การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน

การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน

การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน

เมื่อต้นปี 2564 นี้ ผู้เขียนมีโอกาสไปกราบพระที่วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม ของท่านสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้ทำบุญและได้หนังสือเรื่อง “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ของท่านมาเล่มหนึ่ง ได้อ่านแล้วมีสาระและมีประโยชน์มาก จึงคิดว่าควรแก่การนำมาเผยแพร่ ในประเด็นว่า พัฒนาอย่างไรจึงกลายเป็น “การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน”

เมื่อโลกเริ่มมีการพัฒนา เราจะได้ยินการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นอย่างไร แต่คนจำนวนมากยังไม่เข้าใจเท่าไร พอพูดขึ้นมาผู้ฟังจะคาดเดาความหมายกันไปต่างๆ นานา ไม่เหมือนกัน แต่อย่าเดาดีกว่า ไม่มีประโยชน์ เขามีความหมายของเขาอยู่แล้ว คือ คำว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืนนี้” เป็นคำของฝรั่งแปลมาจากฝรั่งเขา คำที่เขาแปลว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน คือ คำว่า “Sustainable Development”

เราควรต้องยอมเสียสละเวลาที่จะไปพูดเรื่อง การพัฒนาที่ยั่งยืนตามความหมายของฝรั่ง ผู้เป็นต้นคิดในเรื่องนี้ และต้องตั้งเป็นข้อสังเกตว่า คำๆ นี้ กำลังเป็นคำที่ยอดฮิต พูดกันติดปากมากไม่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น แต่เป็นคำพูดนิยมที่พูดกันไปทั่วโลก ไปที่ไหนไม่ว่าหัวดำ หัวขาว หัวแดง คำพูดตำราหนังสือต่างก็จะพูดแต่ “Sustainable Development”

Advertisement

ไม่เท่านั้นยังเอาคำ Sustainable ไปนำคำอื่นทั่วไปหมด เช่น Sustainable society, Sustainable future, Sustainable economy, Sustainable agriculture และ Sustainable… อะไรต่างๆ มากมาย เราควรจะรู้ความเป็นมาของมันเสียก่อน

เมื่อแรกมี Sustainable Development ก็คือ การพัฒนาที่ยั่งยืนก็ชวนให้ต้องสงสัยว่า คงจะมีการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนเป็นแน่ แล้วถ้าเป็นจริงอย่างนั้นการที่เขาต้องการพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้นมา ก็เพราะว่าโลกนี้ประสบปัญหากัน “การพัฒนา” ที่เขาเรียกว่า “ไม่ยั่งยืน” ก็เลยต้องคิดแบบแผนการพัฒนาหรือวิธีการพัฒนาแนบที่ยั่งยืนขึ้นมา

หมายความว่าโลกของเรานี้ได้ประสบปัญหากับการพัฒนา โดยมีการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนมาเป็นเวลานาน แล้วก็หาทางแก้ปัญหาการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนนั้น จนได้คิดวิธีการพัฒนาขึ้นมาใหม่ที่เรียกว่า “Industrialized development” หรือ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” นี้ขึ้นมา

การพัฒนาที่ยั่งยืนเกิดขึ้นได้อย่างไร? หากมองย้อนถอยหลังเล่าถึงความเป็นมาของการพัฒนาในโลกเรานี้ แต่โบราณเก่าๆ แก่ๆ เพื่อความเข้าใจร่วมกันให้เห็นว่า เรื่องราวเป็นมาอย่างไร และเขาเข้าใจความหมายกันอย่างไร? คนที่เก่าๆ หรือแก่ๆ หน่อย คงจำได้เมื่อราวมากกว่า 50 ปี ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งส่งผลกระทบกระเทือนไปทั่วโลก ทำให้ประเทศทั้งหลายทุกประเทศต้องตื่นตัวขึ้นมา เพราะโดยมาก ทุกประเทศก็ได้รับการบอบช้ำจากสงครามนั้น (NB : ขอให้มองโลกปัจจุบัน ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม ค.ศ.2020-2021 หรือ พ.ศ.2564-2564 เกิด “สงครามโรควายร้าย โควิด-19” ที่อู๋ฮั่น ขณะนี้มีผลกระทบไปทั่วโลกเช่นกัน และจะมีผลกระทบอย่างไร? ต่อ “การพัฒนา” จะนำมาวิเคราะห์สังเคราะห์ต่อไป)

พอสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ประเทศต่างๆ ก็มีการเคลื่อนไหวในการติดต่อกันหาทางแก้ปัญหา “ของโลก” และได้มีการตั้งองค์กรโลกขึ้นมา ที่เรารู้จักกันดีคือ “สหประชาชาติ” ที่แต่ก่อนคนไทยนิยมเรียกกันว่า ยูโน (UNO) แต่สมัยนี้เรียกกันถูกต้องแค่ “UN” ซึ่งตั้งขึ้นปลายปี พ.ศ.2488 (ค.ศ.1945) ดังที่ยังมีการฉลองวันสหประชาชาติกันในวันที่ 24 ตุลาคมของทุกปี

ในการตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้นมานี้ ก็มีความมุ่งหมายจะให้ทั่วโลกมีการติดต่อสัมพันธ์กันในทางที่ดีงาม จะได้มีสันติภาพไม่ต้องมีสงครามใหม่อีก เพระสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้มนุษย์ทั้งหลายประสบปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ประเทศต่างๆ ที่ผ่านสงครามโลกกันมา ก็ได้รับ “บทเรียน” อันยิ่งใหญ่ ทุกประเทศมีภาวะที่บอบช้ำกันอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น บางประเทศถูกภัยสงครามโดยตรง ก็มีความเสื่อมโทรมและประสบความพินาศต่างๆ เกิดในประเทศมาก ส่วนประเทศอีกพวกหนึ่ง แม้จะไม่ถูกภัยถึงตัวโดยตรง แต่ก็ได้รับความกระทบกระเทือนที่แผ่กว้างทั่วไป ทำให้มีการตื่นตัวไปทั่ว

หลายประเทศ แต่ก่อนนี้เป็นเมืองขึ้นที่เรียกว่า “ประเทศอาณานิคม” พอถึงระยะสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีการตื่นตัวที่จะดิ้นรนต่อสู้เพื่อกู้เอกราช ทำให้เกิดประเทศเอกราชใหม่ๆ ขึ้น ประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมก็เกิดเป็นประเทศเอกราชกันใหม่

เมื่อพูดรวมๆ ไม่ว่าประเทศที่ถูกภัยสงครามก็มีประเทศที่ตื่นตัวก็ดี ทุกประเทศเหล่านี้ก็อยู่ในภาวะที่ต้องมีการฟื้นฟูให้มี “การสร้างสรรค์ความเจริญกันขึ้น”

แต่การที่จะฟื้นฟูประเทศให้เจริญมีความสุขสบายขึ้นมาได้ก็จะต้องอาศัย “เงิน” เป็นเรื่องสำคัญ “สหประชาชาติ” จึงได้ตั้งหน่วยงานสำคัญๆ ขึ้นมาเป็น “องค์กรโลก” สำหรับช่วยเหลือเรื่องการเงินแก่ประเทศต่างๆ เรียกกันว่า “World Bank” หรือ “ธนาคารโลก” มีชื่อทางการภาษาอังกฤษว่า International Bank for Reconstruction and Development (IBRD) ซึ่งไทยเรียกกันปัจจุบันนี้ว่า “ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนา” ก่อรูปขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2487 (ค.ศ.1944) และตั้งขึ้นเป็นทางการในวันที่ 27 ธันวาคม 2488 (ค.ศ.1945) ซึ่งเป็นปีที่ตั้งสหประชาชาติ

ที่เขาแยกออกเป็น 2 คำว่า “reconstruction” คือ การบูรณะหรือปฏิสังขรณ์คำหนึ่ง และ “development” คือ การพัฒนาคำหนึ่ง เนื่องจากเจาะจงไปยังประเทศที่มีสภาพเป็น 2 ฝ่าย คือ

i) ประเทศที่บอบช้ำจากการทำสงครามเองได้รับภัยหายนะจากสงครามมาก พวกนี้มีสภาพที่เข้ากับคำว่า reconstruction หรือต้องฟื้นฟูหรือปฏิสังขรณ์

ii) อีกพวกประเทศที่ล้าหลัง ถึงแม้จะไม่ได้รับสงครามโดยตรงก็มีความไม่เจริญอยู่แล้ว โดยเฉพาะประเทศพวกนี้โดยมากเป็นประเทศเมืองขึ้น หรืออาณานิคม มากก่อนอย่างที่กล่าวแล้ว พวกนี้เหมาะกับคำหลัง คือ คำว่า “development” คือ การพัฒนา

