ผู้เขียน | กล้า สมุทวณิช |
---|
เหรียญสองหน้าของปรากฏการณ์ ‘ทัวร์ลง’
อันที่จริงพฤติกรรมในสังคมออนไลน์ที่ใกล้เคียงกับเรียกกันในตอนนี้ว่า “ทัวร์ลง” นั้นมีมาตั้งแต่ในระยะแรกที่โซเชียลเน็ตเวิร์กได้รับความนิยมอย่างทั่วไป เมื่อสักประมาณสักเจ็ดแปดปีที่แล้ว ในสมัยนั้น บางครั้งเราก็เรียกมันว่า “ดราม่า”
พื้นที่ดราม่าเกิดในระยะแรกๆ ก็สมัยเว็บบอร์ด Pantip ตามมาด้วยเครือข่ายโซเชียล Facebook ซึ่งเป็นพื้นที่หลักในการเขียนและระบายความคิด ดังนั้นหากใครโพสต์ หรือเขียนอะไรสักอย่างที่มันเป็นที่ถกเถียงกันระหว่างความเชื่อสองทาง หรือสวนทางกับแนวคิดค่านิยมของสังคม และเปิดโพสต์นั้นให้เป็นสาธารณะแล้ว ก็จะเรียกให้ชาวเน็ตแห่กันเข้าไปแสดงความคิดเห็น ซึ่งถ้ามันถูกใครไปแปะป้ายว่าเป็นดราม่าเสียแล้ว ความคิดเห็นในนั้นก็จะรั่วไหลเป็นสายน้ำ
หากในยุคของ “ดราม่า” นั้น กระแสความคิดเห็นของผู้คนที่มีต่อ “ประเด็น” ที่เกิดเป็นดราม่านั้นก็ไม่ค่อยจะเทไปทางใดทางหนึ่งอย่างขาดลอย เพราะส่วนใหญ่การที่มันเป็น “ดราม่า” นั้นก็เพราะความก้ำกึ่งของมันนั่นแหละ คือมีคนเห็นด้วยแบบครึ่งต่อครึ่ง ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นดราม่าเรื่องที่คนมีชื่อเสียงสักคนใช้จ่ายเงินของเขาไปกับอะไรสักอย่างหนึ่ง อาจจะเป็นรถยนต์ กระเป๋า หรือรองเท้า มันก็จะมีความเห็นไปสองทางเป็นอย่างน้อย ทางหนึ่งคือว่า การใช้เงินแบบนี้เป็นเรื่องฟุ่มเฟือยไร้สาระ ในขณะที่ผู้คนหลายภาคส่วนนั้นลำบากยากเข็ญ กับความเห็นอีกทางหนึ่งที่จะมองว่า นั่นมันก็เงินของเขา ทำไมเขาจ่ายให้ผู้ขายแต่มาส่งผลเป็นมวลน้ำหนักบนปลายผมของผู้อื่นได้เล่า
ทว่าในยุคสมัยแห่ง “ทัวร์ลง” นั้นแตกต่างกันออกไป เพราะ “กระแสธาร” ของความคิดเห็นในยุคแห่งนักท่องเที่ยวเป็นหมู่คณะในโลกออนไลน์นั้น มักจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันเกือบทั้งหมด และแน่นอนว่ามันไม่น่าจะเป็นกระแสความคิดเห็นที่เจ้าของโพสต์จะเห็นแล้วรู้สึกยินดีสบายใจแน่ๆ
ประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยโดนทัวร์ลงเบาๆ (บนบางโพสต์จากคอลัมน์ “คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง” นี่แหละ) ขอบอกว่ามันค่อนข้างน่ากลัวที่เดียว เพราะถ้าโพสต์ที่คณะนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนนั้นดันอยู่ใน Facebook ส่วนตัว แล้วคุณตั้งรับการแจ้งเตือน (Notification) เอาไว้ วันนั้นทั้งวันนับแต่คณะทัวร์มาเยือน โทรศัพท์ของคุณจะท่วมไปด้วยการแจ้งเตือนไม่ขาดสาย เมื่อเปิดเข้าไปใน Facebook ก็จะเจอข้อความมารอว่ายังไม่ได้อ่านเป็นหลักสิบหลักร้อยข้อความและการเตือน … นี่คือระดับ “ทัวร์คณะเล็ก” เท่านั้น
