การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจจังหวัด

การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจจังหวัด

การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจจังหวัด

1

ใน 77 จังหวัดของประเทศไทย มีหลายจังหวัดที่อิงการท่องเที่ยวสูงหรือสูงมาก เป็นที่น่ายินดีสำหรับที่ธุรกิจการท่องเที่ยวขยายตัวอย่างมากในสิบปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือสายการบินราคาประหยัด จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเกินคาด (โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน) ส่งผลให้ธุรกิจพักแรม-การขนส่ง-บริการนำเที่ยวและอื่นๆ ขยายตัว แต่ธุรกิจการท่องเที่ยวนั้นมีจุดอ่อนบางประการ ประการหนึ่งคือความผันผวน-อ่อนไหวต่อสถานการณ์และข่าว ทั้งยังพึ่งพาปัจจัยภายนอกสูง ประการที่สอง ธุรกิจกระจุกตัวในบางจังหวัดเท่านั้น ไม่กระจายดังนั้นผลลัพธ์ต่อการกระจายรายได้จึงน่ากังขาหรือไม่ชัดเจน มีคนตั้งคำถามว่ากลุ่มผู้ใช้แรงงานหรือผู้ประกอบการรายย่อยได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยวเพียงใด? ในโอกาสนี้ขอนำผลวิจัยเล็กๆ มานำเสนอ โดยนำสถิตินักท่องเที่ยวต่างประเทศและอัตราการเข้าพักแรมเป็นหลักฐาน พร้อมข้อสังเกตและวิจารณ์ตามสมควร

2

Advertisement

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้จัดทำเครื่องชี้ภาวะการท่องเที่ยวเป็นข้อมูลรายเดือน โดยประมวลจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรง แสดงในรูปภาพที่ 1 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้าไทย (หน่วย พันคน) ในแต่ละเดือน เป็นตัวเลขที่แม่นตรงเชื่อถือได้ เพราะจดบันทึกเป็นรายบุคคลตามกฎหมายคนเข้าเมืองไมใช่การสุ่มตัวอย่างจากภาพข้างต้นประจักษ์ชัดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจาก 2.5 ล้านคนวัน (ต่อเดือน) กลายเป็นประมาณ 4 ล้านคนวัน (ต่อเดือน) ก่อนตัวเลขสถิติจะดิ่งลงมาหลังโควิด-19 ระบาดตั้งแต่ต้นปี 2563 ส่วนล่างของรูปแสดงการเปลี่ยนแปลง (spike plot) เป็นรายเดือน มีทั้งลบและบวก หลังสังเคราะห์ข้อมูลสรุปข้อสังเกตได้สองประการ ก) จำนวนนักท่องเที่ยวผันผวนตามฤดูกาลอย่างชัดเจน ข) พบแนวโน้มเพิ่มขึ้น (increasing trend) ของนักท่องเที่ยว ระหว่างปี พ.ศ.2553-2562

3

เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ ณ จุดใดจุดหนึ่ง (กรุงเทพฯเป็นหลัก) แล้วแยกย้ายไปจังหวัดต่างๆ เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายรูปแบบ อาทิ การขนส่ง การใช้บริการนำเที่ยวและอื่นๆ การพักแรมเป็นธุรกิจการบริการใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอย่างมาก สถิติการเข้าพักแรมเชื่อถือได้สูงเพราะว่าสถานพักแรมมีหน้าที่จดบันทึกนักท่องเที่ยว รายงานให้ อบจ. พร้อมกับชำระภาษีเข้าพักแรมเป็นรายเดือนตามกฎหมาย (อาจจะคลาดเคลื่อนบ้างในกรณี้พักแรมที่อื่น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจำนวนนี้คงไม่มาก) ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประมวลสถิติอัตราการเข้าพักแรมจำแนกออกเป็น 4 ภาค คือ ภาคกลางรวมกรุงเทพฯ ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคอีสาน จากหลายหน่วยงาน นักวิจัยนำมาพล็อตเป็นรูปกราฟ พร้อมข้อสังเกตว่า หนึ่ง อัตราการเข้าพักผันผวนตามฤดูกาล ในช่วงฤดูท่องเที่ยว (ไฮซีซัน) ประมาณ 75-80% แต่นอกฤดูกาลลดเหลือเพียง 60-65% สอง พบว่ามีความแตกต่างระหว่างภูมิภาคสูง ภาคกลางรวมกรุงเทพฯ อัตราการเข้าพักแรมสูงสุด รองลงมาภาคใต้ เหนือ และอีสาน ตามลำดับ สะท้อนว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศนิยมมาเที่ยวภาคใต้ เหตุใดเป็นเช่นนี้น่ามีการค้นคว้าวิจัยเชิงลึกต่อ

