ปีใหม่ปีเก่าเป็นเรื่องสมมุติ

ปีใหม่ปีเก่าเป็นเรื่องสมมุติ

ปีใหม่ปีเก่าเป็นเรื่องสมมุติ

ปีเก่าเพิ่งผ่านไปและปีใหม่ พ.ศ.2564 กำลังเริ่มต้น สมัยผู้เขียนเป็นเด็ก จะตื่นเต้นนักเมื่อถึงวันสิ้นปีเก่า และดีใจเมื่อเห็นอรุณแรกของปีใหม่ ตื่นเต้นนัก ที่เห็นประมุขของบ้านเมืองให้พรทางวิทยุ ตื่นเต้นเมื่อเห็นนักดื่ม นั่งดื่มสังสรรค์กันทั้งคืน จากนั้นบางปีก็มีข่าวเศร้าที่ฉลองกันทั้งคืน จากนั้นไม่นานชีวิตของแต่ละคนก็เหมือนเดิม ที่เคยทุกข์เพราะจนยาก ก็ทุกข์เหมือนเดิม ที่วิตกกังวลในครอบครัว ก็กลับมาทุกข์เหมือนเดิม ทุกข์มันไม่หายไปพร้อมกับการหายไปของปีเก่าเลย แสดงถึงว่า ความเปลี่ยนแปลงของกาลเวลา มิได้มีความสำคัญต่อชีวิตของมนุษย์เลย มันเป็นเพียงความตื่นเต้นในเรื่องที่เราสร้างกันขึ้นมาเท่านั้น

ความจริงเป็นเช่นนั้น กล่าวคือ ความจริงมันมีเฉพาะกลางวัน และกลางคืนเท่านั้น และกลางวันและกลางคืนมันก็เกิดเพราะพระอาทิตย์ เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้า แล้วตกไปในตอนเย็น เราเรียกว่าเป็นกลางวัน เมื่อพระอาทิตย์ลับโลกไปแล้ว จนพระอาทิตย์ทอแสงขึ้นมาใหม่ เราเรียกว่ากลางคืน มันเป็นไปอย่างนี้ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงเลย ดังนั้นสิ่งที่มีจริงก็คือวันและคืน ส่วนปีเดือนมนุษย์เรากำหนดกันขึ้นมาเอง เพื่อให้หมายรู้เรื่องวันเดือนปี ในการเป็นอยู่ของมนุษย์เราเท่านั้น แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า การสมมุติวันเดือนปีขึ้นมา มิใช่เป็นเรื่องไร้สาระ เป็นเรื่องมีสาระอย่างยิ่ง เป็นแต่ว่าบางคนในสมัยนี้นำเรื่องปีเก่าปีใหม่ ไปทำลายตนเองซะงั้น !

เป็นแบบไหนที่เรียกว่า นำเทศกาลปีเก่าปีใหม่มาทำลายตนเอง ตอบว่า โดยธรรมดาแล้ว ชีวิตคน อายุสัตว์มันจะกัดกินตัวมันเอง ให้หมดลงเรื่อยๆ เมื่อผ่านไปหนึ่งปี ก็เท่ากับว่าอายุหมดไปแล้วหนึ่งปี นั่นคือเขาใกล้ความตายไปอีกแล้วหนึ่งปี เราจวนจะตายแล้ว แต่เพราะไม่มีใครรู้วันตายของตน แต่ละคนจึงประมาท สนุกไปเรื่อยทั้งๆ ที่ชีวิตกำลังเข้าหาความตายอยู่ทุกขณะจิต

Advertisement

ภาพของปุถุชนเรานั้น ปรากฏในสายตาของพระอริยะว่า เหมือนคนถูกไฟลุกโชนอยู่บนหัวแล้ว แต่ยังหาได้หาสำนึกไม่ยังสนุกอยู่ตลอด ด้วยประการฉะนี้ เราจึงมองเห็นภาพของนักดื่มทั้งหลาย ทำกิริยาดีใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อถึงเทศกาลปีเก่าปีใหม่ พวกเขาชวนกันมาฉลองปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เหมือนพร้อมกับตะโกนกันด้วยความดีใจว่า พวกเรามากินเหล้าฉลองชัยที่พวกเราใกล้ความตายเข้าไปอีกหนึ่งปีแล้วเถิด !

