สถานีคิดเลขที่12 : แก้ รธน.คืบหน้า โดย นฤตย์ เสกธีระ

คณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญพิจารณาวาระ 2 โดยลงมติรายละเอียดในมาตรา 256 กันไปแล้ว

เท่าที่ติดตามข่าวสาร แม้จะสับสนกันบ้าง แต่ในที่สุดเมื่อเคลียร์ชัด ต้องถือว่าคณะกรรมาธิการที่ประกอบด้วยพรรคฝ่ายรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และวุฒิสภา มีความพยายามจะสมานฉันท์

มีความเข้าใจในแนวทางที่อยากจะให้การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นทางออกของประเทศ

ทางออกแรกที่คณะกรรมาธิการมีมติ นั่นคือ ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับที่มาของ ส.ส.ร.

Advertisement

เห็นว่า ส.ส.ร.จำนวน 200 คน ที่จะทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

นี่หมายความว่า เปิดทางให้ประชาชนเลือกตัวแทนเข้าไปยกร่างกติกากันใหม่

ทางออกที่สองคณะกรรมาธิการได้กำหนดขั้นตอนหลังจาก ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว

กำหนดให้รัฐสภาอภิปรายได้แต่ไม่ให้ลงมติ

แต่ให้ส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ ส.ส.ร.ร่างขึ้นไปให้ กกต.จัดการทำประชามติโดยตรง

ใช้เสียงของประชาชนเป็นผู้ตัดสิน

ตัดข้อครหาเรื่องการใช้กลไกรัฐสภาเข้ามาเกี่ยวข้อง

ต้องยอมรับว่ารัฐสภาชุดปัจจุบัน สมาชิกวุฒิสภาถูกวิพากษ์วิจารณ์มากว่ามีที่มาจาก คสช.

ดังนั้น การเปิดทางให้ประชาชนเลือกตั้ง ส.ส.ร.เป็นตัวแทนในการยกร่าง

และการให้ประชาชนทั่วประเทศลงมติอีกครั้งหลังจาก ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา

ถือว่ากรรมาธิการต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมการร่างกฎกติกาของประเทศเต็มที่

และไม่ให้สมาชิกรัฐสภาปัจจุบันเข้าไปเกี่ยวข้อง

การพิจารณาของคณะกรรมาธิการทำให้มองเห็นเจตนาดี

ต่อไปคณะกรรมาธิการจะส่งให้รัฐสภาลงมติในวาระ 2 หากผ่านพ้นไปได้ก็ทิ้งไว้ 15 วันก่อนจะมาลงมติวาระ 3

มติของคณะกรรมาธิการแสดงว่า หลายคนที่เคยตั้งการ์ดสูงเริ่มลดการ์ดลง

คนที่เคยมองแต่พวกพ้อง เริ่มมองเห็นประโยชน์ที่จะเริ่มต้นใหม่

เห็นประโยชน์ของคนส่วนรวมที่ต้องเริ่มต้นที่คนส่วนใหญ่

คนส่วนใหญ่ของประเทศก็คือประชาชน การเลือกตั้งและการประชามติคือกลไกการเลือกที่ใช้เสียงส่วนใหญ่ในการตัดสิน

แม้จะมีข้อกังวลใจเกี่ยวกับการเลือกตั้ง การแทรกแซงการทำประชามติ

แต่ก็ยังดีกว่าสถานการณ์ทำประชามติในยุค คสช.

รัฐธรรมนูญที่ยกร่างขึ้นใหม่คงไม่สมบูรณ์แบบ ซึ่งก็ต้องมีการแก้ไข ไม่ใช่ฉีกทิ้ง

ถ้าแต่ละฝ่ายเห็นพ้องที่จะเริ่มต้นขับเคลื่อนประเทศโดยคนส่วนใหญ่

แนวทางของคณะกรรมาธิการที่จะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาก็น่าสนับสนุน

เพราะไม่มีใครรู้ว่า ประชาชนจะเลือก ส.ส.ร.แบบไหนเข้าไปทำหน้าที่

ไม่มีใครทราบว่า ประชาชนจะลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

แต่ทุกคนมองเห็นและรู้ว่า ด้วยวิธีดังกล่าว ประชาชนได้มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นจนจบอย่างแน่นอน

ดังนั้น รัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นจนจบ น่าจะเป็นประโยชน์

น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของสมานฉันท์ที่คนไทยคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นในประเทศนี้มาหลายปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image