หมอชนะ ประชาชนก็ (อาจ) จะชนะ แต่รัฐบาลจะพ่ายแพ้ ถ้าทำลายความไว้วางใจของประชาชน และไม่ทำหน้าที่บริหารตามความคาดหวังในการแก้โควิด-19

หมอชนะ ประชาชนก็ (อาจ) จะชนะ แต่รัฐบาลจะพ่ายแพ้ ถ้าทำลายความไว้วางใจของประชาชน และไม่ทำหน้าที่บริหารตามความคาดหวังในการแก้โควิด-19

หมอชนะ ประชาชนก็ (อาจ) จะชนะ แต่รัฐบาลจะพ่ายแพ้
ถ้าทำลายความไว้วางใจของประชาชน
และไม่ทำหน้าที่บริหารตามความคาดหวังในการแก้โควิด-19

หลายเหตุการณ์ความสับสนของการสื่อสารต่อประชาชนในมาตรการของรัฐบาลกรณีจัดการกับการป้องกัน ควบคุมดูแลการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่กำลังสั่นคลอนต่อความเชื่อมั่นและความไว้วางใจของประชาชนต่อรัฐในฐานะผู้นำการแก้ปัญหานี้อย่างหนักหน่วง

กรณีเด่นชัดคือการแถลงข่าวจากโฆษก ศบค. บังคับให้ทุกคนโหลดแอพพลิเคชั่น “หมอชนะ” ถ้าไม่มีจะเป็นความผิดเมื่อติดเชื้อออกทีวีที่เป็นช่องทางทางการเกี่ยวกับการจัดการเรื่องโรคระบาด และต่อมาก็มีหลายคนในรัฐบาลออกมาแก้ข่าวว่ารัฐบาลไม่ได้บังคับเช่นนั้น จนต้องมาแก้ข่าวกันวุ่นวายไปหมด

ประชาชนมีแค่คำถามเดียวว่า ทำไมไม่คุยกันให้ดีก่อนการแถลงข่าวทางการ เนื่องจากการทำงานที่ออกมามันฟ้องถึงการไม่มีเอกภาพของการบริการจัดการโควิด-19 อย่างยากปฏิเสธ

Advertisement

ที่สำคัญนี่ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งเดียวที่รัฐบาลสร้างความสับสนกับประชาชน กรณีการประกาศเวลาของ กทม.สำหรับการกินอาหารในร้านก็พอมองเห็นถึงความสับสนของการใช้อำนาจประกาศโดยไม่ได้อ้างอิงถึงความรู้แต่อย่างใดเลย อำนาจล้วนๆ ทั้งที่มีวิชาชีพนักระบาดวิทยาพอให้ข้อมูลให้ตัดสินใจ

ว่ากันว่าการสื่อสารในภาวะวิกฤตนั้นสารต้องกระชับชัดเจนและมีภาวะผู้นำของผู้สื่อสารเป็นหลักสำคัญในการรักษาความไว้วางใจเอาไว้ เพื่อเผชิญกับวิกฤตที่ทุกคนจะต้องร่วมมือกัน ซึ่งสิ่งสำคัญสูงสุดที่ต้องมีคือความไว้วางใจระหว่างกันเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการแก้ปัญหา

มีเสียงวิจารณ์ว่าความสำเร็จของการแก้ปัญหาโควิด-19 ระบาดรอบแรกนั้นก็ไม่ได้เกิดจากฝีมือบริหารของรัฐบาล แต่มาจากความร่วมแรงร่วมใจกันของประชาชนที่เชื่อมั่นต่อระบบการแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่ออกหน้ามาจัดการอย่างเต็มที่ จากประสบการณ์ของระบบสาธารณสุขที่เตรียมพร้อมเป็นอย่างดีของไทย แต่รอบนี้ยังไม่เห็นชัดตรงนี้

Advertisement

ที่สำคัญประชาชนเริ่มมองเห็นว่าประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ได้ทำหน้าที่และรับผิดชอบในการป้องกันควบคุมโรคอย่างเต็มที่แล้ว แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดในรอบนี้เกิดจากการไม่ทำหน้าที่ของรัฐบาลในการบังคับใช้กฎหมายและควบคุมข้าราชการอันเป็นกลไกทางอำนาจของรัฐเองในการปกครองและบริหารประเทศ

การไม่จัดการเจ้าหน้าที่รัฐที่ปล่อยให้คนไทยในช่วงแรกและต่อมาคือแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย จนเกิดความสงสัยไปทั่วว่าเกิดการคอร์รัปชั่นขนาดใหญ่ในภาครัฐเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว จนเกิดการระบาดวงใหญ่ในสมุทรสาครเมืองหลวงของแรงงานข้ามชาติ แต่จนถึงวันนี้ก็ไม่มีการบริหารจัดการปัญหาต้นตอคือแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายกับเจ้าหน้าที่รัฐแม้แต่คนเดียว

