1 ทศวรรษของอาหรับสปริง

1 ทศวรรษของอาหรับสปริง

1 ทศวรรษของอาหรับสปริง

สปริง คือ ฤดูที่ใบไม้ผลิดอก ออกใบขึ้นมาอีกครั้งหลังจาก ฤดูหนาวจบสิ้นลงแล้ว สำหรับประเทศที่อยู่ทางซีกโลกเหนือ เช่น ทวีปยุโรป สปริงจะตรงกับเดือนมีนาคม จนถึงพฤษภาคม ส่วนประเทศที่อยู่ทางซีกโลกใต้ เช่น ทวีปออสเตรเลีย และประเทศนิวซีแลนด์ จะเริ่มเดือนกันยายน และจะหมดลงที่เดือนพฤศจิกายน ฤดูใบไม้ผลิ หมายถึง สัญลักษณ์ของการบังเกิดใหม่ ฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตใหม่ ที่ได้ผ่านพ้นฤดูหนาวที่มีหิมะตกหนาวเย็นนั้น ต้นไม้ทิ้งใบเสมือนตายไปแล้ว พอถึงฤดูใบไม้ผลิก็ผลิใบใหม่ และต้นได้ฟื้นขึ้นมาใหม่ หรือเปรียบเสมือนการเกิดใหม่นั่นเอง

อาหรับสปริง คือ สัญลักษณ์ของการบังเกิดใหม่ สัญลักษณ์ของชีวิตใหม่ ที่ได้ผ่านพ้นฤดูหนาวที่บรรดา ต้นไม้พากันทิ้งใบเสมือนตายไปแล้วของบรรดาชาติอาหรับที่ประกอบด้วย 23 ประเทศ ซึ่งมีอาณาเขตจากมหาสมุทรแอตแลนติกทางตะวันตกจรดทะเลอาหรับทางตะวันออก และจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางเหนือจรดจะงอยแอฟริกา และมหาสมุทรอินเดียทางตะวันออกเฉียงใต้ มีประชากรรวมทั้งสิ้นประมาณ 422 ล้านคน ชาวอาหรับเป็นชาวเซมิติกเช่นเดียวกับชาวยิว ชาติอาหรับมีอยู่ 23 ประเทศ ได้แก่ แอลจีเรีย, จิบูตี, บาห์เรน, ชาด, เอริเทรีย, อิรัก, จอร์แดน, คูเวต, เลบานอน, ลิเบีย, มอริเตเนีย, โมร็อกโก, โอมาน, ปาเลสไตน์, กาตาร์, ซาอุดีอาระเบีย, โซมาเลีย ซูดาน, ซีเรีย, ตูนีเซีย, อียิปต์, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเยเมน ซึ่งบรรดากลุ่มประเทศอาหรับนั้นส่วนใหญ่มีระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยม และประชาชนส่วนใหญ่ยากจน และสตรีส่วนใหญ่ไร้การศึกษา และไร้อาชีพที่จะเลี้ยงตัวเองได้ ซึ่งมีรากเหง้ามาจากระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยมนั่นเอง

จุดเริ่มต้นของอาหรับสปริงเกิดขึ้นคล้ายกับเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียวกล่าวคือ เรื่องเล็กๆ ก็ทำให้มันเป็นเรื่องใหญ่ได้ที่ประเทศตูนีเซีย เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2553 เมื่อนายโมฮาเหม็ด โบอาซีซี พ่อค้าหาบเร่แผงลอยวัย 26 ปี ผู้ขายผักและผลไม้ในเมืองซิดิบูซาอิด (เมืองปริมณฑลของเมืองหลวง เหมือนกับนนทบุรี ปทุมธานีของประเทศไทย) เพื่อหาเลี้ยงมารดาหม้ายและน้องๆ อีก 6 คนถูกตำรวจเทศกิจยึดแผงลอยพร้อมผักผลไม้ และตาชั่ง เนื่องจากเขาไม่มีใบอนุญาต และไม่มีเงินจ่ายสินบนให้กับตำรวจเทศกิจ เขาจึงไปร้องเรียนต่อผู้ว่าการเมืองซิดิบูซาอิด แต่ถูกไล่กลับมาถึง 3 ครั้ง เขาจึงราดน้ำมันเผาตัวเองที่หน้าศาลากลางเมืองซิดิบูซาอิดนั่นเอง อย่างหมดหวังในชีวิต

