สถานีคิดเลขที่ 12 : พูด‘ซ.ต.พ.’ทำ

สถานีคิดเลขที่ 12 : พูด‘ซ.ต.พ.’ทำ “ฐากูร บุนปาน” ผู้ล่วงลับนอกจากจะเป็นที่ยอมรับ

สถานีคิดเลขที่ 12 : พูด‘ซ.ต.พ.’ทำ

“ฐากูร บุนปาน” ผู้ล่วงลับ
นอกจากจะเป็นที่ยอมรับในวิชาชีพสื่อที่ตื่นตัวรับการเปลี่ยนแปลงจากสื่อเดิมไปสู่สื่อดิจิทัลแล้ว
สิ่งหนึ่งที่ได้การยอมรับไม่ต่างกันคือ ยึดมั่นในแนวทาง “ประชาธิปไตย”
ไม่วอกแวกนำอาชีพสื่อไปรับใช้แนวทาง “นอก” ประชาธิปไตย โดยชัดแจ้ง
ตอนนี้หาก “ฐากูร บุนปาน” ยังอยู่
คงชี้ชวนให้พิจารณา และติดตามวาทะของ โจ ไบเดน ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐอย่างแน่นอน
“ข้าพเจ้าขอรับปากเอาไว้ในที่นี้ว่า ข้าพเจ้าจะเป็นประธานาธิบดีของอเมริกันทุกคน”

อย่างที่ทราบ ที่ผ่านมา มหาอำนาจโลกต้นแบบ “ประชาธิปไตย” เผชิญวิกฤตหนัก
ทำให้คนอเมริกันแยกขั้ว และหันเหไปสู่การใช้ “อำนาจ” ต่อกันอย่างน่าตกตะลึง
พิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่ ที่ตามเดิมต้องมีประชาชนมาร่วมเป็นล้านคน
แต่สิ่งที่ปรากฏต่อสายตาคนอเมริกันและคนทั่วโลก คือคนไม่กี่พันคนมาร่วม
น้อยกว่ากำลังทหารที่เข้ามาล็อกดาวน์
ด้านหนึ่งอาจเพราะต้องการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19
แต่ที่เป็นหัวใจหลัก
ก็คือ การป้องกันการใช้อำนาจ “นอกระบบ” ประชาธิปไตยเข้ามาขัดขวางการส่งมอบเก้าอี้ประธานาธิบดี

สะท้อนภาวะ “วิกฤตประชาธิปไตย” ของมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐชัดเจน
การประกาศของ โจ ไบเดน “ข้าพเจ้าจะเป็นประธานาธิบดีของอเมริกันทุกคน” จึงชวนให้ติดตาม
และ ซ.ต.พ.– “ซึ่งต้องพิสูจน์” อย่างใกล้ชิด
เขาจะหลอมรวมคนอเมริกันได้จริงหรือไม่ อย่างไร น่าสนใจ
เพราะไม่ใช่เรื่องง่าย

Advertisement

ดูอย่างประเทศไทย แม้จะไม่มีคำประกาศจากผู้นำตรงๆ ว่า “ข้าพเจ้าจะเป็นนายกรัฐมนตรีของคนไทยทุกคน”
แต่เราก็ได้ยินคำพูด “ผมจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
ซึ่งน่าจะตีความหมายได้ไม่แตกต่างกัน นั่นคือหลอมรวมประชาชนเดินไปข้างหน้า “พร้อมกัน”
จะไม่มีใครตกหล่น

แต่ถามว่าประชาธิปไตย และการแตกขั้ว แตกความคิดของไทย ดีขึ้นหรือ ย่ำแย่ลง
ในวันนี้ การปฏิรูปเพิ่งย้อนกลับออกมาเป็นกฎหมายฉบับแก้ไข เมื่อปลายปีที่แล้วนี่เอง
การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังอยู่ในขั้นตอนกรรมาธิการฯ ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าที่สุดจะนำไปสู่การเปิดล็อกประชาธิปไตย หรือปิดตายประชาธิปไตย
คณะกรรมการสมานฉันท์ที่เกิดมาอย่างกระท่อนกระแท่น เว้าแหว่ง เพิ่งเริ่มประชุมไปครั้งแรก

ความเหลื่อมล้ำเท่าเทียม ไม่ว่าด้านเศรษฐกิจ สังคม การสาธารณสุข โดยเฉพาะหลังการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ยังเป็นปัญหาและวิกฤตอันหนักหน่วง
ขณะที่ความแตกแยก จากเฉพาะเรื่องสีเสื้อ ได้ร้าวลึกลงไปถึง ฐานรากของสังคม เกิดภาวะการแตกหักระหว่างรุ่นและวัยอย่างรุนแรง
นำไปสู่ปรากฏการณ์ “ไม่คิดจะได้เห็น ก็ได้เห็น”

Advertisement

การปะทะอย่างรุนแรง แตกหักดังกล่าว นำไปสู่การใช้อำนาจ โดยเฉพาะกฎหมายที่ตนเองถืออยู่ เข้าไปจัดการฝ่ายตรงกันข้าม อย่างจะไม่ให้มีที่ยืนในสังคมอีกต่อไป
เหล่านี้ทำให้ประโยคที่ว่า “ผมจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เป็นวาทะอันล้มละลาย ไร้ความหวัง
และทวีความเข้มข้น ที่จะนำไปสู่การแตกหักอันรุนแรง ที่ยากจะประเมินว่า ผลในบั้นปลายจะเป็นอย่างไร
แต่สิ่งที่เราได้สัมผัสกันทั่วหน้านั่นก็คือ สองรายทางที่ “มหาวิกฤต” ผ่านไป สร้างความเสียหายอย่างไม่หยุดหย่อน

จึงเป็นสิ่งที่ท้าทาย น่าติดตาม ที่อีกฟากโลกหนึ่ง ซึ่งเป็นต้นแบบประชาธิปไตย ประกาศจะนำพาประเทศของเขาออกจากวิกฤต
เขาจะทำได้จริงหรือไม่ และอย่างไร
จะพ้นหล่มตม อย่างที่ประเทศอีกฟากหนึ่งติดอยู่นานนับทศวรรษ ยังดิ้นรนกระเสือกกระสนหาทางหลุดพ้นไม่ได้ หรือไม่

สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image