แต่ถ้าเราเอารูปแบบของคนโบราณมาพิจารณาแล้ว เราจะเห็นว่า คนโบราณเขาดำรงชีวิตอย่างสงบและเป็นธรรม เมื่อถึงวันสิ้นปีอย่างที่ไทยเราทำอยู่ในวันสงกรานต์ ผู้หลักผู้ใหญ่ในครอบครัวเรา ท่านจะนำกระดูกของบรรพบุรุษในครอบครัวไปวัดทำบุญอุทิศส่วนบุญให้บรรพบุรุษในครอบครัว

นี่คือพฤติกรรมที่สงบ กิจกรรมที่มีความสุขเป็นกำไร นั่นคือ เมื่อสิ้นปีก็ทำใจกันว่า เราใกล้ความตายไปอีกหนึ่งปีแล้วหนอ !

Advertisement

เมื่อพูดถึง ปีเก่าปีใหม่ในเทศกาลสงกรานต์ ทำให้นึกว่าไทยเราเปลี่ยนวันปีเก่าปีใหม่มาตลอด ตอนนี้ขอกล่าวถึงปีใหม่ไทยที่เราทำในวันสงกรานต์ก่อน แต่เดิมผู้เขียนเชื่อตามที่มีผู้กล่าวไว้ว่า เทศกาลสงกรานต์เราทำตามพม่า เพราะพระเจ้าอนุรุทธมหาราชกษัตริย์พม่า ทำการลบมหาศักราชของอินเดีย แล้วตั้งจุลศักราชขึ้นใช้แทน เมื่อปี พ.ศ.1181 แล้วไทยเราก็ใช้จุลศักราชมาแต่นั้น และเมื่อใช้จุลศักราชแล้วก็ต้องใช้ ขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 เป็นวันต้นปี เราจึงรวบรัดว่า เทศกาลสงกรานต์เป็นของพม่า ความจริงแล้วไม่ใช่เลย ! ผู้ที่กำหนด ขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่นั้น คือกษัตริย์ไทย ! แต่ไม่ใช่กษัตริย์ไทยสยาม เป็นกษัตริย์ไทยใหญ่ ทรงพระนามว่า พระเจ้าสักดำมหาราช ผู้ครองนครตักศิลา คือ จังหวัดตากปัจจุบันนี้

พระเจ้าสักดำเป็นใคร คนไทยรู้จักไหม ? รู้ ! ถ้าคนไทยรู้จักขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด แม่สอดปัจจุบันนี้ ผู้มารบกับพ่อขุนรามคำแหงนั่นไงล่ะ ! ขุนสามชนนั่น เป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าสักดำมหาราช หรือไม่ก็เป็นศูนย์อำนาจเดิมของพระเจ้าสักดำที่สืบมาจนถึงขุนสามชน ความเรื่องนี้ปรากฏอยู่ในราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา หน้า 51 ที่แปลโดย พันตรีหลวงเรืองเดชอนันต์ เพื่อความแน่ใจ

ขอยกความมาให้อ่านดังต่อไปนี้ “สมเด็จสินธพอมรินทร์พระบรมพรหมเก็ลเป็นเจ้า …… มีพระราชดำรัสว่า ศักราชซึ่งพระเจ้ากรุงตักกศิลามหานคร ทรงพระนามพระบาทสักดำมหาราชาธิราช ผู้มีอานุภาพบุญญาภินิหาร ตรัสให้ตั้งศักราชสำหรับกษัตริย์ (เหมือนรัตนโกสินทร์ศก) ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปีชวดเอกศก จึงติดเป็นสงกรานต์ ต่อมา 36 วัน (น่าจะ 13 วัน) จึงเป็นสงกรานต์ใหม่ (คงเป็นวันขึ้นปีใหม่) ตั้งแต่ พ.ศ.307 ปี ต่อมาได้เป็นศักราชใช้ในอาณาจักร ใช้ต่อมาถึง พญาโคดมเทวราช (กษัตริย์กำพูชา) แลเมื่อรัชกาลของพระร่วง (กษัตริย์ไทย) ได้ให้สอบพระพุทธศักราชครั้งหนึ่ง ต่อมาถึงรัชกาลพระบาทอนุรุทธ ( กษัตริย์พม่า) ได้ลบ มหาศักราช แล้วตั้งจุลศักราชขึ้นแทน เมื่อปี พ.ศ.1181”

