวบางอย่างของบุคคลสาธารณะ (บางทีอาจรั่วมา) ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะนั่นหมายความว่าข้อมูลอาจจะจริง แต่การนำเสนอในช่วงเวลาบางช่วงเวลา หรือมีเจตนาที่จะใช้ทำลายทางการเมืองก็อาจทำให้เกิดการสร้างความเสียหายได้ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อนมาก เช่น เรื่องที่ว่าตกลงชีวิตส่วนตัวของบุคคลสาธารณะควรจะถูกเปิดเผยไหม เปิดเผยแค่ไหน หรือถูกเปิดเผยเพื่อหวังผลบางอย่าง หรือที่บางคนตั้งคำถามว่าระหว่างข่าวบางข่าวมันไปคาบเกี่ยวกับปัญหาจรรยาบรรณของคนทำข่าว หรือคนอาจจะถามว่าได้อะไรจากข่าวนี้ ผู้รายงานข่าวนั้นมีความมุ่งหมายอะไรอยู่เบื้องหลัง ดังที่มีคนตั้งข้อสังเกตกันเยอะว่า นักข่าวกับนักเผือกนั้นบางทีก็ห่างกันไม่มาก

ในความเป็นจริงแล้วเราอาจจะแยกข้อมูลสามชนิดออกจากกันไม่ได้ทั้งหมด และเอาเข้าจริง อาจจะซับซ้อนกว่านั้น เช่น มีคนผลิตข้อมูลที่บิดเบือนมา แต่เราไม่ได้คิดอะไรมากกว่าเชื่อว่าจริง เราก็เลยส่งข้อมูลนั้นต่อมาเพื่อเชื่อว่าจริง อันนี้ก็เลยทำให้ต้นทางเป็นข้อมูลบิดเบือนแล้วปลายทางที่ผ่านมือเรากลายเป็นข้อมูลที่ผิด เพราะเราไม่ได้มีเจตนาร้ายในการประกอบสร้างสิ่งนั้นขึ้นมาเอง (แค่ส่งต่อมากกว่าที่จะเขียนเอง) และที่ซับซ้อนกว่านั้นก็คือ หากเรามีสถานะทางสังคมที่น่าเชื่อถือ การส่งต่อของเราก็จะทำให้ข้อมูลชุดนั้นดูน่าเชื่อถือตามไปด้วย

หรือข่าวบางอย่างอาจจะถูกรายงานมาเป็นข้อเท็จจริง แต่การเชื่อมโยงที่ผิดนั้นอาจจะไปถึงขั้นแฝงเจตนาร้ายได้ด้วย เช่น สมมุติว่าในองค์กร หรือกลุ่มๆ หนึ่ง มีคนหนึ่งในนั้นเกิดไปโดนข้อหาอาชญากรรม เช่น ทหารไปเมาเหล้า หรือการ์ดนักศึกษาไปมีพฤติกรรมไม่ดี แต่การเล่าเรื่องนั้นมาจากเรื่องจริง แต่มีความพยายามเล่าเรื่องให้เชื่อมโยงหรือคิดตามได้ว่ามันน่าจะสื่อว่าพวกนี้แย่ทั้งหมดทั้งกลุ่มทั้งองค์กร แล้วก็เกิดคนดีเผยแพร่ต่อกันเพราะเชื่อว่าจริง นี่ก็อาจจะครบทั้งสามองค์ประกอบเลยได้ คือ เป็นทั้งข้อมูลที่ผิดในแง่การตีความ และบิดเบือนเพราะจงใจเล่าด้วยเจตนาให้ร้าย

