จิตวิวัฒน์ : กับดักการรับรู้ (2) : โลกหมุนรอบตัวเรา หรือตัวเราหมุนรอบโลก

จิตวิวัฒน์ : กับดักการรับรู้ (2) : โลกหมุนรอบตัวเรา หรือตัวเราหมุนรอบโลก

จิตวิวัฒน์ : กับดักการรับรู้ (2) : โลกหมุนรอบตัวเรา หรือตัวเราหมุนรอบโลก

บ่อยครั้งที่เมื่อเราขาดสติ ขาดการพิจารณาใคร่ครวญทบทวนความเป็นไป และความเป็นจริงของสรรพสิ่งและตัวเรา อย่างลุ่มลึกรอบด้าน เราก็มักจะเผลอตัวคิดว่าโลกและสรรพสิ่งหมุนรอบตัวเรา ในความหมายที่ว่าเราเป็นศูนย์กลางของโลกของสรรพสิ่ง จะรับรู้และตีความผู้อื่น สิ่งอื่น ว่าถูก-ผิด เหมาะสม-ไม่เหมาะสม ดี-ชั่ว ตามความคิด ความเชื่อ ตามเกณฑ์ของเราเอง มองในแง่หนึ่ง ก็ดูเหมือนจะเป็นคนที่เป็นตัวของตัวเอง มีความเชื่อมั่นในตนเอง แต่ในอีกแง่หนึ่งก็อาจเป็นคนที่ไม่ยอมรับ ไม่เคารพในการกระทำ คำพูด ความคิดความเชื่อของคนอื่น บางคนก็ถึงขั้นใส่ร้าย โจมตี ทำร้าย ผู้อื่นที่มีการกระทำ คำพูด ความคิดความเชื่อที่ไม่เหมือนของตนเอง

ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราเผลอตัวคิดไปว่าตัวเราหมุนรอบโลก ในความหมายที่ว่าโลก (สังคม กลุ่ม) เป็นศูนย์กลาง เราตามเขาไป ในแง่หนึ่งเราก็เป็นคนที่ไม่แปลกแยกไปจากโลก จากสังคม ปฏิบัติตนตามเกณฑ์และมาตรฐานของสังคม แต่ในอีกแง่หนึ่งเราก็อาจเป็นคนที่ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่เชื่อมั่นในตนเอง…

มนุษย์มักติดกับดักการรับรู้ของตนเองในลักษณะ โลกหมุนรอบตัวเรา หรือไม่ก็ ตัวเราหมุนรอบโลก ในความหมายที่ใช้กันทางสังคมศาสตร์ และทางจิตวิทยา ดังที่ได้ยกตัวอย่างไว้ข้างต้น

Advertisement

การคิด การพูด และการทำ แบบแยกส่วน เบ็ดเสร็จเด็ดขาดดังกล่าว อาจเป็นประโยชน์ และใช้ได้ในบางเวลา กับบางสถานการณ์ หากเรามีสติและรู้เท่าทันการคิด การพูด และการกระทำเหล่านั้น เช่น การโต้แย้ง โต้เถียงกันในแวดวงวิชาการเฉพาะทาง เพื่อเป้าหมายเฉพาะหนึ่งใด ตัวอย่างเช่นในการทำวิจัย เราจะมีการกำหนดความหมายเฉพาะของคำหลัก (Key Words) ที่ใช้ในการวิจัยครั้งนั้นๆ ไว้เสมอ ในวงวิชาการเราเรียกว่า คำนิยามปฏิบัติการ (Operational Definition) และมีการกำหนดขอบเขตการวิจัยไว้ เพื่อให้เข้าใจตรงกันระหว่างผู้วิจัยและผู้อ่านงานวิจัย เป็นต้น

ความจริง จริงๆ แล้วมีเพียงหนึ่งเดียว จริงหรือไม่? หากเราเชื่อว่า สรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลง แล้วจะมีความจริงเพียงหนึ่งเดียวที่คงที่ตลอดไปหรือเปล่า? หรือความจริงขึ้นอยู่กับการรับรู้และการตีความของแต่ละคน แต่ละศาสตร์ แต่ละเวลา แต่ละสถานที่ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ ความคิด ความเชื่อของแต่ละคนที่แตกต่างกันออกไปการสื่อสารกัน โดยเฉพาะการสื่อสารเชิงประเมิน ที่มีการตัดสินว่าอะไรถูก-ผิด ควร-ไม่ควร…หากโต้แย้งโต้เถียงกันไปโดยไม่ระบุเกณฑ์ที่ใช้ให้ชัดเจน ก็จะหาข้อสรุปได้ยาก เพราะต่างคนต่างคิด และตัดสินตามเกณฑ์ (ความคิด ความเชื่อ อคติส่วนบุคคล) ของตนเอง ทั้งที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม

ในทางวิทยาศาสตร์ โลกไม่ได้หมุนรอบตัวเรา และเราก็ไม่ได้หมุนรอบโลก โลกไม่ได้หมุนตามเรา และเราก็ไม่ได้หมุนตามโลก แต่เราหมุนไปกับโลก แม้เราจะเดินไปในทิศทางตรงกันข้ามกับที่โลกหมุน เช่น สมมุติว่าโลกหมุนไปทางซ้าย แต่เราเดินสวนทางไปทางขวา เราก็ยังคงหมุนไปกับโลกอยู่ดี ด้วยความจริงที่ว่าเราเดินอยู่บนผิวโลก

