ทำความรู้จัก ออกซ์ฟอร์ด-แอสทราเซเนกา วัคซีนที่ไทยเลือก

วัคซีนโควิด (แฟ้มภาพ)

ทำความรู้จัก ออกซ์ฟอร์ด-แอสทราเซเนกา วัคซีนที่ไทยเลือก

วัคซีนโควิด – เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ตัวแทนของรัฐบาลไทยลงนามในสัญญาจัดซื้อวัคซีนที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ร่วมกับบริษัทแอสทราเซเนกาของประเทศอังกฤษ จำนวน 26 ล้านโดส ซึ่งเพียงพอต่อการฉีดให้กับประชาชน 13 ล้านคน หรือราว 20 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนประชากรทั้งหมด 69 ล้านคน

นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ไฟแนนเชียล ไทมส์ เผยแพร่เมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา ระบุว่า เป้าหมายสำหรับปี 2564 ของไทยคือ การจัดหาวัคซีนให้มากพอสำหรับการฉีดให้กับประชาชนราวครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศในปีหน้า ก่อนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2565 ซึ่งเป็นสัดส่วนของประชากรที่ได้รับวัคซีนมากเพียงพอต่อการก่อให้เกิด เฮิร์ด อิมมูนิตี หรือ ภูมิคุ้มกันหมู่ สำหรับป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศขึ้นได้

นั่นหมายความเพียงแค่วัคซีนจากแอสทราเซเนกา เพียงบริษัทเดียวยังไม่เพียงพอ

นายแพทย์นครยืนยันว่า ไทยยังคงอยู่ระหว่างการเจรจากับวัคซีนอีกหลายบริษัท รวมทั้งบริษัทผู้ผลิตจากจีน, รัสเซีย และอินเดีย เพื่อ นำเข้าวัคซีนเพิ่มเติม

Advertisement

ที่น่าสนใจก็คือ วัคซีนออกซ์ฟอร์ด-แอสทราเซเนกา ที่จะใช้ในประเทศไทยนั้นผลิตโดยบริษัทคนไทย คือ สยามไบโอไซเอนซ์ ภายใต้ความร่วมมือกับแอสทราเซเนกา ที่ยินดีถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตให้
ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติระบุว่า การผลิตวัคซีนได้เองนั้นถือเป็น ความมั่นคงของชาติ ประการหนึ่ง เนื่องจากโรคระบาดอุบัติใหม่ไม่น่าจะจำกัดอยู่แค่เพียงโควิด-19 นี้เท่านั้น หากแต่ยังจะมีเกิดขึ้นอีกในอนาคต

นายแพทย์นครระบุว่า ตามความเข้าใจของตนเอง การผลิตวัคซีนดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นแล้ว กระบวนการผลิตเพื่อให้ได้วัคซีน 20 ล้านโดส ใช้เวลาราว 4-5 เดือน ดังนั้น กระบวนการฉีดวัคซีนให้กับคนไทยโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ก็สามารถเริ่มได้ไม่เกินเดือนกรกฎาคม ปี 2564

แต่ท่ามกลางการระบาดหนักอีกระลอกของโควิด-19 ในประเทศไทยในตอนปลายปี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลเตรียมเจรจาเพื่อจัดซื้อวัคซีนจากผู้ผลิตทุกราย เพื่อให้สามารถจัดซื้อวัคซีนจำนวนไม่น้อยกว่า 2 ล้านชุด ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน เพื่อให้สามารถเริ่มโครงการฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่ต้นปี

Advertisement

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้มีเพียงแค่วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ ออกซ์ฟอร์ด-แอสทราเซเนกา เพียงตัวเดียวเท่านั้นที่ไทยจัดซื้อได้แน่นอนแล้ว

รีคอมบิแนนต์วัคซีน

วัคซีนที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ร่วมกับบริษัท แอสทราเซเนกา มีชื่อรหัสเรียกว่า ChAdOx1 nCoV-19 (แชดออกซ์วัน เอ็นโควีไนน์ทีน) หรือชื่อทางการค้าว่า โควีชีลด์ (Covishield) ผลิตด้วยเทคโนโลยี รีคอมบิแนนต์ ที่คุ้นเคยกันดี ซึ่งแตกต่างจากเทคโนโลยี เอ็มอาร์เอ็นเอ ที่ใช้ในการผลิตวัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค และโมเดอร์นา ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่เอี่ยม จึงเรียกว่าเป็นชนิด รีคอมบิแนนต์วัคซีน

เทคโนโลยี รีคอมบิแนนต์ คือวิธีการผลิตวัคซีนโดยใช้การปรับปรุง (โมดิฟาย) เชื้อไวรัสที่พบเห็นอยู่ทั่วไปมาใช้ในการผลิต ในกรณีของออกซ์ฟอร์ด ก็คือ เชื้อ อะดีโนไวรัส ซึ่งเป็นตัวการก่อโรคหวัดทั่วไปในลิงชิมแปนซี การโมดิฟายดังกล่าวเปลี่ยนแปลงให้อะดีโนไวรัสอ่อนฤทธิ์ลง และให้มีสารพันธุกรรมจาก ซาร์ส-โควี-2 ที่เป็นไวรัสก่อโรคโควิด-19 รวมอยู่ในตัวด้วย และเป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อต้านหรือยับยั้งการกระจายของเชื้อในร่างกายนั่นเอง

