สถานีคิดเลขที่ 12 : เลือกตั้งท้องถิ่น

สถานีคิดเลขที่ 12 : เลือกตั้งท้องถิ่น

สถานีคิดเลขที่ 12 : เลือกตั้งท้องถิ่น

วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม 2563 จะมีการเลือกตั้งนายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ทั่วประเทศ ถือเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกสุด หลังการรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา

แม้การเลือกตั้ง นายก อบจ. และ ส.อบจ. จะผูกพันอยู่กับแนวคิดเรื่อง “การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น”

ขณะเดียวกัน ตามความเข้าใจของหลายคน ภาระหน้าที่ของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น นายก อบจ. ก็คือการบริหารงบประมาณจำนวนไม่น้อย เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในจังหวัด

Advertisement

แต่ก็มิอาจปฏิเสธได้ว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้นยังเชื่อมโยงกับมิติอื่นๆ ซึ่งอยู่นอกเหนือจากเรื่องของท้องถิ่นหรือเรื่องราวภายในจังหวัดหนึ่งๆ

แม้จะมีข้อห้ามไม่ให้นักการเมืองระดับชาติอย่าง ส.ส.-ส.ว. ช่วยผู้สมัครนายก อบจ. และ ส.อบจ. หาเสียง

ทว่าพรรคการเมืองก็สามารถส่งผู้สมัครในการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ (รวมทั้งสนับสนุนโดยไม่เปิดชื่อพรรคตรงๆ)

Advertisement

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มการเมือง เช่น คณะก้าวหน้า ที่ส่งผู้สมัครลงในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

เป็นการเลือกตั้งนายก อบจ. ที่เชียงใหม่ ที่ทำให้คนทั่วประเทศได้เห็นกระบวนท่าการฟาดฟันกันอย่างดุเดือดระหว่าง “พิชัย เลิศพงศ์อดิศร” ผู้สมัครพรรคเพื่อไทย ที่ได้แรงหนุนเป็นจดหมายเปิดผนึกจาก 2 อดีตนายกรัฐมนตรี “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” กับ “บุญเลิศ บูรณุปกรณ์” ซึ่งถูกมองว่าตีห่างออกจากฝั่งเพื่อไทย และได้รับแรงช่วยจาก “จตุพร พรหมพันธุ์”

ในแง่นี้ การเลือกตั้งท้องถิ่นจึงผูกพัน-แปรผันอยู่กับภาวะกระเพื่อมในพรรคการเมืองใหญ่ฝ่ายค้าน รวมถึง “ความแตกร้าว?” ในกลุ่มคนเสื้อแดง

ขณะที่จังหวะเคลื่อนของคณะก้าวหน้า ก็ยิ่งมีความชัดเจนว่าปัญหาเฉพาะของแต่ละท้องถิ่นและการให้ความสำคัญกับเรื่องการกระจายอำนาจนั้น สามารถถูกนำมาเชื่อมร้อยกับความฝันยิ่งใหญ่ที่จะเปลี่ยนแปลงการเมืองในระดับชาติ

แพคเกจทางการเมืองเช่นนี้มีความแข็งแรงโดดเด่น จนก่อให้เกิดแนวทางการต่อต้านด้วยข้อความ “หนักแผ่นดิน” ซึ่งเป็นปึกแผ่นไม่ต่างกัน

กระทั่งพรรคการเมืองฟากรัฐบาลเองก็คงไม่ได้ลงสนามเลือกตั้งท้องถิ่นคราวนี้เพียงเพื่อหวังจะคุมจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง แต่อย่างน้อยที่สุด การคุมจังหวัดก็อาจหมายถึงความได้เปรียบในสนามเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งหน้าด้วย

ถึงแม้การจัดเลือกตั้งนายก อบจ. และ ส.อบจ. เที่ยวนี้ คล้ายจะไม่เอื้ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมชนิดเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์

ทั้งเพราะการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 20 ธันวาคม ที่ถูกขนาบด้วยช่วงหยุดยาวทั้งก่อนหน้าและคล้อยหลัง

รวมถึงการไม่มีวันเลือกตั้งล่วงหน้าหรือการเลือกตั้งนอกเขต

แต่ท้ายที่สุด เสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็ยังเป็นคำตอบสุดท้ายของทุกการเลือกตั้ง และเสียงเหล่านี้มักยากจะคาดเดาเสมอ

จนถึงบัดนี้ ยังไม่มีใครทราบได้อย่างกระจ่างชัดว่าประชาชนจำนวนมากจะออกไปเลือกตั้งท้องถิ่นด้วยจุดประสงค์ใดกันแน่?

เพื่อแก้ปัญหาในจังหวัด? เพื่อตอบโจทย์เฉพาะหน้าบางอย่าง? เพื่อสนับสนุนบุคคลที่มีบารมีหรือบ้านใหญ่ในพื้นที่? เพื่อสนับสนุนพรรค/กลุ่มการเมืองที่ตนเชื่อมั่น? เพื่อย้ำจุดยืนของเสื้อสีที่ตนสังกัด? เพื่อต่อต้านคนหนักแผ่นดิน? หรือเพื่อการเมืองระดับชาติที่ดีกว่าเดิม?

คำตอบต่อชุดคำถามดังกล่าวจะปรากฏให้เห็นโดยชัดเจนในสัปดาห์หน้า

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image