สถานีคิดเลขที่ 12 : เหมือน‘ชนะ’

สถานีคิดเลขที่ 12 : เหมือน‘ชนะ’

สถานีคิดเลขที่ 12 : เหมือน‘ชนะ’

ที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย ส.ว.จากการแต่งตั้ง และ ส.ส. ลงมติให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

สรุปง่ายๆ ตรงๆ เป็นทั้งการซื้อเวลาของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ยืดออกไป และเพื่อหา “กรอบ” ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า จะทำได้แค่ไหน

กรอบความคิดของ ส.ว. คือ ไม่เห็นด้วยกับการรื้อใหญ่รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เพื่อมายกร่างใหม่ ทั้งฉบับ อันเป็นแนวคิดของ ส.ส.ส่วนมาก

Advertisement

แม้แต่ในพรรคแกนนำรัฐบาลเอง ส.ส.ไม่น้อยเห็นด้วยกับแนวทางนี้ แต่เมื่อเป็นแกนนำรัฐบาล ก็ต้องเดินตามแนวทางของกลุ่มผู้นำพรรค

ในที่ประชุมรัฐสภาดังกล่าว มีการอภิปรายสนับสนุน คัดค้าน มีเนื้อหาน่าฟังน่าติดตามมาก

หลายๆ ความเห็น ให้ความรู้ในเรื่องของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ฟังแล้วแทงทะลุไปเห็นความจริง

Advertisement

อีกหลายๆ ความเห็น ทำให้ผู้ฟังได้เปิดหูเปิดตาว่า สมาชิกรัฐสภาเรา เขาทำหน้าที่เพื่อใคร

จากความเคลื่อนไหวนี้ เท่ากับว่า ขณะนี้ การเผชิญหน้า ระหว่าง 2 ความคิดที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพิ่มความแหลมคมและตึงเครียดมากขึ้นอีก

ทั้ง 2 ความคิด มีฐานประชาชน สนับสนุนในสเกลขนาดใหญ่

ระหว่างความคิดที่จะนำพาประเทศ เดินหน้าไปตามระบบที่เป็นสากล เป็นประชาธิปไตย

กับความคิดที่จะให้ประเทศเคลื่อนไป เป็นประชาธิปไตยแบบเสมือน ภายใต้การควบคุมของกลุ่มบุคคลที่ถือว่า ตนเองมีความหวังดีกับประเทศชาติมากกว่าคนอื่น

ทั้ง 2 ความคิด ได้เปรียบเสียเปรียบคนละอย่าง

ฝ่ายหนึ่งเดินไปกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ไปสู่สภาพที่เปิดกว้างมากขึ้น

อีกฝ่ายเป็นผู้ถืออำนาจรัฐมายาวนาน จะนับจริงๆ ตั้งแต่ 2549 ก็ว่าได้

ลองผิดลองถูก เสียของมามาก ลงทุนดีไซน์ จัดสร้างกลไก เครือข่าย และกฎหมายต่างๆ รวมถึงรัฐธรรมนูญ ไว้รองรับเป้าหมายของตัวเองพร้อมสรรพ

การแก้ไขหรือยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นผลดีกับฝ่ายที่เดินตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก

แต่เป็นปัญหาระดับทุบกล่องดวงใจ ของฝ่ายที่ต้องการควบคุมการเมืองไปให้สุดทาง

การแก้รัฐธรรมนูญ จึงไม่ใช่แค่การแก้กฎหมายธรรมดาๆ ฉบับหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมา ฉีกแล้วฉีกอีก แล้วร่างใหญ่กันมาเป็นฉบับที่ 20 แล้ว

เวลาผ่านมาหลายสิบปี หลายทศวรรษ สรุปได้ว่า การฉีกและการร่าง ผูกขาดอยู่ในกลุ่มความคิดกลุ่มเดียวมาตลอด

การขอแก้ไขกติกาในสภา ที่จริงน่าจะเป็นทางออกที่วิน-วินไปด้วยกันทั้งสองฝ่ายได้ แต่ดูอาการแล้ว ฝ่ายหนึ่งมั่นใจเต็มร้อยว่าจะชนะได้ไม่ยาก ด้วยกลไกที่ดีไซน์ไว้หมดแล้ว

เรียกว่า “บาน” ออกไปเรื่อยๆ และเงียบๆ

วรศักดิ์ ประยูรศุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image