เมื่อพูดถึงตรงนี้ การทำความเข้าใจเรื่องในสื่อโซเชียล และในรายการต่างๆ ทั้งในช่องหลัก หรือช่องยูทูบนั้นจะพบว่า การประกอบสร้างข่าวนั้นจึงไม่ได้มีแค่การพูดถึงหลักการเขียนข่าว แต่อาจจะเป็นเรื่องของ “การเล่าเรื่อง” หรือ “เล่าข่าว” นี่แหละครับ ดังนั้นรายการที่เป็นรายการให้ความเห็นปนไปกับการเล่าข่าวด้วย จึงเป็นพื้นที่ที่สำคัญที่จะแพร่กระจายข่าวเหล่านี้ได้มาก ไม่ว่าจะอยู่ในฝ่ายไหน หรือไม่อยู่ในฝ่ายไหนเลยก็ยิ่งต้องระวัง เพราะการไม่อยู่ฝ่ายไหนเลยไม่ได้หมายความว่าข้อมูลที่ไปเอามาเล่าในแต่ละข่าวนั้นจะมีความเป็นกลางและเที่ยงตรง เพราะข่าว/ข้อมูลที่นำมาอาจจะแฝงมาด้วยความมุ่งหมายบางอย่างของผู้เขียน หรือแม้กระทั่งการเล่าโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม

ในวันนี้การเชื่อมโยงที่เป็นเท็จ รวมทั้งการล้อเลียนเสียดสีบางแบบ (เพราะคนบางคนอาจไม่รู้ว่าเป็นเรื่องล้อเลียนหรือไม่จริง) อาจจะมีบทบาทสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในเงื่อนไขของการพากหัวข่าวที่จูงใจให้คนเข้าไปคลิกดู หรือเราอาจจะเรียกง่ายๆ แบบบ้านเราว่ามันเบลอๆ คาบลูกคาบดอก ทำให้เราคิดไปในทางใดทางหนึ่ง เช่น ในการเล่าข่าวอาจจะบอกว่า ท่านผู้ชมไม่ต้องเชื่อผมก็ได้ แต่ผมรู้มาว่า หรือท่านผู้ชมลองเชื่อมโยงเอาเองก็จะเห็นได้ว่า …

การแอบอ้างบุคคลที่มีชื่อเสียงที่แชร์เรื่อง หรือที่เมืองไทยทำมากกว่านั้น เช่น การแอบอ้างตัวเอง อาทิ “ผมรู้จักคนนี้ดี” หรือ “ผมเป็นคนแรกที่…” จะทำให้เรื่องบางเรื่องน่าเชื่อถือขึ้นมาอย่างทันที ทีนี้ก็ต้องไปดูว่าเรื่องที่จะมีการเล่านั้น มาจากข้อมูลที่ผิดทั้งหมด ผิดบางส่วนแต่นำมาประกอบสร้างให้คนรับสารเข้าใจไปเอง และการกระทำดังกล่าวนั้นแฝงเจตนาร้ายมากน้อยแค่ไหน และไปกำหนดระดับการดัดแปลง หรือระดับการกุเรื่องขึ้นมา ภาพถ่ายบางภาพอาจจะจริง แต่เอามาใช้ในอีกเหตุการณ์หนึ่งทั้งที่จงใจ หรือแชร์ตามๆ กันมา

โดยหลักการแล้ว สิ่งที่จะช่วยให้เรามีชีวิตในโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารที่ผิดปกตินั้น ไม่น่าจะเป็นเรื่องของการเรียกร้องหาสังคมอุดมคติ และสื่อในอุดมคติแบบเดิม คือ สื่อที่ผลิตข่าวที่ถูกต้องน่าเชื่อถือทั้งหมด เพราะเอาเข้าจริงในสถานการณ์จริงมุมมองย่อมมีหลายมุม แต่ผมกลับคิดว่า เราควรเรียกร้องหาสังคมที่เปิดกว้างเพียงพอที่จะทำให้เรามีข้อมูลที่หลากหลาย มีข่าวที่หลากหลาย

แต่ในขณะเดียวกันก็รณรงค์ผลักดันให้คนเห็นว่าความผิดปกติของข้อมูลข่าวสารคือ สิ่งที่เราจะอยู่ร่วมกับมันได้ หากเราพอจะแยกแยกองค์ประกอบเหล่านั้นได้ และมาคุยกันว่าอันไหนที่มันมากเกินไป เสียหายเกินไปที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีกันไป เพราะในสังคมก็มีกรอบกฎหมายที่จะช่วยเราในเรื่องนี้อยู่ หรือในบางเรื่องก็เป็นเรื่องที่เปิดโปงและหักล้างได้