Advertisement

การประท้วง และการเสียชีวิตของนายโมฮาเหม็ด โบอาซีซีดังกล่าว ทำให้ประชาชนที่มีความไม่พอใจการบริหารของประธานาธิบดีไซเน เอล อบิดีน เบน อาลี ที่ปกครองประเทศมานาน 24 ปี อย่างเผด็จการที่ไร้ประสิทธิภาพเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงได้ออกมาเดินขบวนประท้วงต่อต้านรัฐบาลของนายเบนอาลีกันเป็นจำนวนมหาศาลจนกระทั่งสามารถโค่นล้มรัฐบาลลงได้ และประธานาธิบดีไซเน เอล อบิดีนเบนอาลี ต้องหนีไปลี้ภัยในซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2554

ความสำเร็จของประชาชนชาวตูนีเซียก็เป็นไฟที่ลุกขึ้น และลามไปติดกลุ่มประเทศอาหรับอย่างรวดเร็ว เพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น ชาวอาหรับในประเทศต่างๆ ที่อยู่ในสภาพคล้ายกันคือ รัฐบาลเผด็จการอำนาจนิยมที่ด้อยประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ มีการคอร์รัปชั่นอยู่ทั่วไปอย่างช้านานก็เริ่มออกมาประท้วงต่อต้านรัฐบาลตัวเองเช่นกัน ที่ประเทศโอมาน, เยเมน, แอลจีเรีย, อียิปต์, จีบูติ, ซูดาน ก่อนจะลามไปที่อิรัก, ลิเบีย, โมร็อกโก, บาห์เรน, คูเวต, ซีเรีย รวมถึงซาอุดีอาระเบียด้วย ส่วนผลจากเหตุการณ์อาหรับสปริงก็แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ บางประเทศ เช่น ตูนีเซีย ลิเบีย อียิปต์ ได้เกิดการโค่นล้มรัฐบาลที่ครองอำนาจมาเป็นเวลานานลง บางประเทศก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เช่น ซาอุดีอาระเบีย แต่บางประเทศอย่างอิรัก และซีเรีย ก็นำไปสู่สงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อต่อมาอีกหลายปี

ท่านผู้อ่านบางท่านอาจสงสัยว่าไม่มีประเทศอิหร่านรวมอยู่ด้วยในอาหรับสปริงหรือ ? ต้องขอเรียนว่า ประเทศอิหร่านไม่ได้เป็นประเทศในกลุ่มอาหรับนะครับเนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของอิหร่านคือ ชาวเปอร์เซีย และอิหร่าน เป็นศูนย์กลางของอารยธรรมเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกมาช้านานพอๆ กับประเทศจีนเลยทีเดียว

Advertisement

ครับ ! 1 ทศวรรษของอาหรับสปริงพิจารณาจากรายงานของสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ซีเอฟอาร์) องค์กรอิสระในสหรัฐอเมริกาที่ตั้งมา 100 ปีแล้วเป็นที่เชื่อถือของผู้ที่ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากที่สุดได้ศึกษาโดยเน้นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับ 6 ประเทศที่เป็นศูนย์กลางของอาหรับสปริง โดยเฉพาะคือบาห์เรน, อียิปต์, ลิเบีย, ซีเรีย, ตูนิเซีย และเยเมน ว่ามีทั้ง 6 ประเทศเหล่านี้ไม่มีกระบวนการทางประชาธิปไตยที่ยั่งยืนเลย ยกเว้นในประเทศตูนิเซีย โดยยกเอาดัชนีคะแนนจากฟรีดอมเฮาส์ ชี้วัด พบว่าตูนิเซียมีระดับคะแนนสูงเป็นอันดับ 1 ห่างจากอีก 5 ประเทศที่เหลือ โดยมีเยเมน ลิเบีย และซีเรีย อยู่ใน 3 อันดับสุดท้าย