นี้เป็นเรื่องของการตั้งองค์กรโลกขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือและจากเหตุการณ์นี้เขาก็ได้เห็นคิดว่า “development” หรือ “การพัฒนา” เกิดขึ้น และในตอนนั้นแหละที่มีการแบ่งประเทศต่างๆ ออกไป เรียกประเทศที่มีสภาพล้าหลังยังไม่เจริญว่า “undeveloped countries” แปลว่าประเทศด้อยพัฒนา ถือว่าเป็นศัพท์ที่เกิดในช่วง ค.ศ.1945 สมัยนั้นนิยมใช้คำนี้ คือคำว่า “underdeveloped” แปลว่า “ด้อยพัฒนา”

เมื่อมีประเทศที่ด้อยพัฒนาก็ต้องมี “ประเทศที่พัฒนาแล้ว” หรือ “ประเทศที่เจริญแล้ว” ซึ่งเขาเรียกว่า “developed countries” และประเทศที่ developed คือ พัฒนาแล้วนี้ บางทีเขาเรียกว่า Industrial Countries บ้าง Industrialized countries บ้าง คือ ประเทศที่มีอุตสาหกรรมแล้ว อย่างไรก็ตาม ประเทศที่เรียกว่าด้อยพัฒนานี้ บางครั้งเขาเรียกให้สุภาพว่า “less developed countries”คือ ประเทศพัฒนาน้อยหน่อย จนในที่สุดก็ค่อยๆ มาเรียกว่า “developing countries” แปลว่า “ประเทศกำลังพัฒนา”

⦁ ต่อมามีคำศัพท์ใหม่เกิดขึ้นอีกคำว่า “Third World”หรือ โลกที่ 3 โดยมีการแบ่งเป็น โลกที่ 1 ได้แก่ พวกที่เป็นประเทศอุตสาหกรรมในค่ายของสหรัฐอเมริกา โลกที่ 2 คือ ค่ายคอมมิวนิสต์สังคมนิยม ที่มีโซเวียตเป็นผู้นำ ซึ่งล้มละลายไปแล้ว ส่วนโลกที่ 3 ก็คือ ประเทศที่กำลังพัฒนา ทั้งหมดที่กล่าวมาแต่เก่าก่อนซึ่งเป็นเรื่องที่มาเกี่ยวข้องกับการที่จะ “พัฒนา”

องค์กรโลกในส่วนของ “ธนาคารโลก” นี้ ได้ให้ทุนแก่ประเทศต่างๆ ด้วยการให้กู้ยืมไปในการที่จะพัฒนาประเทศชาติ ทำให้ประเทศเจริญขึ้น โดยให้ทุนแก่ประเทศเหล่านั้น ที่จะไปดำเนินการกันเองในการสร้างสรรค์ความเจริญพัฒนาตัวเอง

ต่อมาองค์กรโลก คือ “สหประชาชาติ” ก็ได้มีโครงการในการพัฒนา (development program) ขึ้นมาเอง

ตอนแรกสุดที่องค์การสหประชาชาติริเริ่มโครงการอย่างนี้ขึ้นมาคือ ในปี พ.ศ.2492 (ค.ศ.1949) แล้วต่อมาในปี พ.ศ.2495 (ค.ศ.1952) ก็มีการเสนอตั้งกองทุนที่เรียกว่า Special UN Fund for Economic Development แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ

ถึงอย่างนั้นก็ยังมีความคืบหน้าต่อมา คือ ได้ตั้งกองทุกเล็กๆ ขึ้นมา ในปี พ.ศ.2502 (ค.ศ.1959) เป็นการสอดคล้องหรือพ่วงกันกับอีกด้านหนึ่ง คือ ใน พ.ศ.2503 (ค.ศ.1960) ได้มีการตั้งองค์กร หรือหน่วงงานในสหประชาชาติขึ้น ซึ่งเป็นเครือของธนาคารโลก เรียกว่า International Development Association (IDA) ซึ่งไทยใช้ว่า “องค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ” เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากเหตุผลที่ว่าการให้กู้ยืมเงินของธนาคารโลกที่ทำมานั้นไม่ค่อยสะดวก เป็นภาระแก่ประเทศที่ด้อยพัฒนา ก็เลยพยายามหาทางที่จะทำให้การกู้ยืมเงินตลอด การใช้เงินคืออะไรต่างๆ ไม่เป็นภาระมากนัก

ต่อมากใน พ.ศ.2509 (ค.ศ.1966) Special Fund ก็ได้ถูกรวบเข้ากับโครงการช่วยเหลือทางเทคนิคที่มีอยู่แล้ว โดยตั้งชื่อเป็นองค์กรใหม่เรียกว่า “UNDP” หรือ United Nations Development Program ซึ่งเป็นองค์กรที่มีชื่อเสียงมาก

