จิตวิวัฒน์ : รู้ทันความคิด จิตสงบ

จิตวิวัฒน์ : รู้ทันความคิด จิตสงบ สมัยก่อนคนเฒ่าคนแก่เวลาให้พรลูกหลาน

จิตวิวัฒน์ : รู้ทันความคิด จิตสงบ

สมัยก่อนคนเฒ่าคนแก่เวลาให้พรลูกหลานที่มาเยี่ยม มากราบขอพร ท่านจะให้พรสั้น ๆ ว่า “ขอให้รู้เนื้อรู้ตัวนะ” ไม่ได้ให้พรอะไรมากมาย พรอื่นใด เช่น โชคดี มีลาภ อายุยืน ก็ไม่ประเสริฐเท่ากับความรู้เนื้อรู้ตัว เพราะอายุยืนก็หลงได้ เช่น เป็นคนเจ้าอารมณ์ เพราะเจ็บปวดจากบาดแผลในอดีตที่ยาวนาน ผ่านมา 30-40 ปีแล้วก็ยัง ไม่หายแค้น ไม่หายพยาบาท อายุยืนจะมีประโยชน์อะไร ถ้าใจยังหลง จมอยู่กับความโกรธ คับแค้น เศร้า หดหู่ กินไม่ได้นอนไม่หลับ เผลอๆ ตอนตายก็ไปอบายภูมิ เพราะจิตสุดท้ายนึกคิดแต่ในทางอกุศล เพราะเต็มไปด้วยความหลง

ถึงแม้จะมั่งคั่งร่ำรวย แต่ว่าถ้าใจยังหลง ห่วงกังวลทรัพย์สมบัติ ความร่ำรวยจะมีประโยชน์อะไร สำนวนโบราณว่า “มีทองเท่าหนวดกุ้ง นอนสะดุ้งจนเรือนไหว” นี่ขนาดทองเท่าหนวดกุ้ง ถ้ามีทองเป็นโซ่จะขนาดไหน คนเฒ่าคนแก่เขารู้ดีว่ามีอะไรก็ไม่ประเสริฐเท่าการรู้เนื้อรู้ตัว เพราะเป็นประตูสู่ความสุขความสงบ อีกทั้งยังเป็นบันไดพาไปสู่ทรัพย์ที่ประเสริฐยิ่งกว่านั้น

สิ่งที่ประเสริฐยิ่งกว่าสามัญทรัพย์ ก็คือ ปรมัตถธรรม สูงสุดก็คือนิพพาน ปรมัตถธรรมจะเข้าถึงได้ ก็ต้องเริ่มจากการรู้เนื้อรู้ตัว ถ้าไม่รู้เนื้อรู้ตัวก็ไม่ต้องพูดถึงปรมัตถธรรม แม้กระทั่งการอยู่เย็นเป็นสุข ไม่อยู่ร้อนนอนทุกข์จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากยังมีความหลง ไม่รู้เนื้อรู้ตัว

Advertisement

ที่ผ่านมา ความหลงเกิดกับเราส่วนใหญ่ วันละหลายๆ ครั้ง หรือตลอดทั้งวัน ก็คือการหลงคิดถึงอดีตบ้าง อนาคตบ้าง คิดถึงงานการที่คั่งค้าง คิดถึงปัญหาต่างๆ จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ อย่างนี้เรียกว่าหลงคิด

ความคิดนั้นทิ้งง่ายกว่าอารมณ์ อารมณ์มีอิทธิพล มีพิษสงที่เกาะกุมจิตใจอย่างแน่นหนา ฝังลึกมากกว่าความคิด และยังหาตัวยาก ทั้งที่อยู่ในใจเรา อยู่ใกล้กว่าโทรศัพท์มือถือด้วยซ้ำ แต่เรามักหาไม่เจอ หรือไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีอยู่ แต่เวลาที่ความคิดผุดขึ้นมาส่วนใหญ่เราคิดเป็นคำ หรือนึกเป็นภาพ มันเห็นง่ายกว่า

ความคิดนั้นบางครั้งก็ชวนให้มีความสุขเมื่อนึกถึงวันคืนอันชื่นบาน เกิดความเพลิดเพลินยินดี บางครั้งเรามีความสุขเมื่อใจลอย คิดถึงความสนุกสนาน นึกถึงการไปเที่ยว คิดแล้วก็เพลิน แต่ใจลอยก็เป็นความหลงอีกอย่างหนึ่ง

Advertisement

บางคนสงสัยว่าใจลอยไม่ดีอย่างไร ทำไมจะต้องทิ้งหรือวางมันลง เพื่อกลับมาอยู่กับปัจจุบัน กลับมาอยู่กับความรู้เนื้อรู้ตัว

