คอลัมน์หน้า 3 : กระสา อำนาจ รัฐประหาร เย้ายวน อำนาจ การเมือง

คอลัมน์หน้า 3 : กระสา อำนาจ รัฐประหาร เย้ายวน อำนาจ การเมือง

กระสา อำนาจ
รัฐประหาร เย้ายวน
อำนาจ การเมือง

จินตภาพต่อการยึดอำนาจในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ในความรู้สึกของคนไทยมีความ “ต่าง” ไปตามแต่ละประสบการณ์และจุดยืน

มองจากด้านของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็รู้สึกอย่าง

เพราะเป้าหมายในการโค่นล้มและทำลายคือ นางออง ซาน ซูจี ซึ่งอยู่ในสภาพละม้ายเหมือนกันอย่างยิ่งกับที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยประสบ

Advertisement

ณ เบื้องหน้า “คสช.” เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ขณะเดียวกัน หากมองจากด้านของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ หากมองจากด้านของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ย่อมเป็นอีกอย่างหนึ่ง

เนื่องจาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ คือเจ้าของคำขวัญ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”

Advertisement

ขณะที่กล่าวสำหรับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เคย “บอยคอต” การเลือกตั้ง และเคยร่วมเป่า “นกหวีด” กับมวลมหาประชาชนมาแล้ว

ยิ่งหากมองจากมุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยิ่งน่าตื่นเต้น

การตัดสินใจยึดอำนาจของ นายพลอาวุโส มิน อ่อง ลาย ในฐานะที่เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ย่อมเป็นสถานการณ์เดียวกันกับการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ขณะดำรงตำแหน่งเป็น “ผบ.ทบ.”

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เข้าดำรงตำแหน่งเป็น “นายกรัฐมนตรี” และมีส่วนอย่างสำคัญในการผลักดัน “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” ออกมา

บนพื้นฐาน “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ DESIGN มาเพื่อพวกเรา”

ผลก็คือ จากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จากการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 เป็นเหมือนกับกระดานหกในทางการเมืองอย่างทรงความหมาย

ทำให้ได้เป็น “นายกรัฐมนตรี” รอบที่ 2

กลายเป็นแรงบันดาลใจอย่างสำคัญให้กับคณะทหารภายใต้การนำของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ก้าวเดินตามด้วยความมั่นใจ

จัดการกับ นางออง ซาน ซูจี ในที่สุด

ไม่ว่า พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย แห่งเมียนมา ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แห่งประเทศไทย เมื่อผ่านการใหญ่ในเรื่อง “รัฐประหาร” มา

ก็เท่ากับหายใจร่วม “รูจมูก” เดียวกัน

สะท้อนให้ประจักษ์ว่า บทสรุปของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ต่อการรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

คือ ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่

อย่างน้อยเสียงร้องตะโกน “ออกไป ออกไป” อันดังกึกก้องตั้งแต่การชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา

ก็ไม่ดังไปถึง “เนปยีดอ” อย่างชัดถ้อย ชัดคำ

อย่างน้อยบทเพลงประจำ I here too อันกระหึ่มขึ้นทุกครั้งที่มีการชุมนุมก็ไม่ฮิตเท่ากับเสียงร้องที่ว่า “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน”

จึงได้มีการขอเวลาอีก 1 ปี ในการสร้าง “ประชาธิปไตย”

เป็นอันว่าหนทางของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย แห่งประเทศเมียนมา ก็ย่ำไปบนเส้นทางที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ทำเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

แม้จะเคยรับรู้กับฤทธิ์เดชของสถานการณ์เดือนสิงหาคม 2531

กระนั้น ความเย้ายวนแห่ง “อำนาจ” ทางการทหารที่เป็นดั่งสะพานเชื่อไปยังอำนาจทาง “การเมือง” ก็หอมหวานเป็นอย่างยิ่ง

หอมหวานให้ได้ “ลิ้มลอง” ไปอีกนานแสนนาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image