ยิ่งถ้าเจอคณะทัวร์ระดับมหาชนไป แม้แต่ระดับผู้ครองอำนาจรัฐเองก็อยู่ไม่สุข เราได้เห็นปรากฏการณ์ความเกรียงไกรของคณะทัวร์มาแล้วหลายครั้ง ที่ทำให้หน่วยงานของรัฐ หรือคนระดับอธิบดี ผู้ว่าฯ หรือแม้แต่รัฐมนตรีต้องออกมาชี้แจง หรือถึงกับกลับลำเปลี่ยนแปลงมาตรการไปเลยก็มี เช่น ตอนที่ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเกี่ยวกับ COVID-19 เรื่องแอพพ์ “หมอชนะ” นั่นก็เป็นเรื่องสดๆ ร้อนๆ ที่บอกเราว่าพลานุภาพของคณะทัวร์นี้ไม่ใช่สิ่งที่จะดูเบาได้
ถ้าในแง่นี้ “ปรากฏการณ์ทัวร์ลง” ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือ หรืออาวุธของคนตัวเล็กตัวน้อย ประชาชนธรรมดาที่รวมกลุ่มกันได้เป็นกลุ่มใหญ่ โดยไม่ได้นัดหมาย จนมีพลังแรงพอที่จะสอดส่อง ทักท้วง ติติงผู้ใช้อำนาจรัฐและการใช้อำนาจรัฐทุกระดับให้ต้องฟังเสียงประชาชนเพื่อทบทวนได้ หรือแม้กระทั่งกับทุนใหญ่หลายเจ้าก็ยังต้องเกรงใจคณะทัวร์ชาวเน็ตนี้
นอกจากนั้น การที่ผู้คนรวมตัว (หรือร่วมทัวร์) กันนี้ ก็อาจจะช่วยป้องปรามการแสดงออกที่ไม่เคารพสิทธิของผู้อื่น หรือไม่เคารพในคุณค่าที่สังคมปัจจุบันยอมรับ เช่นการเล่นตลกทางเพศ การเหยียดผิวเหยียดเพศ (ที่บางครั้งมาในรูปของโฆษณาคิดสั้น) รวมถึงการละเมิดสิทธิของผู้คนในเรื่องต่างๆ หรือการลุแก่อำนาจของผู้มีสถานะและอำนาจเหนือกว่าที่ปกติแล้วไม่เคยถูกตรวจสอบ เช่น การลงโทษอย่างโหดร้าย หรือผิดกฎหมายในโรงเรียน การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งถ้ามีคนถ่ายคลิปมาได้และมีทัวร์ไปลงแล้วก็รับประกันได้ว่า เป็นอันอยู่ไม่สุขทั้งทบวงกรม
นอกจากนี้ การ “ทัวร์ลง” ยังช่วยยับยั้งการกระทำที่ไม่เข้าท่าของคนบางประเภทที่อยากดังด้วยวิธีลัด ก็สร้างคอนเทนต์หรือถ่ายคลิปประเภทเรียกร้องความสนใจ เช่น การกลั่นแกล้งก่อความเดือดร้อนในสังคม หรือแม้แต่การรังแก หรือทารุณกรรมสัตว์เพื่อเรียกยอดไลค์ คอนเทนต์ หรือคลิปประเภทนี้ หากมีคนไปเป็นและแชร์กันจนทัวร์มาเยือน ก็อาจจะทำให้มนุษย์อยากดังพวกนี้ดับอนาถต้องปิดเพจหนี หรืออาจจะถูกดำเนินคดีเลยก็ได้ หากการนั้นเป็นเรื่องผิดกฎหมายอาญาสักเรื่องสักบทหนึ่ง
กระนั้น กลไก “จัดทัวร์” ของชาวเน็ตก็เป็นดาบสองคมหรือเหรียญสองด้านได้เช่นกัน เรื่องแรกที่ขอแยกออกมาพูดก่อน คือ เรื่องของ “ทัวร์ปลอม” ของฝ่ายปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารเชิงจิตวิทยาหรือ (IO) ซึ่งมีทั้งสังกัดของรัฐและที่เป็น IO ของเอกชนทุนใหญ่