ตอนที่ใจลอยก็ดูไม่มีพิษไม่มีภัย แต่ว่าพอใจลอยสักพักมันก็จม ใจลอยกับใจจมดูเหมือนตรงข้ามกัน แต่มันสนิทชิดเชื้อกันมากทีเดียว ตอนแรกใจลอยชวนให้เพลิดเพลินยินดี สักพักใจก็หวนกลับไปนึกถึงความเจ็บปวดในอดีต คิดถึงความทรงจำที่เลวร้ายขึ้นมา ตอนนี้ใจก็ถูกลากไปจมอยู่กับอดีต หรือจมอยู่กับภาพอนาคตที่ปรุงในทางลบทางร้าย คนเราพอฝันกลางวันแล้วใจลอย สักพักใจก็จม แล้วติดอยู่ในอารมณ์ จนทำให้เครียดเป็นทุกข์ ถึงขั้นกินไม่ได้นอนไม่หลับ หรือรุ่มร้อนในจิตใจ

ที่ใครๆ คิดว่าใจลอยเป็นเรื่องดี ไม่มีพิษสง นั่นเป็นเพราะเขาไม่ตระหนักว่า ใจลอยนี่แหละที่สุดท้ายจะทำให้ใจจมอยู่กับอารมณ์ที่เป็นอกุศล ยังไม่พูดถึงอุบัติเหตุที่เกิดเพราะใจลอย ไม่รู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมา เช่น ลื่นหกล้มขณะเข้าห้องน้ำ หรือตกบันได ถ้าใจลอยขณะขับรถ ก็อาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ลองนึกดูว่า หากข้ามถนนแล้วใจลอย จะเกิดอะไรขึ้น ใจยังไม่ทันจมเลย ก็เรียบร้อยไปแล้ว แข้งขาหัก หรือว่าถึงกับตายเลย เพราะฉะนั้นเราจึงควรพาใจให้มาอยู่กับการรู้เนื้อรู้ตัวบ่อยๆ หมั่นรู้สึกตัวเป็นนิจ ด้วยการเจริญสติ

สติมีประโยชน์ตรงที่ทำให้รู้ทันความคิด และอารมณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ใดก็ตาม อารมณ์บวกหรือลบ ยินดีหรือยินร้ายก็รู้ทัน ช่วยป้องกันไม่ให้มันมาครอบงำใจ ให้หลง ไม่ว่าจะหลงเพลิน หลงดีใจ หรือหลงทุกข์ ก็ไม่เอาทั้งนั้น เพราะว่า ความดีใจหรือความสุข ก็มีโทษเหมือนกัน

หลวงพ่อชา สุภฺทโท เปรียบความทุกข์เหมือนกับหัวงู ส่วนความสุขเหมือนกับหางงู ถ้าจับหัวงู งูก็ฉก แต่ถ้าจับหางงูแล้วไม่รีบปล่อยมันก็ฉกได้เหมือนกัน ท่านหมายความว่า สุขหรือทุกข์เป็นสิ่งที่ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น แต่มีหลายคนทั้งๆ ที่รู้ว่า ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น แต่พอโกรธทีใด แทนที่จะสลัดความโกรธ กลับยึดมันเอาไว้ เวลาเศร้าทั้งๆ ที่รู้ว่ามันกด ถ่วง หน่วง ทับ จิตใจ ก็ยังยึดเอาไว้ ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมวางนั่นเป็นเพราะหลง เพราะไม่รู้ตัว ถ้ารู้ตัวก็จะวางเอง

ความสุขก็เหมือนกัน ถ้ายึดเอาไว้ เหมือนกับจับหางงู ตอนแรกไม่เป็นอะไร แต่ประเดี๋ยวเดียวก็โดนงูกัดแล้ว ความสุขนั้นถ้ายึดเอาไว้ ก็จะเกิดทุกข์ตามมา เพราะความสุขเป็นของชั่วคราว ไม่เที่ยง แปรปรวน ไม่นานก็เสื่อมไป ถ้ายึดมันเอาไว้ พอมันหายไป ก็จะทุกข์ เสียใจ ผิดหวัง ความสงบก็เช่นกัน ตอนที่มันเกิดขึ้น หากไม่รู้ทัน ก็จะเผลอยินดี แต่พอความสงบหายไปก็จะเสียใจ ผู้ที่ติดสงบ พอไม่มีความสงบ ไม่ว่าสงบภายนอกหรือสงบภายใน ก็จะรู้สึกหงุดหงิด เสียใจ เป็นทุกข์

ในทางตรงข้าม เมื่อสงบ ก็รู้ว่าสงบ ไม่เพลินกับความสงบ ดังนั้นเมื่อความสงบหายไป ใจก็ไม่เป็นทุกข์ ยังคงเป็นปกติอยู่ได้ ไม่หงุดหงิด ผลที่ตามมาคือความสงบ เป็นความสงบที่เกิดจากใจที่ไม่ยึดติดความสงบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image