Advertisement

4

ผลงานวิจัยเกี่ยวกับการท่องเที่ยวมีจำนวนมากใช้วิธีการวิจัยแตกต่างกัน ผลงานจำนวนมากเสนอผลวิจัยระดับพื้นที่ (อำเภอ/ตำบล) เช่น สำรวจความคิดเห็นนักท่องเที่ยว สอบถามสถานที่เที่ยวที่ถูกใจหรือคุณลักษณะการบริการต่างๆ ผลงานวิจัยการท่องเที่ยวระดับเศรษฐกิจมหภาคมีจำนวนไม่มาก เท่าที่ค้นพบได้มีผลงานของ อนันต์ วัฒนกุลจรัส เรื่อง เศรษฐกิจการท่องเที่ยวมหภาค ได้รับทุนโครงการเมธีวิจัยอาวุโส (ตีพิมพ์ปี 2555) และผลงานวิจัยเป็นทีมโดย อนันต์ วัฒนกุลจรัส ร่วมกับพรเพ็ญ วรสิทธา และอุดมศักดิ์ ศีลประชาวงศ์ ตีพิมพ์ 2560 เสนอแนวทางสร้างรายได้อย่างยั่งยืนจากการท่องเที่ยว สำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว (จาก 16 จังหวัด เป็นข้อมูลขนาดใหญ่ 11,200 ตัวอย่าง) แจกแจงค่าใช้จ่ายเป็น 12 รายการ สรุปว่า ถ้าแบ่งนักท่องเที่ยวเป็น 3 ระดับ คือกลุ่มรายจ่ายสูง-กลาง-ต่ำ พบว่าค่าใช้จ่ายแตกต่างกันสูงมาก จัดเรียง 5 จังหวัดที่มีรายจ่ายการท่องเที่ยวสูงสุดได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ และกระบี่ เสนอมาตรการให้พยายามเพิ่มสัดส่วนของกลุ่มนักท่องเที่ยวรายจ่ายสูง (high-end tourist) ในวารสารต่างประเทศหลายฉบับมีผลงานทดสอบข้อสันนิษฐานว่า “การท่องเที่ยวนำการเติบโตทางเศรษฐกิจ” (tourism led growth) แต่ผลสรุปไม่ชัดเจน บางท่านสรุปว่าใช่ บางท่านว่าไม่ใช่หรือไม่สามารถสรุปได้

การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจจังหวัด

การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจจังหวัด

ธุรกิจท่องเที่ยวมีคุณลักษณะให้รายได้สูง-แต่เสี่ยงสูง (high return-high risk) เปรียบเทียบกับธุรกิจประเภทอื่น แง่คิดเล็กๆ สำหรับผู้ประกอบการคือ ถ้าเข้ามาในธุรกิจและคาดหวังความยั่งยืนจำเป็นต้องแสวงหาแนวทางเฉลี่ยความเสี่ยง เช่น ทำการเกษตรควบคู่การท่องเที่ยว ผลิตสินค้าเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรมควบคู่กับการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวตามธรรมชาติควบคู่กับงานประจำอื่นๆ เพราะธุรกิจนี้มีขาขึ้นขาลง

ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์
ภคพร วัฒนดำรงค์
สุวิมล เฮงพัฒนา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image