คนทำเพจ คอนเทนต์ หรือบุคคลสาธารณะ หรือผู้มีบทบาททางการเมืองที่มีประสบการณ์จะสามารถแยกแยะ “ทัวร์ IO” ออกจาก “ทัวร์จริง ๆ” ได้ไม่ยากนัก เริ่มตั้งแต่ “เวลา” ในการที่นักท่องเที่ยวลึกลับเข้ามาเยี่ยมเยือน มิตรสหายหลายท่านสังเกตว่า เมื่อไรก็ตามที่โพสต์ของเขามีคนแชร์ไปเกินกี่พันแชร์ หรือรีทวีตไปเท่านั้นเท่านี้ครั้ง เมื่อนั้นอีกไม่นานจะเริ่มมีความเห็นแปลกๆ ที่ไม่เป็นธรรมชาติ มิตรสหายบางท่านพบข้อสังเกตว่า บางครั้ง “คณะทัวร์” จะมาหลังเวลาพักเที่ยง ราวกับเพิ่งได้รับบรีฟและเป้าหมายสำหรับงานรอบบ่ายนั้น
คำพูดที่คณะทัวร์มา “แสดงความคิดเห็น” ก็จะซ้ำกันไปซ้ำกันมาในรูปแบบเดิม เช่น “เป็นถึง …(ตำแหน่งหรืออาชีพของผู้โพสต์)… ไม่น่าจะมีพฤติกรรม…(อะไรก็ว่าไป)…แบบนี้เลยค่ะ (ครับ)” หรือไม่ก็ “คุณคนโพสต์น่ะทำอะไรให้สังคมบ้าง” “สาวก…(สีประจำพรรคการเมืองที่ถูกยุบไป) เน่านี่หว่า…” หรือไม่ก็แช่งกันดื้อๆ “ขอให้ตกนรกหมกไหม้อย่าได้ผุดได้เกิด”
แม้จะรู้ทั้งรู้ว่านี่คือ คณะทัวร์จัดตั้ง เหมือนกองทัพโคลนสวมเครื่องแบบนั่งกันมาบนรถของทางราชการแล้วทำทีเป็นนักท่องเที่ยว แต่ถ้าจิตใจไม่แข็งนิ่งยังติงไหว ก็ต้องมีจิตตก หรือเสียสุขภาพจิต หรือไม่อยากโพสต์ประเด็นสาธารณะอะไรไปเป็นอาทิตย์ๆ อยู่ดี
อย่างไรก็ตาม กรณีที่ทำใจยากกว่าการถูกกองทัพ IO ทัวร์ คือการโดน “ทัวร์ลง” แบบที่เป็นผู้คนจริงๆ อยู่เบื้องหลังจอใครจอมันที่ไม่ได้ถูกจัดตั้งหรือเกณฑ์มา ซึ่งนั่นก็เป็นปัญหาอีกรูปแบบ
มันอาจจะเข้าใจได้อยู่ในกรณีที่ทัวร์ที่มาลงนั้น เลือกจะมาเยี่ยมเยือนเราเพราะเนื้อหา รูปภาพ หรือคลิปที่เราโพสต์ไปนั้น มันมีปัญหาหรือขัดต่อคุณค่าที่สังคมอารยะยอมรับ เป็นเรื่องผิดกฎหมาย หรือไปทำร้ายจิตใจดูหมิ่นเหยียดหยามใคร หากในช่วงหลัง ทัวร์ก็เลือกมาลงในเรื่อง หรือโพสต์ที่คาดไม่ถึง
อันที่จริงแล้ว โพสต์ คอนเทนต์ หรือข้อเขียนข้อคิดของใครสักคน แม้ว่าจะเปิดเป็นสาธารณะที่หมายถึงผู้ใช้แพลตฟอร์มนั้นจะเป็นใครก็เข้าถึงได้ก็ตาม แต่ถึงกระนั้นผู้เขียนก็หมายใจว่าที่มาชมหรืออ่าน อย่างน้อยน่าจะมีความสนใจหรือรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ ในระดับใกล้เคียงกัน หรือพูดง่ายๆ ว่าพูดภาษาเดียวกัน แต่เมื่อโพสต์นั้นมันถูกแชร์ออกไปในวงกว้าง และบางส่วนของมันไปสะกิดใจคนกลุ่มใหญ่ประมาณหนึ่งเข้า ถ้าองค์ประกอบหลายๆ อย่างได้ มันก็จะเรียกทัวร์เข้ามาแบบที่อาจจะเรียกได้ว่าไม่ยุติธรรมกับผู้เขียน หรือเจ้าของเนื้อหานั้นสักเท่าไร
เช่น เมื่อสักเดือนที่แล้ว มีหนังสือที่เป็นปรากฏการณ์ฮือฮาท้าทายในแวดวงบริหารธุรกิจ และบริหารทรัพยากรบุคคลและนักอ่านผู้สนใจเรื่องราวแนวเคล็ดลับความสำเร็จอยู่เล่มหนึ่ง มีชื่อว่า “NO RULES RULES: Netflix and the Culture of Reinvention” ซึ่งเขียนโดย CEO Netflix คือ Reed Hastings และ Erin Meyer