ซ้ำเติมด้วยการปล่อยปละละเลยให้มีบ่อนผิดกฎหมายเปิดให้คนเข้าไปเล่นกันจนกลายเป็นแหล่งกระจายการระบาดสำคัญ แต่ซ้ำร้ายรัฐบาลยังพยายามไม่ปกครองด้วยการปกปิดอ้างว่าไม่มีบ่อน จนดูเหมือนไม่มีภาวะผู้นำในการบริหารด้วยการเข้าสู่ปัญหาอย่างกล้าหาญเพื่อระงับการระบาดอย่างทันท่วงที

อันที่จริงปัญหาเหล่านี้คงดำรงอยู่แล้วในสังคมไทย แต่โควิด-19 ที่ระบาดขึ้นได้มาช่วยเผยเรื่องที่ปกปิดอยู่ให้เห็นปัญหาอย่างชัดเจนยากหลีกเลี่ยง

ยิ่งในภาวะวิกฤตแบบนี้รัฐจะต้องแสดงความเข้มแข็งจริงจังในการบังคับใช้กฎหมายให้ส่งผลที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมการระบาดของโรค ชาวบ้านเขารอดูผลงานสุดท้ายก็ไม่มีบุญได้เห็นเลย

กรณีทั้งหลายเหล่านี้ประชาชนถามคำเดียวว่า ทำไมรัฐไม่ทำหน้าที่ของตัวเองในการป้องกันการระบาดของโรค แต่มาเรียกร้องให้ชาวบ้านทำหน้าที่ป้องกันโรคกันเอง และให้ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องลดเวลาขายในร้าน ธุรกิจหลายอย่างต้องได้รับผลกระทบโดยไร้มาตรการดูแลเยียวยา

ต้องยอมรับว่าการระบาดรอบสองของโควิด-19 ในประเทศไทยช่วงปลายปีเกินความสามารถของประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำได้ดีมาตลอดก่อนหน้านั้น

เพราะการระบาดเกิดขึ้นในกลุ่มคนแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายอันอยู่ในหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายหลายฝ่ายที่ไม่เกี่ยวกับบุคลากรทางการแพทย์ แต่สุดท้ายปัญหาก็มาให้พวกเขาแก้จนได้เมื่อคนป่วยต้องเข้ารับการรักษา

ส่วนอีกคลัสเตอร์สำคัญคือบ่อนการพนัน ก็เกิดจากการไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เล่นกัน และเป็นสถานที่แพร่เชื้อที่ อสม.ซึ่งทำงานอย่างแข็งขันมาตลอดในชุมชนก็ไม่สามารถเข้าไปคัดกรองตรวจตราผู้ประสงค์จะเข้าไปสร้างระยะประชิดในการเล่นพนันกันได้ เพราะแน่นอนบ่อนคงไม่ได้แจ้งขอความร่วมมือเหมือนกิจกรรมอื่นๆ ที่ถูกกฎหมาย

ที่ผ่านมาประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งพี่น้องอาสาสมัครสาธารณสุขได้ทำหน้าที่เต็มที่แล้ว แต่คำถามคาใจของชาวบ้านคือรัฐบาลได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างพอเพียงหรือยัง หรือจะเอาแต่อยู่ไปวันๆ ไม่บริหารจัดการอะไรเลยเหมือนที่ผ่านมา

สัญญาณอันตรายที่เตือนเราคนไทยให้ตระหนักคิดกันข้างหน้าคือว่า ถ้าประชาชนไม่มีความไว้วางใจและไร้ความเชื่อมั่นกับการเป็นผู้นำแก้ปัญหาการระบาดของรัฐบาลแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ความร่วมมือร่วมใจปฏิบัติตามมาตรการของรัฐจะยังได้ผลเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่ แล้วถ้าไม่ การระบาดจะรุนแรงเลวร้ายจนยากจะควบคุมขึ้นขนาดไหน

ในกรณีเลวร้ายที่สุดเรามีทางเลือกอะไรบ้างในการรับมือ เราจะทำอย่างไรกันได้บ้างในกรณีที่จะต้องบริหารจัดการให้ไทยชนะให้ได้ ข้อดีคือเรามีต้นทุนสำคัญคือประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ที่ยังไว้วางใจกันจะสร้างชัยชนะร่วมกันได้ ส่วนรัฐบาลถ้าอยากชนะก็ต้องแสดงให้ทุกภาคส่วนเชื่อมั่นว่าจะเอาจริงในการแก้ปัญหาโดยแสดงถึงภาวะผู้นำและเอกภาพในการบริหารให้เห็นก่อนเลย

ต่อจากนั้นค่อยว่ากันว่าใครจะชนะหรือพ่ายแพ้ เพราะหลายครั้งหลายคราในประวัติศาสตร์เคยมีบทให้เรียนแล้วว่า เชื้อโรคนั้นไม่ใช่เอาชนะมนุษย์ที่อ่อนแอให้พ่ายแพ้เท่านั้น แต่โรคระบาดนั้นเคยสร้างความล่มสลายให้เกิดกับจักรวรรดิยิ่งใหญ่มานักต่อนักแล้ว

ดร.ชาติชาย มุกสง
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image