โดยภาพรวมนั้นเราคงต้องทำความเข้าใจกระบวนการสามส่วนของการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร (ขอใช้ภาษาง่ายๆ) นั่นก็คือ การสร้าง (creation) การผลิต (production) การเผยแพร่ (distribution) และการเผยแพร่ซ้ำไปเรื่อยๆ หรือที่เรียกว่าผลิตซ้ำ (Rre-production) จากนั้นก็ทำความเข้าใจถึงองค์ประกอบสามประการของความผิดปกติของข้อมูลข่าวสาร ได้แก่ ผู้กระทำการ (agent) ตัวสาร หรือข้อความ (message) และผู้รับสารที่ทำหน้าที่ตีความสิ่งที่รับมา (interpreter)

ในแง่ของผู้กระทำการ หรือผู้สร้างข่าวหรือข้อมูลนั้น เราต้องเข้าใจว่า คนที่ทำข่าว หรือเผยแพร่ข้อมูลนั้น เป็นคนกลุ่มไหน หรือองค์กรไหน มีความเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ (ส่งงานพร้อมผลงาน ใบเสร็จ หรือทำเฉยๆ) มีความเป็นเครือข่ายจริงจังไหม หรือทำคนเดียว แรงจูงใจในการผลิตข้อมูลที่ผิดปกติแต่ละแบบนั้นเป็นไป เพราะเรื่องการว่าจ้างด้วยเงิน เหตุผลทางการเมือง ชนช้ัน หรือจิตวิทยา มีการใช้คนจริงๆ ทำหรือใช้โปรแกรม แล้วพุ่งเป้าไปที่ใคร เช่น กลุ่มของตัวเอง กลุ่มเป้าหมาย หรือภาพรวม อีกทั้งมีเจตนาในการทำร้ายให้ร้ายไหม หรือแค่ระดับให้เข้าใจผิด

(เครดิตภาพจาก blog.sanebox.com)

ส่วนในแง่ของข้อมูลข่าวสารที่ผิดปกตินั้น มีลักษณะที่ทำอย่างเป็นระบบไหม ส่งมาในระยะสั้นๆ หรือทำมานาน หรือทำตามโอกาส ข้อมูลนั้นแค่เป็นข้อมูลจริงแต่ทำให้เข้าใจผิด ดัดแปลงบางส่วน หรือแต่งขึ้นเลย ข้อมูลเหล่านี้ผิดหรือถูกกฎหมาย หรือก้ำกึ่ง มีการแอบอ้างไหม แอบอ้างใคร แอบอ้างอย่างไร และเป้าหมายของสารข้อมูลนี้จะส่งให้ใครสักคน หรือกลุ่มคนเฉพาะ องค์กร หรือสังคมโดยรวม

สำหรับด้านของผู้รับ หรือผู้ตีความนั้น ต้องดูว่าพวกเขาเข้าใจข้อความข้อมูลเหล่านี้อย่างไร เขาจะถูกครอบงำไหม เขาจะลุกมาต่อต้านไหม หรือเขาจะรู้สึกรอมชอมประนีประนอม คือ พอรับได้ และสุดท้ายเมื่อรับสารนี้แล้ว จะก่อให้เกิดการกระทำอย่างไร เช่น ไม่สนใจ ร่วมสนับสนุน หรือร่วมคัดค้าน

ผมไม่เชื่อว่าข่าวฝ่ายไหนถูกทั้งหมด แต่มันจะยิ่งสนุก ถ้าเราในฐานะผู้รับข้อมูลนั้นได้มีโอกาสพิจารณาข้อมูลหลายๆ ฝ่าย แล้วมาดูความซับซ้อนของข้อมูลที่ผิดปกติ ซึ่งสำหรับผมแล้ว ผมเชื่อว่าข้อมูลที่ผิดปกติเป็นความปกติของสังคมในระดับหนึ่ง เพราะมันท้าทายให้เราได้ตระหนักรู้กับพลวัตของภูมิทัศน์สื่อ ความหลากหลายและซับซ้อนของความสัมพันธ์ทางอำนาจ และผลประโยชน์ และทำให้เราเข้าใจตำแหน่งแห่งที่ ผลประโยชน์ และอคติของเราเอง รวมทั้งความมุ่งหวังในการที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่นด้วยครับ

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image