คอลัมน์หน้า 3 : แรงส่ง การเมือง จาก รัฐประหาร‘พม่า’ การเมือง ในไทย

คอลัมน์หน้า 3 : แรงส่ง การเมือง จาก รัฐประหาร‘พม่า’ การเมือง ในไทย

แรงส่ง การเมือง
จาก รัฐประหาร‘พม่า’
การเมือง ในไทย

ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับรัฐประหารที่พม่า ไม่ว่าจะไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารที่พม่า ในที่สุดแล้ว ผลสะเทือนจาก “รัฐประหาร” ก็จะกระทบมาจนได้

อย่างน้อยก็มีการประท้วงของคนพม่า

ไม่ว่าจะเป็นการประท้วง ณ บริเวณหน้าสถานทูต ถนนสาทร ไม่ว่าจะเป็นการประท้วง ณ บริเวณหน้าอาคารสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน

Advertisement

ยิ่งกว่านั้น “อารยะขัดขืน” จากพม่าก็รุนแรง

ลำพังการนัดหมายกันเคาะหม้อ ไฟ ประสานกับการบีบแตร และเปิดไฟรถบนท้องถนนที่สัญจรไปมาก็ได้กลายเป็น “ไวรัล” ในโลกออนไลน์

ยัง “ปฏิกิริยา” ในทาง “สังคม” อีกเล่า

Advertisement

เห็นได้จากภาพการติดโบแดงของบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าหมอ ไม่ว่าพยาบาล เห็นได้จากการลาออกจากบริษัทใหญ่อันเป็นเครือข่ายทหารของ “วิศวกร”

ที่สำคัญ ทุกคนล้วน “ชู 3 นิ้ว” อย่างพร้อมเพรียง

มีความพยายามจากคนบางกลุ่ม บางพวก นำเอาเหตุผลในการรัฐประหารของทหารพม่ามาประโคมเหมือนกับเป็นความชอบธรรม

รับรองว่าสามารถทำได้ตาม “รัฐธรรมนูญ”

กระนั้น ข้อมูลอันดำรงอยู่ภายในสังคมพม่า ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดและผล “การเลือกตั้ง” ที่ก่อให้เกิดความหวาดกลัวเป็นอย่างสูงในหมู่ทหาร

หากปล่อยให้ ออง ซาน ซูจี บริหารต่อคงเหนื่อยแน่

เพราะการเลือกตั้งเมื่อ 5 ปีก่อนชัยชนะของ ออง ซาน ซูจี ก็ท่วมท้นเหนือพรรคทหาร มาเมื่อเดือนพฤศจิกายนก็กุมชัยได้มากกว่าร้อย 80

นี่ย่อมส่อแนวโน้มที่จะนำไปสู่การแก้ไข “รัฐธรรมนูญ”

บทบาทและความหมายอันเป็นชัยชนะของพรรคการเมือง ออง ซาน ซูจี หมายความว่าอำนาจของกองทัพจะถูกลิดรอนลงเป็นลำดับ

จึงจำเป็นต้อง “รัฐประหาร” เพื่อรักษา “อำนาจ”

นับวันความชอบธรรมของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย จะถดถอยลงไปตามกระแสความไม่พอใจทั้งจากชาวพม่าและนานาอารยประเทศ

“ข้อมูล” ของ มิน อ่อง ลาย เริ่มแพร่กระจาย

เป็นกระบวนการสร้างความมั่งคั่งโดยการประกอบวิสาหกิจขนาดใหญ่ ใช้ทั้งอิทธิพลทางการทหาร อิทธิพลทางการเมือง

แม้กระทั่งเรื่องใน “ครอบครัว” ก็ไม่เว้น

รัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ จึงไม่เพียงเพื่อการเข้ายึดกุมอำนาจ หากแต่เพื่อรักษาฐานและขยายฐานในทางเศรษฐกิจ

เหมือนกับ “ทหาร” ในประเทศด้อยพัฒนาหลายประเทศ

แม้จะมีความพยายามจะแยกบทบาทรัฐประหารของพม่าให้เป็นเรื่องของพม่า แต่ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะแยกห่างออกจากรัฐประหารในไทย

กลับจะกลายเป็น “คู่แฝด” ในทาง “การเมือง”

การเปิดโปงกระบวนการรัฐประหารของ “กองทัพ” ในพม่า กลับกลายเป็นการเปิดโปงกระบวนการรัฐประหารของกองทัพ ของทหารในไทยไปโดยอัตโนมัติ

ไม่เพียงเพราะเป็น “บุตรบุญธรรม” ของ “ผู้มากด้วยบารมี”

หากแต่ประการสำคัญเป็นอย่างมากคือการเรียนรู้ในกระบวนการยึดอำนาจ สืบทอดอำนาจระหว่างทหารด้วยกันล้วนดำเนินไปอย่างสันถวมิตรสนิทสนม

ไม่รู้ว่าใครเป็น “ครู” ไม่รู้ว่าใครเป็น “ศิษย์”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image