เหตุที่เป็นที่ฮือฮา เพราะหนังสือเล่มนี้นำเสนอความคิดที่ออกจะโหดร้ายแต่ตรงไปตรงมาคือการเสนอแนวคิดที่ว่า คนที่ทำงานเก่งที่สุดระดับสุดยอดของวงการ (Top performer) นั้นจะทำงานได้มีประสิทธิผลและผลิตภาพที่ชี้วัดได้มากกว่าพนักงานระดับกลางๆ (Average people) ราวๆ 50 เท่า ดังนั้นสำหรับแนวคิด No Rules Rules ของ Netflix คือการเลือกที่จะจ้างแต่คนทำงานระดับสุดยอดเท่านั้น โดยยินดีจ่ายค่าตอบแทนให้อย่างไม่อั้น และให้อิสระในการทำงานอย่างเต็มที่ ขออย่างเดียวคือ ต้องทำงานให้ได้ผลงานออกมาระดับสุดยอดด้วยเช่นกัน
แนวคิดสุดโต่งนี้เป็นที่ถกเถียงกันในระดับหนึ่งในวงการบริหารธุรกิจและ HR แต่เมื่อมีเพจ ซึ่งเป็นที่นิยมกันในหมู่คนทำงานรุ่นใหม่ นักลงทุน หรือเจ้าของกิจการ นำเรื่องนี้มาเขียนด้วยหัวข้อประมาณว่า “หรือจะไม่มีที่ยืนสำหรับคนทำงานระดับกลางๆ อีกแล้ว” ซึ่งเป็นการวิเคราะห์แนวคิด No Rules Rules ของ Netflix ร่วมกับความเป็นไปได้ของเทรนของโลกซึ่ง AI และระบบ Automation จะมาทดแทนการทำงานในลักษณะงานประจำได้เกือบทั้งหมด
เพียงเพราะชื่อที่ล่อตานั้นเองทำให้โพสต์นี้โดนทัวร์มาลง และมันก็กลายเป็นเรื่องอื่นไปลามไปว่ากันถึงเนื้อถึงตัวผู้เขียนกันเลยทีเดียว
เช่นเดียวหลายครั้งที่มีผู้ศึกษาด้านกฎหมายอาญาและสิทธิมนุษยชนเขียนชวนอภิปรายในเรื่องความเหมาะควรของโทษประหาร หรือผู้สนใจด้านพฤติกรรมมนุษย์ตั้งคำถามว่า “พ่อแม่เลี้ยงลูกเพราะรักลูกหรือเพราะรัก หรือเพื่อประโยชน์ของตัว” ก็รับประกันได้ว่าถ้ามันแชร์ออกไปก็รับรองว่าเตรียมพื้นที่จอดรถสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วทุกสารทิศได้เลย
ในที่สุดกลไก “ทัวร์ลง” ที่เคยเป็นเครื่องมือต่อกรกับอำนาจที่เหนือกว่า กลับถูกนำมาใช้กับคนในระนาบใกล้เคียงกัน และยังเป็นทัวร์ที่ไม่ดูไม่ฟังอีร้าค่าอีรมอะไร เปิดมาก็ใส่ก่อนเลยไม่ต้องอ่าน ด่าก็เพราะชื่อบทความ หรือแนวคิดบางส่วนที่ควรจะต้องอาศัยความรู้ หรือการทำความเข้าใจในประเด็น แต่การแห่ตามมาแบบชะโงกทัวร์ด่ากันมันก็ง่ายดายสะใจกว่า
ในที่สุดวัฒนธรรม “ทัวร์ลง” ก็อาจจะทำให้หลายคนแหยงคร้ามที่จะแลกเปลี่ยนมุมมองที่แตกต่างแหลมคมหรือท้าทายความเชื่อของสังคม เพราะแค่จะให้ถกเถียงกับผู้ที่สนใจหรือมีความเข้าใจตรงกันก็ว่าเหนื่อยแล้ว ยังจะต้องเจอกับ “ชาวทัวร์” ทุกระดับประทับใจมาทิ้งรอยเท้าเอาไว้ในเพจในโพสต์ จนบางท่านโดนเข้าไปถึงกับต้องลบโพสต์หรือปิดเพจไปเลย แล้วอยู่เงียบๆ หลบคณะทัวร์กันไป
เช่นนี้ วัฒนธรรม “ทัวร์ลง” นี้จึงอาจจะเป็นอันตรายต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดของการขัดเกลาทางความคิดในระบอบประชาธิปไตยไปอย่างน่าเสียดาย
กล้า สมุทวณิช