ข้อดีประการหนึ่งของรีคอมบิแนนต์วัคซีน ก็คือ สามารถผลิตได้โดยง่ายและผลิตได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ผลิตวัคซีนกันมานานหลายสิบปีแล้ว มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เอง อยู่ระหว่างการศึกษาการใช้เชื้ออะดีโนไวรัสเป็นหลักเพื่อผลิตวัคซีนสำหรับโรคอื่นๆ หลายโรคอยู่ก่อนแล้วเมื่อเกิดการระบาดของ
โควิด-19 ขึ้น รวมทั้งการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคซิกา ที่ระบาดหนักในบราซิลก่อนหน้านี้

ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดเริ่มการทดลองในคนระยะที่ 1 เมื่อเดือนเมษายน 2563 โดยการฉีดให้กับกลุ่มตัวอย่างอาสาสมัครมากกว่า 1,000 คน ในสหราชอาณาจักร ต่อด้วยการทดลองในคนระยะที่ 3 ที่ใช้กลุ่มตัวอย่างอาสาสมัครเกือบ 24,000 คน อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ในอังกฤษ, บราซิล และแอฟริกาใต้
ผลการทดลองในคนระยะที่ 3 ที่เป็นผลการทดลองเบื้องต้น เผยแพร่ออกมาเมื่อต้นเดือนธันวาคม

เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม สำนักงานควบคุมเวชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์สุขภาพ (เอ็มเอชอาร์เอ) ของอังกฤษ อนุมัติให้นำวัคซีนออกซ์ฟอร์ด-แอสทราเซเนกา มาฉีดให้กับประชาชนเป็นการทั่วไปได้ ถือเป็นวัคซีนตัวที่ 2 ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ได้ในอังกฤษต่อจากวัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค

กระบวนการทำงาน

รีคอมบิแนนต์วัคซีนของ แอสทราเซเนกา-ออกซ์ฟอร์ด ใช้ชิ้นส่วนเล็กๆ ของพันธุกรรมของไวรัสซาร์ส-โควี-2 ที่ใส่เข้าไปในอะดีโนไวรัส เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยหน่วยพันธุกรรมที่นำมาใช้นั้นเป็นหน่วยพันธุกรรมในส่วนที่ทีมพัฒนาต้องการเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมด ดังนั้น จึงไม่ก่อให้เกิดการติดเชื้อขึ้น

พันธุกรรมของไวรัสก่อโรคโควิด-19 ที่แอสทราเซเนกานำมาใช้ในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในคราวนี้ก็คือ พันธุกรรมส่วนที่กำหนดให้สร้างหนามโปรตีนขึ้นเท่านั้นเอง

รีคอมบิแนนต์วัคซีน โดยทั่วไปแล้วมีความปลอดภัยสูงต่อการนำมาใช้กับกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ รวมทั้งกลุ่มประชากรที่มีปัญหาสุขภาพเรื้อรัง หรือในกลุ่มคนที่มีความผิดปกติของภูมิคุ้มกันอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม รีคอมบิแนนต์วัคซีนมีจุดอ่อนอยู่ด้วย เพราะจำเป็นต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นเป็นระยะ แบบเดียวกับวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ (pneumococcal vaccines), วัคซีนป้องกันงูสวัด (shingles vaccine) และวัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น (vaccines for meningococcal disease) เป็นต้น

แต่การใช้อะดีโนไวรัสเพื่อผลิตวัคซีนนี้ ยังอาจก่อให้เกิดปัญหาขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน เพราะอะดีโนไวรัสนั้นพบได้ทั่วไปจนอาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่เกิดการตอบสนองเมื่อฉีดวัคซีนกระตุ้น หรือไม่ก็เกิดปัญหาในคนที่มีภูมิคุ้มกันอะดีโนไวรัสอยู่ในตัวก่อนแล้วอีกด้วย

ประสิทธิภาพของวัคซีน

ออกซ์ฟอร์ด-แอสทราเซเนกา ทดลองประสิทธิภาพของวัคซีนในกลุ่มตัวอย่างในระยะแรกสุดอายุระหว่าง 18 ปี ถึง 55 ปี ต่อมาเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ได้ขยายการทดลองออกไปครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป

ข้อที่น่าสังเกตก็คือ แอสทราเซเนกาเคยประกาศการทดลองในกลุ่มเด็กเล็ก แต่ข้อมูลเกี่ยวกับการทดลองในกลุ่มนี้ถูกถอดออกจากเว็บไซต์ของบริษัท โดยไม่มีการชี้แจงสาเหตุใดๆ

การทดลองทำโดยการฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มตัวอย่าง 2 เข็ม ในระยะเวลาห่างกัน 1 เดือน ในรายงานผลการทดลองเบื้องต้นของบริษัทระบุไว้ว่า ประสิทธิภาพโดยเฉลี่ยของวัคซีนจากการทดลองดังกล่าวอยู่ที่ 70 เปอร์เซ็นต์ ค่าเฉลี่ยนี้คำนวณจากประสิทธิภาพในการเกิดภูมิคุ้มกันเมื่อฉีดเข็มแรกซึ่งอยู่ที่ 62 เปอร์เซ็นต์ กับ 90 เปอร์เซ็นต์ เมื่อฉีดเข็มที่สอง

หลังการเผยแพร่ผลทดลอง ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ตรวจสอบพบ ความคลาดเคลื่อนŽ ที่เกิดขึ้นระหว่างการทดลอง โดยพบว่ากลุ่มทดลองได้รับวัคซีนที่มีปริมาณโดสไม่เท่ากัน แต่ความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นกลับเป็นความคลาดเคลื่อนที่ โชคดีŽ เพราะผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า เมื่อฉีดวัคซีนที่มีปริมาณโดสเต็ม (full dose) ประสิทธิภาพในการเกิดภูมิคุ้มกันอยู่ที่เพียง 62 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อให้วัคซีนที่มีปริมาณโดสเพียงครึ่งเดียวประสิทธิภาพกลับเพิ่มเป็น 90 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม ความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นส่งผลให้ เอ็มเอชอาร์เอ เรียกร้องให้มีการตรวจสอบเพิ่มเติมว่า เกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุหรือเจตนา ส่งผลให้วัคซีนตัวนี้ได้รับอนุมัติให้ใช้ล่าช้ากว่าวัคซีนไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค นานไม่น้อย

ผลข้างเคียงและผลทางลบ

ในทางการแพทย์ผลข้างเคียง (side effects) คือปฏิกิริยาทางร่างกายเมื่อได้รับยาหรือวัคซีน อาทิ อาการปวดแขน, บวม หรือเกิดผื่นแดงในจุดที่ฉีด ในขณะที่ ผลในทางลบหรือปฏิกิริยาทางลบ (adverse effects หรือ Adverse reactions) คืออาการทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการฉีดวัคซีน

ในรายงานการทดลองเบื้องต้นที่ตีพิมพ์เผยแพร่ใน เดอะ แลนเซท วัคซีนของออกซ์ฟอร์ด-แอสทราเซเนกาจัดอยู่ในระดับดี แต่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางลบสองสามประการที่น่าวิตก กล่าวคือ มีผู้รับวัคซีน 1 ราย ที่เกิดอาการ เฮโมลิติค อเนเมีย (hemolytic anemia) หรือ ภาวะโลหิตจางที่เกิดจากการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดง ขึ้น และมีอีก 2-3 ราย ที่เกิดอาการ ทรานเวิร์ส ไมเอลิทิส (transverse myelitis) หรือ ภาวะไขสันหลังอักเสบ แต่ผลจากการตรวจสอบในรายงานยืนยันว่า อาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากวัคซีนโดยตรง เช่นเดียวกับการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นกับกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งถูกระบุว่าไม่ได้เกี่ยวกับวัคซีนเช่นเดียวกัน แต่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ ทั้งหมด

ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ

ผู้เชี่ยวชาญทางระบาดวิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยา ส่วนใหญ่มีความเห็นต่อวัคซีนของ ออกซ์ฟอร์ด-แอสทราเซเนกา ตรงกันว่า วัคซีนตัวนี้จะมีอิทธิพลสูงที่สุดในแง่ของการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยเหตุผลหลายประการด้วยกัน

แรกสุดคือ วัคซีนโควีชีลด์ ไม่จำเป็นต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิเย็นจัด เช่น -70 องศาเซลเซียส ในกรณีของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค แต่สามารถเก็บรักษาในความเย็นของตู้เย็นทั่วไปได้ ทำให้ต้นทุนในการกระจายวัคซีนลดลงมหาศาล นอกจากนั้น ยังมีราคาถูก ตกราว 3-4 ดอลลาร์ (90-120 บาท) ต่อโดส ทำให้การเข้าถึงวัคซีนเกิดขึ้นได้กว้างขวางกว่า โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก

นอกจากนั้น วัคซีนตัวนี้ยังสามารถผลิตจำนวนมาก (แมส โปรดักชัน) ได้ง่ายกว่า โดยที่ออกซ์ฟอร์ด-แอสทราเซเนกา ยืนยันว่าสามารถผลิตได้ถึง 3,000 ล้านโดส ในปี 2564 ในขณะที่การผลิตของไฟเซอร์/ไบโอเอนเทค ทำได้สูงสุดเพียง 1,200 ล้านโดส และโมเดอร์นา 1,000 ล้านโดส ในปี 2564 เท่านั้น

นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมทั่วโลกถึงให้ความสำคัญต่อวัคซีน โควีชีลด์ สูงสุดในบรรดาวัคซีน 3 ตัว ที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ได้ในเวลานี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image