ดร.แดน เสนอสร้างนวัตกรรมการศึกษา ลดเวลาเรียนเหลือ 16 ปี (1)

ดร.แดน เสนอสร้างนวัตกรรมการศึกษา ลดเวลาเรียนเหลือ 16 ปี

ดร.แดน เสนอสร้างนวัตกรรมการศึกษา ลดเวลาเรียนเหลือ 16 ปี (1)

อาจารย์เลี้ยงลูกอย่างไร ช่วยทำให้เด็กนักเรียนไทยเป็นอย่างนั้น

ปัจจุบันเด็กนักเรียนของประเทศไทยเราใช้ระยะเวลาอยู่ในระบบการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมหาวิทยาลัยทั้งหมด 19 ปี ประกอบด้วย ระดับอนุบาล 3 ปี ระดับประถมศึกษา 6 ปี ระดับมัธยมศึกษา 6 ปี และระดับมหาวิทยาลัย 4 ปี

ผมเสนอความคิดนวัตกรรมทางการศึกษา ให้ปรับลดเวลาเรียนและเพิ่มคุณภาพการจัดการศึกษาเป็น 16 ปี ประกอบด้วย ระดับอนุบาล 3 ปี ระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาปรับลดเวลาลงจาก 12 ปี เป็น 10 ปี และระดับมหาวิทยาลัยจาก 4 ปี เป็น 3 ปี โดยให้มีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้กระชับ ยืดหยุ่น โดยจัดสรรเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งช่วงเวลาเรียน ช่วงวันหยุด และช่วงปิดเทอม ให้เป็นเวลาแห่งการเรียนรู้ทั้งหมด ไม่ปล่อยให้มีเวลาว่างอย่างไร้ประโยชน์

Advertisement

ตัวอย่างลูกชายคนโตของผม สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปริญญาตรี 3 ปริญญา ทางด้านเศรษฐศาสตร์ (Economics) วิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโททางสถิติ (Statistics) ด้วยวัยเพียง 20 ปี หลังจากนั้นจึงศึกษาต่อระดับปริญญาโททางการเงินที่ Princeton และระดับปริญญาเอกทางการเงินจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ Wharton ลูกชายทั้ง 2 คนของผมเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก จากประสบการณ์การเลี้ยงดูลูกของผม เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าหากเด็กนักเรียนมีการบริหารจัดการการเรียนได้ดี มีประสิทธิภาพ และมีความกระตือรือร้นในการเรียน การลดระยะเวลาเรียนมิใช่เป็นสิ่งที่ยากเกินความสามารถและทำให้ผลการเรียนแย่ลงแต่อย่างใด

นอกจากนี้ การลดเวลาเรียนในแง่หนึ่งยังจะช่วยพัฒนาคุณลักษณะชีวิตที่ดีงามให้แก่เด็กนักเรียนอีกด้วย อาทิ การมีวินัย การรู้จักบริหารจัดการเวลา การมีความรับผิดชอบ ความขยันพากเพียร เป็นต้น เป็นการฝึกให้เด็กนักเรียนรู้จักใช้เวลาอย่างมีเป้าหมาย เกิดประสิทธิภาพ คุ้มค่าสูงสุด การออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนควรให้มีความสมดุลครบถ้วน ทั้งการพัฒนาความรู้วิชาการ การเสริมสร้างทักษะ และการสร้างลักษณะชีวิตที่ดีงาม (2) ทำให้การเรียนมีความสนุกสนาน เหมาะสมกับพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนในแต่ละช่วงวัย สร้างแรงจูงใจให้เด็กนักเรียนอยากเรียนรู้ รักการเรียนรู้ พร้อมกันนี้ควรพัฒนาครูผู้สอนให้มีความเป็นมืออาชีพ มีความเชี่ยวชาญในการจัดการเรียนการสอน เริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิตนักศึกษาครู

อีกแนวทาง การดำเนินการในภาคปฏิบัติอาจเริ่มต้นจากการแบ่งระดับโรงเรียนตามคุณภาพการจัดการศึกษา อาทิ โรงเรียนคุณภาพระดับดีเลิศ โรงเรียนคุณภาพระดับปานกลาง และโรงเรียนคุณภาพระดับต้องปรับปรุง การลดเวลาเรียนอาจจะเริ่มจากโรงเรียนที่มีคุณภาพระดับดีเลิศก่อน ด้วยว่าเป็นกลุ่มโรงเรียนที่มีความพร้อมและมีศักยภาพสามารถทำได้ อาทิ กลุ่มโรงเรียนสาธิต เป็นต้น ด้วยการคัดเลือกโรงเรียน ทดลองทำเป็นโครงการนำร่อง ถอดบทเรียน และพัฒนาปรับปรุงหลักสูตร จนมั่นใจว่าเป็นประโยชน์แท้จริง หลังจากนั้นจึงขยายความคิดไปยังโรงเรียนอื่นๆ ตามศักยภาพของโรงเรียนและเด็กนักเรียนต่อไป โดยให้ลดเวลาการเรียนลง แต่ยังคงครบถ้วนในเนื้อหาสาระ เป้าหมายมุ่งให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดทางการศึกษา

Advertisement

การศึกษาที่มีคุณภาพขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการเรียนจริงหรือ? หากสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุณภาพอาจจะไม่ขึ้นอยู่กับระยะเวลาเสมอไป

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

(1) นำเสนออย่างเป็นทางการในการปาฐกถาหัวข้อ นวัตกรรมการศึกษาเพื่อการพัฒนาสังคมสู่ความยั่งย่ืน การประชุมวิชาการและนำเสนอผลงานวิจัยระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 6 จัดโดย มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสถาบันระดับอุดมศึกษา ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18 สถาบัน และต่างประเทศ 3 สถาบัน ณ หอประชุมประภากรคอนเวนชั่นฮอลล์ มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเห

(2) ความรู้ ทักษะ ลักษณะชีวิต อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, คนเก่งสร้างได้ : อารยโมเดลสมรรถนะ KSL31220 (กรุงเทพฯ : ซัคเซส มีเดีย, 2559).

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image