ส่วนมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของ 6 ประเทศดังกล่าว ซีเอฟอาร์อ้างอิงกับดัชนีรายได้ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นพีดี) พบว่ามาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเลย และในประเทศอย่างลิเบีย ซีเรีย และเยเมน ที่ต้องเผชิญกับสงครามกลางเมืองยาวนานก็ทำให้มาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่เลวลงอีก ด้านเสรีภาพสื่อ ซีเอฟอาร์อ้างข้อมูลจากคณะกรรมาธิการพิทักษ์สื่อสารมวลชน ที่เปิดเผยจำนวนนักข่าวที่ถูกจับกุม พบว่าหลัง พ.ศ.2553 เป็นต้นมาเสรีภาพสื่อในทุกประเทศย่ำแย่ลงอย่างหนัก รัฐบาลในหลายประเทศใช้วิธีการปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อ นักข่าวทั้งใน และต่างประเทศถูกจับกุมคุมขัง บ้างก็ถูกฆ่า

โดยอียิปต์เป็นประเทศที่นำมาเป็นอันดับ 1 มีการคุมขังนักข่าวจำนวนมาก นับตั้งแต่ประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซีซี เข้าสู่อำนาจตั้งแต่ พ.ศ.2556 เป็นต้นมามีเพียงตูนิเซียเท่านั้น ที่คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2557 สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงหลังอาหรับสปริงเลยก็คือ การคอร์รัปชั่นของรัฐบาล โดยยังคงพบว่าการคอร์รัปชั่นยังคงมีอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในประเทศที่มีสงครามกลางเมืองอย่างลิเบีย เยเมน และซีเรีย นอกจากนี้ ในประเทศลิเบีย ซีเรีย และเยเมน ที่มีสงครามกลางเมืองต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลให้ประชาชนต้องอพยพออกจากบ้านเรือนเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในซีเรียประเทศเดียวส่งผลให้ต้องมีผู้อพยพลี้ภัยไปต่างประเทศแล้วมากกว่า 5 ล้านคน

ขณะที่มีผู้ที่ต้องไร้ที่อยู่อาศัยในประเทศจำนวนมากถึง 6 ล้านคน ด้านเสรีภาพในโลกอินเตอร์เน็ต เป็นข้อมูลจากฟรีดอมเฮาส์ พบว่าอินเตอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนขบวนการ “อาหรับสปริง” ส่วนใหญ่มีเสรีภาพที่ตกต่ำลง โดยเฉพาะในอียิปต์ที่ออกกฎหมายให้รัฐบาลสามารถปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลในโลกออนไลน์ และสามารถจับกุมคุมขังประชาชนที่โพสต์ข้อความต่อต้านรัฐบาลได้

และโดยรวมแล้วประเทศเหล่านี้ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ ที่ชัดเจน เพื่อยกระดับสถานะของสตรีในสังคมเห็นได้ชัดจากประเทศอย่างอียิปต์ รวมไปถึงตูนิเซียเอง แต่บรรดาสตรีในประเทศเหล่านี้ต่างลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิและความยุติธรรมมากยิ่งขึ้นในช่วงที่ผ่านมาโดยสรุปแล้วปรากฏการณ์ “อาหรับสปริง” ที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน ประเทศทั้ง 6 ดังกล่าว ยังห่างไกลจากเสรีภาพและประชาธิปไตยที่เคยมีอาหรับสปริงเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ของชาวอาหรับทั้งผองอยู่นั่นเอง

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image