ขอวิเคราะห์ข้อความให้เข้าใจใหม่ดังต่อไปนี้ พระเจ้าสักดำคงทรงให้ใช้ มหาศักราชเหมือนเดิม แต่ให้ใช้ศักราชของราชวงศ์ของพระองค์ นั่นคือความหมายที่ว่า ใช้สำหรับกษัตริย์ เพียงให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ เป็นขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 เท่านั้น นั่นคือความหมายที่ว่า เป็นสงกรานต์ใหม่ คือวันขึ้นปีใหม่นั่นเอง พระร่วงแห่งสุโขทัย น่าจะเป็นพระร่วงก่อน ขุนศรีอิทราทิตย์ ให้สอบกับพระพุทธศักราช คงหมายถึงให้พระภิกษุในกรุงสุโขทัย ก่อนการแสดงธรรม ต้องระบุความว่า ขณะนี้พระพุทธศักราชล่วงแล้ว เท่านี้ปี และจะเหลืออีกกี่ปี จึงจะสิ้นสุดพระพุทธศาสนา 5,000 ปี เป็นต้น ธรรมเนียมการบอกพุทธศักราชก่อนเทศน์นี้ ใช้มาถึงประมาณ ปี พ.ศ.2500 จากนั้น เวลานี้เวลาพระเทศน์ พระท่านไม่จารนัยพระพุทธศักราชเลย เข้าใจว่าคณะสงฆ์ให้เลิกใช้แล้ว นั่นคือความหมายที่ว่า ให้สอบพระพุทธศักราช

จากนั้น เมื่อปี พ.ศ.1181 พระเจ้าอนุรุทธมหาราช หรืออโนรธามังฉ้อ ได้ลบมหาศักราชเสีย แล้วตั้งจุลศักราชแทน แล้วนั่นคือทำให้คนไทย ได้เห็นคำว่าจุลศักราช และได้เห็นการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ เป็น ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เพราะอะไร ? เพราะพระเจ้าสักดำมหาราช ทรงให้เปลี่ยนเฉพาะวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 เป็นวันปีใหม่เท่านั้น มิได้เปลี่ยน มหาศักราช ดังนั้นมหาศักราชจึงใช้ ขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 เป็นต้นปี จาก พ.ศ.307 ถึง พ.ศ.1181 จึงทำให้คนไทยเชื่อว่า พม่าเป็นคนตั้งเรื่องเทศกาลสงกรานต์ จึงขอย้ำอีกครั้งว่าคนไทยใหญ่เป็นคนตั้งเทศกาลสงกรานต์ แน่นอน

ขอเพิ่มเติมให้รู้อีกนิดหนึ่งว่า คนไทยใหญ่กลุ่มนี้มาจากไหน อยากจะสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นไทยมาว ซึ่งอพยพมาจากยูนนาน จุดที่ยูนนานติดต่อกับพม่าจุดนี้ เป็นแม่น้ำชื่อยุ่ยลี่ ทางฝั่งจีนเรียกเมืองนี้ว่า เต้อหง ทางฝั่งพม่าคือเมืองมาว จีนกับพม่าแบ่งเขตกันกลางแม่น้ำ มีสะพานข้ามชื่อสะพานวันติง คนไทยใหญ่กลุ่มนี้คงอพยพข้ามแม่น้ำยุ่ยลี่นี้มา แล้วมาตั้งหลักที่เชียงรายที่อำเภอแม่จัน อดีตคือ หิรัญนครเงินยาง (สมัยนั้นเรียกนครโยนก) แล้วก็อพยพลงมาตั้งหลักที่จังหวัดตาก ซึ้งเพี้ยนมาจาก ตักศิลาสมัยพระเจ้าสักดำมหาราช จนมาถึงสมัยเมืองฉอดของขุนสามชน ซึ่งเมืองนี้อยู่ฝั่งแม่น้ำเมยฝั่งพม่า ยังมีโบราณสถานซากเมืองเก่าอยู่

ผู้เขียนเดาว่า ไทยใหญ่กลุ่มนี้ มีอานุภาพระบืออยู่นาน น่าจะหลายร้อยปี ไทยน้อยเราที่อพยพมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาและเมืองแถนอันเป็นตะวันออกของไทย ได้เห็นความยิ่งใหญ่ของไทยที่พูดภาษาเดียวกัน จึงยอมเรียกว่าไทยใหญ่มาแต่นั้น

มีหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่ง ที่ทำให้เห็นความต่างระหว่าง ไทยใหญ่ที่อพยพไปทางเขาปาดไก่ แล้วตั้งถิ่นฐานเป็นรัฐฉานทุกวันนี้ กับไทยใหญ่ของพระเจ้าสักดำที่อพยพข้ามแม่น้ำยุ่ยลี่ที่เมืองมาว มาตั้งหลักที่หิรัญนครเงินยาง ที่แม่จัน แล้วมาตั้งที่เมืองตักศิลาคือเมืองตาก แล้วก็สืบสาวมาถึงขุนสามชนนั้น ปัจจุบันนี้หายสาบสูญไปหมดแล้ว