แล้วยังมีองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอีก คือ United Nations Conference on Trade and Development (UNCTAD) ตั้งเมื่อ พ.ศ.2507 (1964 พอถึง พ.ศ.2509 (1966) ก็มีองค์การ United Nations Industrial Development Organization (UNIDO) ขึ้นมา และเมื่อถึงปี พ.ศ.2509 (1976) ก็มีองค์กร International Fund for Agricultural Development (IFAD) หรือ กองทุนนานาชาติเพื่อการพัฒนาการเกษตรขึ้นอีก

องค์กรทั่วโลกที่เกิดขึ้นตามที่กล่าวมานั้น ซึ่งเกี่ยวกับพัฒนานั้นเป็นเรื่องของการพัฒนาในด้าน “เศรษฐกิจ” เป็นสำคัญ ทั้งสิ้น เรื่องเป็นมาอย่างนี้ตามลำดับ เพราะฉะนั้นพอการจะต้องเข้าใจว่าที่เขาพูดถึงการพัฒนานั้น เขามุ่งหมายถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ (economic development) แทบทั้งนั้น จนกระทั่งมาตอนหลัง จึงมีการริเริ่มหันมาพัฒนาด้านสังคม และด้านอื่นๆ ขึ้นมา

เป็นอันว่าที่เรียกว่าประเทศด้อยพัฒนาประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้วต่างๆ เหล่านี้ ก็วัดกันด้วย “มาตราทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก” และ “ปัจจัย” ที่จะทำให้เศรษฐกิจเจริญไปเวลานั้นก็ต้องเน้นที่ “อุตสาหกรรม”

“อุตสาหกรรม” เป็นปัจจัยตัวสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจและสิ่งที่จะทำให้อุตสาหกรรมเจริญ ก็คือ “เทคโนโลยี” “เทคโนโลยี จึงกลับมาเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรม”

ต่อมา เราก็เลยวัดความเจริญของประเทศชาติต่างๆ ด้วยเรื่อง “ความเจริญทางเทคโนโลยี เรื่องอุตสาหกรรม เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการผลิต เรื่องการบริโภค เรื่องการกระจายรายได้”

แม้แต่เวลาที่ให้คำจำกัดความคำว่า ประเทศพัฒนาแล้ว (developed) กับประเทศด้อยพัฒนา (Underdeveloped) หรือประเทศกำลังพัฒนา (developing) เขาก็ให้คำจำกัดความที่วัดด้วยมาตรฐานทางด้านเศรษฐกิจที่เนื่องด้วยอุตสาหกรรม

ยกตัวอย่างคำจำกัดความหนึ่ง บอกว่า ประเทศด้อยพัฒนา (Underdeveloped) หรือประเทศกำลังพัฒนา (developing) นั้นได้แก่ประเทศที่รายได้เฉลี่ยของคนต่ำกว่าประเทศอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก สภาพเศรษฐกิจต้องอาศัยการส่งออกพืชพันธุ์ ธัญญาหารจำนวนน้อย และการทำเกษตรกรรมต้องใช้วิธีการแบบโบร่ำโบราณ นี่คือ คำจำกัดความของประเทศที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาอย่างหนึ่ง แต่หนังสือบางเล่มก็อาจให้คำจำกัดความง่ายๆ ว่า “ประเทศกำลังพัฒนา” ก็คือ ประเทศที่ยังไม่เป็นอุตสาหกรรม หรือยังเป็นอุตสาหกรรมน้อย นี่คือ มาตรฐานสำหรับวัดการพัฒนาโลกที่เป็นมา เราจึงได้เห็นการใช้ศัพท์ที่แสดงความหมายของประเทศที่พัฒนาแล้ว ดิ้น หรือยึดหยุ่นได้ภายใต้มาตรฐานนี้ คือ …

คำว่า : ประเทศที่พัฒนาแล้ว (developed country) บางทีก็ใช้

คำว่า : ประเทศอุตสาหกรรม (Industrialized country หรือ Industrialized)

อันนี้จะมีทั่วไป คือ ไม่จำเป็นว่าต้องใช้คำว่า ประเทศพัฒนาแล้ว (developed country) นี่เป็นเรื่องราวของความเป็นมาจากอดีตกาล…ไงเล่าครับ

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร
อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image