สถานีคิดเลขที่ 12 : คนกลาง

สถานีคิดเลขที่ 12 : คนกลาง ตามหามานานว่าประเทศไทยจะมี “คนกลาง”

สถานีคิดเลขที่ 12 : คนกลาง

ตามหามานานว่าประเทศไทยจะมี “คนกลาง” มาแก้ไขสถานการณ์ความขัดแย้งทางความคิดเช่นไร
ตามหามาหลายเพลา ได้เห็นความพยายามจากหลายฝ่ายที่จะผลักดันให้อีกหลายคนเข้ามาทำหน้าที่
ล่าสุดรัฐสภาได้มีมติให้แสวงหาบุคคลเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์
แต่เมื่อกลุ่มราษฎรไม่ร่วม พรรคฝ่ายค้านก็เมิน
คณะกรรมการสมานฉันท์ก็แทบจะหมดความศักดิ์สิทธิ์ลง
จึงต้องมองหา “คนกลาง” กันอีกครั้ง

บังเอิญมาได้ฟัง อาจารย์โภคิน พลกุล ที่เพิ่งลาออกจากพรรคเพื่อไทยเสนอไอเดีย
อาจารย์โภคินบอกว่า วิธีการลดความขัดแย้งในสถานการณ์เช่นนี้มีอยู่ทางเดียว
นั่นคือ “คืนอำนาจให้ประชาชน”
การเปิดให้เลือกตั้ง ส.ส.ร.ตามที่พรรคฝ่ายค้านเสนอนั้นคือ ทางออก

ฟังอาจารย์โภคินแล้วนำมาทบทวน สรุปว่าเงื่อนไขความขัดแย้งครั้งนี้คือการรัฐประหาร
เมื่อรัฐประหารแล้ว คสช.เข้าบริหารประเทศ เดิมทีจะเป็น “คนกลาง”
แต่อยู่ไปอยู่ไปกลายเป็นคู่ขัดแย้งกับกลุ่มคัดค้าน
ต่อมามีการยกร่างรัฐธรรมนูญ กลไกของรัฐธรรมนูญก็เอื้อต่อ คสช.

Advertisement

ขณะที่รัฐธรรมนูญคือกฎกติกาของชาติ กฎหมายฉบับต่างๆ ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ
พอรัฐธรรมนูญเอื้อต่อ คสช. หากจะแก้ไขความขัดแย้ง จึงต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างใหม่
ผู้ที่จะทำหน้าที่รับผิดชอบกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี่ควรจะเป็น “คนกลาง”
แต่ประเทศไทยหา “คนกลาง” ไม่เจอ

ดังนั้น การเปิดให้เลือกตั้ง ส.ส.ร.ทั้งหมด แล้วให้ ส.ส.ร.เป็น “คนกลาง” ทำหน้าที่วางแนวทางยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่น่าจะเป็นอีกหนึ่งความหวัง
หวังที่จะให้ตัวแทนของประชาชนเข้ามาทำภารกิจเดียว นั่นคือ ยกร่างรัฐธรรมนูญ

ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาทำหน้าที่ยกร่าง
ยกร่างกันแล้วส่งทำประชามติเพื่อให้ประชาชนยืนยันเจตนารมณ์อีกครั้ง
วิธีการนี้เท่ากับแยกกลไกของรัฐธรรมนูญฉบับเดิมออกไป
การกำหนดวิธีการร่าง การยกร่าง และการตัดสินใจรับหรือไม่รับร่าง
ล้วนแล้วแต่ “คืนอำนาจให้ประชาชน” ตัดสินใจ

Advertisement

ประชาชนย่อมมีทั้งฝ่ายที่ชอบรัฐบาล และฝ่ายที่ไม่พอใจรัฐบาล
ประชาชนมีทั้งฝ่ายที่พอใจกลุ่มผู้ชุมนุม และฝ่ายที่ไม่ชอบกลุ่มผู้ชุมนุม
ประชาชนมีทั้งผู้สูงวัยซึ่งมีความคิดแบบหนึ่ง และมีทั้งวัยรุ่นที่มีความคิดแบบของเขา
ดังนั้น การเปิดทางให้เลือกตั้ง ส.ส.ร. จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการแสวงหาตัวแทนผู้ที่มีความคิดแตกต่างเข้าสู่ระบบ

หลังจากนั้นปล่อยให้กระบวนการใน ส.ส.ร.หาจุดลงตัวในการยกร่างรัฐธรรมนูญ
ยกร่างรัฐธรรมนูญโดย ส.ส.ร. ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน
เป็นตัวแทนที่ได้จากการเลือกตั้งโดยตรง
ไม่มีสัดส่วน ไม่มีบัญชีรายชื่อ

ทุกอย่างมอบให้ “ประชาชน” เลือก และมอบให้ “ประชาชน” โหวต
ทำได้เช่นนี้ประชาชนทำหน้าที่เป็น “คนกลาง” ในสถานการณ์ความขัดแย้งไปโดยอัตโนมัติ

นฤตย์ เสกธีระ
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image