หลักฐานดังกล่าวมานั้น คือภาษาพูดของไทยไทยลื้อสิบสองปันนา กับภาษาพูดของไทยเหนือที่เต้อหง กล่าวคือไทยที่เต้อหง พูดภาษาไทยเหนือ ส่วนที่สิบสองปันนาพูดภาษาไทยลื้อ ถ้าดูแผนที่จะพบว่า สิบสองปันนานั้นติดกับลาว ดังนั้นคนไทยที่อพยพผ่านสิบสองปันนาก็ดี อพยพผ่านเมืองแถนของญวนก็ดี จึงมาทางตะวันออกของไทย ส่วนไทยใหญ่ของพระเจ้าสักดำอพยพมานานแล้ว และมาทางทิศตะวันตก จึงไม่พบกัน และเมื่อพบกันแล้วก็ถึงคราวไทยใหญ่กลุ่มนี้เสื่อมอำนาจลงจนสาบสูญไปในที่สุด

ขอกลับเข้าสู่ปีเก่าปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง การกำหนดวันเดือนปี เราเรียกว่า ปฏิทิน คำว่าปฏิทิน เป็นภาษาบาลี แปลว่าเฉพาะวัน คือนับทีละวัน หรือกำหนดทีละวัน หลายคนเชื่อว่า การกำหนดทำปฏิทิน น่าจะมาจากบาบิโลน แล้วประมาณการว่า ทำมาแล้วประมาณ 1,500 ปี แต่ผู้เขียนเชื่อว่าการทำปฏิทิน ครั้งแรกๆ น่าจะเริ่มจากอินเดียก่อน หลักฐานคือ เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ทรงแสดงพระธรรมจักรในวันอาสาฬหบูชา คือวันเพ็ญเดือน 8 จากนั้นในวัน แรม 1 ค่ำเดือน 8 ก็ทรงกำหนดเป็นวันเข้าพรรษา และทรงกำหนดวันออกพรรษา ในวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 นี่เป็นการกำหนดวันไหม ?

ต่อมาเมื่อพระองค์จะปรินิพพาน พระองค์ตรัส ว่า ต่อแต่นี้อีกสามเดือน ตถาคตจะปรินิพพาน นี่เป็นการกำหนดวันไหม ? นับจากวันที่พระองค์ตรัสรู้ จนถึงทุกวันนี้ เป็นเวลา 2,608 ปีมาแล้ว และการที่พระองค์กำหนด ว่าวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 เป็นวันออกพรรษา พระองค์คิดขึ้นเองเดี๋ยวนั้น หรือโบราณเขาคิดมาก่อน แน่นอนอินเดียโบราณต้องคิดมาก่อนแล้ว พระพุทธเจ้าจึงกำหนดตามที่ชาวบ้านเขาหมายรู้กันอยู่แล้ว ดังนั้นจึงน่าเชื่อว่าอินเดียต่างหากที่กำหนดทำปฏิทินก่อนคนอื่น ขอผู้อ่านโปรด ช่วยพิจารณา

พระพุทธเจ้าสอนว่า กาลเวลามันย่อมกัดกินตัวมันเองให้หมดไป พร้อมกับกัดกินชีวิตสัตว์ให้หมดไปด้วย ดังนั้นเมื่ออายุผ่านไปแต่ละปี เราควรนำกระดูกของบรรพบุรุษในครอบครัวมาทำบุญอุทิศบุญให้ท่าน เหมือนที่เราทำตอนสงกรานต์

การทำภารกิจอย่างนี้ สำหรับตัวเราได้ประโยชน์ สองอย่าง คือ เรามีโอกาสนึกถึงความจริงของชีวิต คือความตาย และได้ทำการสั่งสมบุญ เพื่อเป็นเสบียงไปในภพหน้า

ดูเหมือนว่าคนไทยทุกวันนี้ เมื่อสิ้นปีสงกรานต์ จะนำอัฐิของบรรพบุรุษ ไปทำบุญ แต่พอวันสิ้นปีแบบใหม่ เขาพาพ่อแม่ไปทานข้าว นั่นเป็นกิจกรรมที่ประเสริฐแท้แล !

ทวี ผลสมภพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image