ทิศทางการเมือง ปรองดอง‘สมานฉันท์’ น้ำยา‘บ้วนปาก’

ทิศทางการเมือง ปรองดอง‘สมานฉันท์’ น้ำยา‘บ้วนปาก’

ทิศทางการเมือง ปรองดอง‘สมานฉันท์’ น้ำยา‘บ้วนปาก’

ท่าทีและการแสดงออกในกรณีของ “รัฐธรรมนูญ” มีความสัมพันธ์กับกระบวนการปรองดอง “สมานฉันท์” อย่าง แนบแน่น มิอาจแยกออกจากกันได้

ส.ว.ระดับ นายคำนูณ สิทธิสมาน รู้ดี

พรรคร่วมรัฐบาลอย่าง 1 พรรคประชาธิปัตย์ 1 พรรคภูมิใจไทย หรือแม้กระทั่ง 1 พรรคชาติไทยพัฒนา อันถือว่ามากด้วยความจัดเจน

Advertisement

ก็รู้ในความสัมพันธ์นี้เป็นอย่างดี

สังคมจะเรียนรู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือแม้กระทั่ง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา จริงใจต่อปรองดอง “สมานฉันท์” หรือไม่

สัมผัสได้กับ “รัฐธรรมนูญ”

ในเมื่อรากฐานและความต้องการในการสถาปนารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 คือ การรักษาอำนาจ คือการสืบทอดอำนาจทางการเมืองของ คสช.

จึงยากยิ่งที่จะก่อให้เกิด “สมานฉันท์” ขึ้นได้ในทางเป็นจริง

ถามว่าเหตุใดข้อเสนอในเรื่องปรองดอง “สมานฉันท์” อันมาจากพรรคประชาธิปัตย์ และขับเคลื่อนโดย นายชวน หลีกภัย ในฐานะประธานรัฐสภา จึงมากด้วยอุปสรรค

เกิดอาการยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก

ทั้งๆ ที่ข้ออ้างหนึ่งของ คสช.ในการก่อรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 คือ ต้องการยุติความขัดแย้ง ต้องการสร้างความปรองดอง

แล้วเหตุใดปรองดอง “สมานฉันท์” จึงยากลำบาก

คงจำกันได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยมอบหมายปฏิบัติการปรองดองสมานฉันท์ให้กระทรวงกลาโหมโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวเรือใหญ่

ดึงทั้งพรรคเพื่อไทย ทั้งพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วม

แต่แล้วผลการทำงานโดยกระทรวงกลาโหมในกำกับของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีผลงานอันยิ่งใหญ่

นั่นก็คือ การปรากฏขึ้นของ “น้องเกี่ยวก้อย”

หากเปรียบเทียบกับกรรมการที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เคยพยายาม กับกรรมการที่ นายชวน หลีกภัย ทุ่มเทประสบการณ์และความสามารถ

ต้องยอมรับว่าชุดของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ คึกคักมากกว่า

ขณะที่ชุดของ นายชวน หลีกภัย ยังไม่ทันได้ขยับขับเคลื่อนเพียงมีข่าวการต่อสายไปยังอดีตนายกรัฐมนตรีอย่าง นายอานันท์ ปันยารชุน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

“ปฏิกิริยา” ก็ “สะท้อน” อย่างเฉียบขาด รุนแรง

น่าเศร้าก็ตรงที่เป็นปฏิกิริยาอันมาจากภายในพรรคพลังประชารัฐ น่าเศร้าก็ตรงที่เป็นปฏิกิริยาอันมาจากภายใน 250 ส.ว.

จากนั้น ก็ถูกปฏิเสธจาก “คณะราษฎร 2563”

เมื่อพรรคฝ่ายค้านระดับ 1 พรรคเพื่อไทย 1 พรรคก้าวไกล ปัดปฏิเสธการเข้าร่วม เส้นทางของคณะกรรมการ “สมานฉันท์” ก็ย่อมถูลู่ถูกัง

หันไปมองการแก้ไข “รัฐธรรมนูญ” ก็ยิ่งหมดหวัง

หากเส้นทางของรัฐธรรมนูญยังติดอยู่กับการรักษาอำนาจ ยังติดอยู่กับการสืบทอดอำนาจ ก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่ความพยายามในการสมานฉันท์จะบังเกิด

เพราะนี่คือความเป็นจริงของ “รัฐธรรมนูญ”

ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวร พ.ศ.2560 ล้วนดำเนินไปเพื่อการรักษาและการสืบทอดอำนาจ

ปรองดอง สมานฉันท์ จึงเสมอเป็นเพียง “น้ำยาบ้วนปาก”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image