Advertisement

ในทางจิตวิทยา การยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง (โลกหมุนรอบตัวเรา) นักจิตวิทยาเรียกว่า Self-centered หรือ Ego-centric คนทั่วๆ ไปอาจจะพูดว่าเป็นคนเอาแต่ใจตนเองหรือเห็นแก่ตัว ในทางตรงกันข้าม หากเรายึดเกณฑ์ปกติทางสังคม (Social Norms) เป็นหลักคิดและแนวปฏิบัติ ในทางสังคมวิทยา ถือเป็นการให้การยอมรับและเคารพในเกณฑ์มาตรฐานทางสังคม และในขณะเดียวกัน เราก็จะได้รับการยอมรับจากสังคมด้วย ดังคำกล่าวทั่วๆ ไปที่เราเคยได้ยินว่า “เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม”

ในทางพุทธ สรรพสิ่ง รวมทั้งโลกและตัวเรา เป็นไปตามไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และอิทัปปัจจยตา คือความสัมพันธ์เชื่อมโยงของสรรพสิ่ง (IOT-Interconnectedness of Things) เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด

ในทางอนาคตศาสตร์ เรา (มนุษย์) จะต้องทำตัวเป็นผู้สร้าง ผู้ทำลาย และผู้กำกับควบคุมอนาคต โดยเลือกสร้างอนาคตที่เป็นไปได้และพึงประสงค์ ทำลายอนาคตที่เป็นไปได้แต่ไม่พึงประสงค์ให้หมดไป โดยเริ่มตั้งแต่ปัจจุบัน และในระหว่างทาง ก็หาทางกำกับควบคุมให้อนาคตเป็นไปในทิศทางที่พึงประสงค์เท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อประโยชน์สุขร่วมกันของสังคมที่พึงประสงค์โดยรวม

ศาสตร์แต่ละศาสตร์ต่างก็มีแนวคิดและแนวปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป ที่ยกขึ้นมาให้เห็น ก็เพื่อให้เกิดการตระหนักว่า ในระดับศาสตร์ยังมีความแตกต่าง ในระดับบุคคลจึงไม่แปลกอะไรที่จะมีความแตกต่าง ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า เราจะอยู่กันอย่างไรอย่างสันติสุขท่ามกลางความแตกต่างที่หลากหลายทั้งในระดับบุคคล กลุ่ม องค์กร สถาบันทางสังคม และประเทศชาติ

ข้อเสนอแนะเบื้องต้นคือ
1.เริ่มต้นจากตนเอง ด้วยการพยายามทำลายกับดักการรับรู้ ที่เรายึดติดหรือถูกจองจำไว้ ด้วยการเปิดใจเรียนรู้เพื่อที่จะเข้าใจตนเองอย่างถ่องแท้ใคร่ครวญทบทวน สำรวจ และศึกษาความต้องการ ความคาดหวัง ความคิด ความเชื่อ ความรู้ ความชอบ ความไม่ชอบของตนเอง จุดมุ่งหมายของชีวิต อะไรรู้แล้ว มีแล้ว ได้แล้ว อะไรที่ยังไม่รู้ ยังไม่มี ยังไม่ได้ ลองใคร่ครวญทบทวน เรียนรู้ และปรับปรุงตนเองไปเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง อาจลองฝึกตั้งคำถามและหาคำตอบกับตัวเองในทำนองนี้ดูก็ได้ เช่น ทำไมเราต้องคิด เชื่อ พูด และทำ แบบนี้? มันเป็นความคิด ความเชื่อ การพูด และการกระทำที่ดี ที่งาม ที่เหมาะ ที่ควร หรือไม่? เราจะคิด เชื่อ พูด และทำแบบอื่นได้ไหม? ดีไหม? ดีกว่าไหม? เพราะอะไร? เมื่อรู้จักและเข้าใจตนเองถ่องแท้เพิ่มมากขึ้น ก็ค่อยๆ เปิดเผยความเป็นตัวตนตามที่เรารับรู้และเข้าใจให้ผู้อื่นได้รับรู้และเข้าใจด้วย

2.เปิดใจเรียนรู้เพื่อที่จะเข้าใจผู้อื่น กลุ่มอื่น สังคมอื่น มีอะไรที่เรารู้แล้ว เข้าใจแล้ว มีอะไรที่เรายังไม่รู้ ไม่เข้าใจ มีอะไรที่แตกต่างไปจากเรา เพราะอะไรจึงแตกต่าง?

3.ตั้งใจฝึกทำตัว ทำจิตใจให้สดใส เบิกบาน คิดดี พูดดี ทำดี กับตัวเอง ผู้อื่น และสรรพสิ่ง

หากฝึกปฏิบัติตนตาม 1-2-3 ได้ดี จะช่วยให้เรารู้จักและเข้าใจตัวเราเอง รู้จักและเข้าใจผู้อื่น และสรรพสิ่งได้ดีขึ้น ส่งผลให้สัมพันธภาพระหว่างเรากับผู้อื่น และสรรพสิ่งเป็นไปด้วยดี อย่างเป็นธรรมชาติ เป็นองค์รวม ไม่แยกส่วนแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ที่สำคัญ ไม่ติดกับดักการรับรู้ของตนเองจนถอนตัวไม่ขึ้น แล้วไปเที่ยวตัดสินผู้อื่นตามเกณฑ์ (ความคิด ความเชื่อส่วนตน ส่วนกลุ่ม ศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม) ของตนเองฝ่ายเดียว ทั้งที่รู้ตัว (เลือกรับรู้/อคติ) และไม่รู้ตัว (ขาดสติ)

ลองมาทลายและก้าวข้ามกับดักการรับรู้ของตนเองกันดูนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image