64 ปีสมานฉันท์…ฝันหาความจริงใจ

คุณบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ พูดแบบคนมีความหวังในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2564 ถึงการตั้งกรรมการสมานฉันท์เพื่อหาทางออกจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างฝ่ายต่างๆ ในสังคมไทย ว่าสถานการณ์วันนี้มันน่ากลัว ช่วยกันลดได้บางส่วนก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

หากสังคมเข้าใจสถานการณ์นี้และแสดงออกชัดเจน นักการเมืองก็คงพร้อมที่จะปฏิบัติตาม จากประสบการณ์ของตน กฎเกณฑ์หรือกฎหมายไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของนักการเมืองได้แม้แต่รัฐธรรมนูญ แต่กระแสสังคมต่างหากที่จะควบคุมได้มาโดยตลอด

ผู้มีอำนาจรัฐ กลุ่มผลประโยชน์ใหญ่ๆ ของประเทศ ถ้าตระหนักและช่วยลดอำนาจ ความได้เปรียบที่มีลงมาบ้าง ความร่วมมือก็น่าจะเกิดขึ้น

เรื่องที่สามารถทำได้คือแสดงความจริงใจ จะมีผลต่อการสมานฉันท์ด้วย คือ ยอมแก้รัฐธรรมนูญ เพราะเป็น 2 ใน 12 ข้อของนโยบายเร่งด่วนอยู่แล้ว ต้องแสดงออกมาเลยว่าพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ อุณหภูมิการเมืองลดลงได้แน่นอน

Advertisement

คุณบัญญัติพูดกว้างๆ ไม่ฟันธงถึงใคร ใครบ้างที่จริงใจและใครบ้างที่ไม่จริงใจ เลยตีความแบบเหมาโหลได้ว่า หมายถึงทุกฝ่ายนั่นแหละต้องแสดงความจริงใจ ไม่เฉพาะแต่พรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งเพิ่งมีมติก่อนสิ้นปีว่าไม่ขอเข้าร่วมเพราะเสียเวลาเปล่า ไม่มีทางสำเร็จ

ที่สำคัญไม่เชื่อในความจริงใจของรัฐบาล และองคาพยพทั้งหมด ซึ่งเป็นจุดยืนที่สอดคล้องกับแนวคิดของภาคีกลุ่มราษฎร

ว่าไปแล้ว ความจริงใจเป็นนามธรรม ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขแวดล้อมทางสังคม กับระดับจิตใจของคนคนนั้น

Advertisement

ความจริงใจจึงไม่ใช่ยาหม้อใหญ่ แต่เป็นเพียงเงื่อนไขส่วนหนึ่งของความสำเร็จหรือล้มเหลวเท่านั้น ซึ่งต้องการการพิสูจน์หรือยืนยันด้วยการกระทำ

ขณะที่ที่มาและองค์ประกอบของกรรมการสมานฉันท์ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง

รวมทั้งเงื่อนไขที่มีน้ำหนักอย่างมีนัยสำคัญอีกด้าน คือ กรอบขอบเขตของเนื้อหาสาระ ซึ่งเป็นรูปธรรม จับต้องได้

กรรมการสมานฉันท์จะพูดคุยกันถึงเรื่องอะไร พูดได้อย่างตรงไปตรงมาแค่ไหน พูดได้ทุกเรื่อง หรือพูดได้เฉพาะบางเรื่อง

ความเห็นต่างในเนื้อหาสาระการพูดคุยจึงเป็นเงื่อนไขบ่งชี้ว่าการสมานฉันท์จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และจะไปต่อได้ไหม หากไม่สามารถหาบทสรุปจนเกิดจุดพบกันได้ ก็ยากจะสำเร็จ

คํ าถามกำปั้นทุบดินมีต่อไปว่า ระหว่างกรอบขอบเขตของเนื้อหาสาระการพูดคุย กับความจริงใจ และท่าทีการแสดงออก อะไรสำคัญกว่า อะไรมาก่อน มาหลัง
คำตอบน่าจะประมาณว่า สำคัญพอๆ กัน สำคัญด้วยกันทั้งหมด ทุกเเงื่อนไขจึงต้องประกอบเข้าด้วยกัน ความสำเร็จถึงมีโอกาสเป็นไปได้

ถึงแม้คุณชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร จะพยายามดำเนินการภายใต้ความเชื่อว่า ความหวังดี การมองมุมบวกจะทำให้เกิดพลังกดดันทุกฝ่าย ดีกว่าไม่ทำอะไรเลยก็ตาม ถึงวันนี้รัฐสภายังไม่สามารถทำคลอดกรรมการสมานฉันท์ออกมาได้สำเร็จ

ประเด็นมีว่า โอกาสของความเป็นไปได้เงื่อนไขอยู่ที่ฝ่ายใดมากกว่ากัน ระหว่างฝ่ายที่มีอำนาจมากกว่ากับฝ่ายที่น้อยกว่าโดยตัดสินกันที่จำนวนมือในรัฐสภา

คำตอบชัดก็คือฝ่ายเสียงข้างมากที่กุมอำนาจรัฐ

เสียดาย ฝ่ายกุมอำนาจรัฐ พลาดโอกาสแสดงความจริงใจครั้งสำคัญไปแล้วครั้งหนึ่งในการพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ญัตติ เพราะไม่ยอมเลิกมาตรา 172 เลิกอำนาจวุฒิสมาชิกในการโหวตบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี กับไม่รับหลักการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

คำพูดของคุณบัญญัติจึงเปรียบเสมือนเสียงเตือนอีกครั้ง รัฐสภาไม่ควรพลาดโอกาสเป็นครั้งที่สอง ต้องแสดงความจริงใจในการร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย สมสมัย จะเป็นหนทางไปสู่ความสมานฉันท์ได้ ในที่สุด

จะช่วยลดเงื่อนไขการชุมนุมประท้วงเรียกร้องที่ดำเนินมาตลอดปี 2563 และจะยกระดับเข้มข้นขึ้นอีกในปี 2564 ลงได้

ถ้าบรรยากาศการเมืองสมานฉันท์มีแนวโน้มที่ดีจะช่วยลดแรงกดดันทางสังคมและเศรษฐกิจ จากวิกฤตโควิด-19 ระลอกสองลงได้อีกด้วย

ผู้คนตกงาน อดอยากเพราะขาดรายได้ ไม่มีกิน จนหมดทางออก การตัดสินปลิดชีวิตอาจจะไม่เพิ่มขึ้นกว่าครั้งแรก

สำคัญที่ สมานฉันท์ด้วยความจริงใจ ต้องเริ่มจากใคร ตัวเองก่อนหรือคนอื่นก่อน

หากคนมีอำนาจยังมีท่าที ดีแต่โทษคนอื่น ใครล่ะจะทำให้บรรยากาศที่วาดหวังนี้เป็นจริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image