สถานีคิดเลขที่ 12 : รัฐประหาร-กองทัพ-หม้อ-ทิชชู

สถานีคิดเลขที่ 12 : รัฐประหาร-กองทัพ-หม้อ-ทิชชู รัฐประหารที่เกิดขึ้นในเมียนมา

สถานีคิดเลขที่ 12 : รัฐประหาร-กองทัพ-หม้อ-ทิชชู

รัฐประหารที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมานั้นมีบริบทเฉพาะของตนเองแน่ๆ ทั้งจากตำแหน่งแห่งที่ทางการเมือง-ผลประโยชน์มหาศาลของกองทัพ เงื่อนไขพิเศษทางรัฐธรรมนูญ ข้อจำกัด-ความบกพร่องของพรรคการเมืองใหญ่ ตลอดจนความซับซ้อนของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ฯลฯ

เช่นเดียวกับที่ประเทศไทยก็มีบริบททางการเมืองแบบเฉพาะพิเศษของตน

ทว่าสิ่งที่เราได้พบเห็นตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาก็คือ บริบทเฉพาะอันก่อให้เกิดรัฐประหารในเมียนมานั้น เริ่มจะลีบเรียวกลายเป็นเพียงเครื่องมือทางการเมืองของชนชั้นนำภายในประเทศบางกลุ่ม

Advertisement

ขณะที่การลุกขึ้นต่อต้านรัฐประหารดูจะผูกโยงกับค่านิยมอันเป็นสากลยิ่งกว่า และกลุ่มผู้คนอันหลากหลายกว้างขวางมากกว่า

ผ่านทรรศนะมุมมองที่ว่าเมื่อเมียนมาเปิดประเทศและปลดปล่อยตนเองออกมาซึมซับบรรยากาศของระบอบประชาธิปไตยเรียบร้อยแล้ว

กองทัพก็ควรจะเป็นฝ่ายถอยห่างออกจากการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ และปัญหาของประชาธิปไตยต้องแก้ไขด้วยกลไกแบบประชาธิปไตย ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่มีส่วนร่วม มิใช่ประชาธิปไตยซ่อนรูปหรือการยึดอำนาจ-กวาดจับนักการเมืองและนักกิจกรรมเคลื่อนไหวโดยทหาร

ด้วยเหตุนี้ คนเมียนมาที่มองเห็นว่าประชาธิปไตยเป็นทางออกหรือเส้นทางสู่อนาคตที่ดีกว่าจึงไม่อาจยอมรับ “รัฐประหาร 2021” ได้ ดุจเดียวกับคนไทย-คนทั่วโลก ที่นิยมและยึดถือในหลักการเดียวกัน

การชูสามนิ้วของคนไทยและคนเมียนมาคือ “สัญลักษณ์ร่วม” ที่บ่งบอกถึงอุดมการณ์ที่ผู้คนสองประเทศยึดถือไม่ต่างกัน

นอกจากนั้น การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ ผ่านการออกมาเคาะ “หม้อ-กระทะ-กะละมัง” และข้าวของเครื่องใช้ใกล้ตัวอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมาหรือชุมชนของประชาชนเมียนมา ก็นับเป็นการต่อสู้ในวิถีชีวิตประจำวันอันมีลักษณะเฉพาะ ซึ่งส่งเสียงแห่งความเป็นสากลได้อย่างทรงพลัง

นี่เป็นการส่งเสียง-ส่งสารว่าพวกเขาต้องการระบอบประชาธิปไตย ประเทศเมียนมาได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว และการ (พยายาม) หวนกลับมาปกครองประเทศของกองทัพด้วยหลักการนอกประชาธิปไตย คือ สิ่งที่ต้องถูกยืนกรานปฏิเสธ

นี่คือเสียงสะท้อนว่ารัฐประหาร-การแทรกแซงการเมือง-อภิสิทธิ์ของกองทัพ มิได้บางเบานุ่มนวลดังเช่น “กระดาษทิชชู”

ตรงกันข้าม สิ่งเหล่านั้นคือภาระ-อุปสรรคหนักอึ้งของประเทศ ที่ต้องต่อสู้กลับไปด้วยเสียงรบกวนโหวกเหวกน่าหนวกหูจากเครื่องครัวโลหะนานาประเภท

นี่ยังเป็นเสียงสะท้อนที่บ่งชี้ว่ารัฐประหาร-การมีบทบาททางการเมือง-อภิสิทธิ์ที่ตรวจสอบไม่ได้ของกองทัพ มิได้ดำรงอยู่อย่างแนบเนียนกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกับวิถีชีวิตประจำวันของพลเมือง ดุจดั่ง “กระดาษทิชชู” ในห้องสุขา

ตรงกันข้าม ปรากฏการณ์เหล่านั้นคือสิ่งแปลกแยกแปลกปลอมจากวิถีชีวิตความเชื่อของประชาชน-ราษฎร

ซึ่งเรื่องสามัญปกติสำหรับพวกเขามีแนวโน้มจะเป็นการเคาะหม้อเพื่อยืนหยัดหลักการประชาธิปไตยมากกว่า

แน่นอนว่า “เสียงเคาะหม้อ” ของคนเมียนมาจำนวนมาก ย่อมส่งเสียงดังไปถึงเพื่อนร่วมอุดมการณ์ทั่วโลก

รวมถึงมิตรสหายบ้านใกล้เรือนเคียง (มิใช่ศัตรูในตำราประวัติศาสตร์ชาตินิยม) อย่างราษฎรไทยด้วย

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image