ซักฟอก รมว.ศธ. … เรื่องควรทำกลับไม่ทำ

เพียงแค่นายธนชน มุทาพร ประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.) ออกมาโวยกรณีนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามในหนังสือสั่งการแนวทางดำเนินการบูรณาการด้านการศึกษา ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จัดทำข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับสถานศึกษาในสังกัดทั้งหมด รวมถึงข้อคิดเห็นในการกำหนดโรงเรียน Stand Alone โรงเรียนมัธยมดี
สี่มุมเมืองและโรงเรียนคุณภาพชุมชน ว่านายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ในฐานะผู้บังคับบัญชาผู้อำนวยการ สพท.ควรเป็นคนลงนามมากกว่า
ดับเครื่องชนถึงขั้นชวนครู ผู้อำนวยการโรงเรียนแต่งชุดดำต่อต้าน เลยทำให้ผู้คนวิพากษ์วิจารณ์กันยกใหญ่ เกิดอะไรขึ้น เป็นการเมืองในระดับกระทรวงศึกษาธิการอีกหรือเปล่า
ต่อมาแม้นายสุภัทรยืนยันว่าการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพชุมชน และโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง เป็นแผนงานตามนโยบายของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ต้องการให้ทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงาน ตนได้รับมอบหมายให้ประสานการทำงานในหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและขับเคลื่อนงานไปในทิศทางเดียวกัน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานก็รับทราบแล้วก็ตาม เสียงซุบซิบนินทาก็ยังดังไม่หยุด
แต่กลับยิ่งดังขึ้นไปใหญ่ มีแนวโน้มจะลุกลามต่อไปเป็นการเมืองระดับชาติ เรื่องจะเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ขุนพลพรรคฝ่ายค้านจองกฐินเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการวันที่ 16-19 กุมภาพันธ์นี้ ก่อนลงมติวันที่ 20 กุมภาพันธ์
ไปขุดเอาคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 7 มกราคม 2564 เรื่องการทำแผนบูรณาการด้านการศึกษา เพิ่มศักยภาพการศึกษาของโรงเรียนตามนโยบายโรงเรียนยกกำลังสองขึ้นมาเล่นงาน กล่าวหาว่าแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิและข้าราชการ
ผู้รับผิดชอบดำเนินการของแต่ละจังหวัด เข้าข่ายแทรกแซงข้าราชการประจำ ไปไกลถึงขั้นว่าเอาพวกพ้องเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์
ว่าไปแล้วเรื่องที่ฝ่ายค้านหยิบยกขึ้นมาหวังถล่มให้จมดินกลางสภา ประเด็นแสวงหาประโยชน์เป็นเรื่องที่หาหลักฐานมายืนยันเพื่อพิสูจน์ได้ยาก เพราะต้องมีข้อเท็จจริงหรือพยานรองรับ
ขณะเดียวกันมีโอกาสหน้าแตก ตกม้าตายได้ง่ายๆ เพราะความไม่รู้ หรือเข้าใจผิดอย่างสิ้นเชิง ไม่เข้าใจบริบทของการบริหารการศึกษาและรายละเอียดการดำเนินการทั้งหมด
ฉะนั้นแทนที่จะยกเรื่องการแทรกแซงและแสวงหาประโยชน์ขึ้นมาเป็นสาระหลัก ประเด็นที่มีน้ำหนักมากเสียกว่าก็คือ ช่องว่างระหว่างสองหน่วยงานใหญ่ในกระทรวงศึกษาคือ สำนักปลัดกระทรวงกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งสะท้อนจากคำสั่งการต่างๆ ที่ออกมานั่นเอง

กรณีทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นเรื่อยมาและเกิดปฏิกิริยาต่อต้านบ่อยครั้ง เป็นสิ่งยืนยันปัญหาดั้งเดิม การช่วงชิง ทับซ้อนของบทบาท อำนาจระหว่างเสือกับสิงห์ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา กับศึกษาธิการจังหวัด ยังดำรงอยู่ในความคิดและการปฏิบัติของข้าราชการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการยังไม่สามารถทำให้เกิดการบูรณาการทำงานร่วมกันได้อย่างกลมกลืนจนราบรื่น ทำให้คนกลางในระดับจังหวัดคือผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดหลายแห่งตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก งานที่ควรจะเป็น กลับย่ำอยู่กับที่ไม่เดินหน้าไปถึงไหน นั่นก็คือ การจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัด
เป็นปัญหาค้างคามาตั้งแต่ปี 2559 ที่เริ่มวางโครงสร้างการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ฟื้นศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.)
เจตนารมณ์เพื่อบูรณาการการจัดการศึกษาทุกระดับ ทุกประเภทในจังหวัดเข้าด้วยกัน วางแผนกำหนดทิศทางการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาด้านอื่นๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ดำเนินการอย่างมียุทธศาสตร์ จะพัฒนาจังหวัดไปทางไหน เน้นเรื่องอะไร
เพื่อตอบโจทย์ทั้งปัญหาคุณภาพการศึกษา ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การศึกษาเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมือง การศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การศึกษาเพื่ออาชีพและการมีงานทำ
แต่เมื่อไม่สามารถทำให้บทบาทของแต่ละฝ่ายเป็นไปในทางที่ควรจะเป็น ผลงานก็ไม่ปรากฏ เป็นความผิดพลาดของการดำเนินนโยบาย
ถามว่าแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดของจังหวัดใด สำเร็จเสร็จเรียบร้อย นำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นจริงแล้วบ้าง ยังไม่เคยมีการแถลงชี้แจงสาธารณะอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ
ขณะที่ของเก่ายังแก้ไม่ตก กำหนดนโยบายใหม่ เพิ่มงานเข้ามาเร่งด่วนให้ทันจัดสรรงบประมาณรองรับ ปี 2565 เลยเกิดเป็นเรื่องเพิ่มขึ้นมาอีก
ช่องว่างระหว่างหน่วยงานในสังกัดเดียวกัน แต่ไม่สามารถประสานงานกันได้ ทำให้คำสั่ง แนวทางนโยบายต่างๆ ไม่บรรลุผล ส่งผลถึงคุณภาพการเรียนของเด็ก การสอนของครู คุณภาพของโรงเรียน คุณภาพการศึกษาของจังหวัด ของประเทศโดยภาพรวมยังน่าวิตก
ประเด็นนี้ต่างหากที่น่าศึกษาให้ลึกแล้วหยิบขึ้นมาซักฟอก ไม่ต้องหาหลักฐานใหม่เหมือนการส่อทุจริตซึ่งต้องชัดเจน
หากไม่ใช่ของจริง มีโอกาสเสียรังวัด นักเรียน ครู อาจารย์ ข้าราชการหัวเราะ ประชาชนคนรู้เรื่องเย้ยหยันว่า ดีแต่โม้ ไม่ได้ทำการบ้านจริงๆ เสียคะแนนฝ่ายค้านเปล่าๆ

สมหมาย ปาริจฉัตต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image