รัฐประหารจากความกลัว…และความหมั่นไส้?

เกิดรัฐประหารในพม่ามาตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ เป็นเวลามากกว่า 1 สัปดาห์แล้ว และระหว่างที่เขียนอยู่นี้ การเดินขบวนต่อต้านรัฐประหารก็เข้าสู่วันที่ 5 เรียบร้อยแล้ว อยากสารภาพกับผู้อ่านตามตรงว่าผู้เขียนหนักใจกับบทความในคอลัมน์ “ไทยพบพม่า” ในสัปดาห์นี้จริงๆ เพราะมีข้อมูลและประเด็นมากมาย จนไม่มั่นใจว่าควรหยิบประเด็นใดมาเขียนก่อน เพราะสังคมไทยทุกวันนี้ตื่นตัวกับรัฐประหารในพม่ามาก จะเรียกว่ากระหายข้อมูลและข่าวจากพม่าอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนก็ไม่น่าจะผิดนัก

สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนและผู้เชี่ยวชาญการเมืองพม่าอีกหลายท่านผลัดเปลี่ยนกันเดินสายให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน และมีวงเสวนาที่เกิดขึ้นเพื่อวิเคราะห์รัฐประหารครั้งนี้มากมาย สำหรับคนที่อยู่กับประเด็นทางสังคมและการเมืองพม่ามานาน ผู้เขียนหายเหนื่อยที่สังคมไทยหันมาสนใจพม่ามากขึ้น แต่คงจะดีกว่ามากหากผู้เขียนและเพื่อนๆ นักวิชาการคนอื่นๆ ไม่ต้องออกมาพูดเรื่องรัฐประหารอีกแล้ว รัฐประหารครั้งนี้เท่ากับตัดตอนกระบวนการพัฒนาทุกด้านในพม่า เราจะได้ยินคนพม่าพูดคล้ายๆ กันว่า “ประเทศของเรากำลังไปได้สวยอยู่แล้ว แต่จู่ๆ ก็มีรัฐประหารขึ้น”

ที่ผ่านมามีผู้วิเคราะห์สาเหตุของการรัฐประหารในพม่าไว้มากมาย ส่วนใหญ่รู้สึกช็อก เพราะคิดว่ากองทัพมีเครื่องมือทางกฎหมายคือรัฐธรรมนูญปี 2008 ที่ตนร่างมากับมืออยู่แล้ว แต่เหตุใดจู่ๆ จึงเกิดรัฐประหาร และกองทัพก็ออกมาแถลงในลักษณะที่ว่า “รัฐประหารครั้งนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” กันเล่า ผู้เขียนเองก็นั่งคิดเรื่องนี้มาทั้งสัปดาห์

Protesters wearing traditional Shan dress make the three-figner salute as others hold signs during a demonstration against the Myanmar military coup in Inle lake, Shan state on February 11, 2021. (Photo by Calito / AFP)

แต่ลึกๆ แล้วเชื่อว่าหากเราอยากทำความเข้าใจการเมืองพม่า จงอย่าพยายามเข้าใจอะไรในเชิงทฤษฎีหรือในเชิงกฎหมาย แต่ขอให้ลงไปที่อารมณ์และความรู้สึก ทั้งของคนในกองทัพและผู้นำในเอ็นแอลดี ว่าเขาคิดอะไรอยู่ในช่วงไม่กี่คืนก่อนจะเกิดรัฐประหาร

Advertisement

ผู้เขียนเคยให้สัมภาษณ์ไว้หลายครั้งว่าแท้จริงแล้วสาเหตุของการรัฐประหารครั้งนี้คงมาจากคีย์เวิร์ด 2 คำเท่านั้น คือ ความกลัว และความหมั่นไส้ แล้วกองทัพพม่าต้องกลัวอะไร? ในเมื่อยังมีอำนาจมากมาย รัฐธรรมนูญให้โควต้าคนในกองทัพถึงร้อยละ 25 เข้าไปนั่งในสภาได้โดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง แต่ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา ที่พรรคเอ็นแอลดีกวาดที่นั่งไปกว่าร้อยละ 80 กองทัพก็ต้องเริ่มกลัวสิคะ อ.นฤมล ทับจุมพล เคยพูดว่าแต่ก่อนพรรค USDP ซึ่งเป็นพรรคนอมินีของกองทัพเคยมีอิทธิพลในเขตของตนเองอย่างที่เนปยีดอ แต่ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา USDP ได้รับเลือกตั้งเข้ามาน้อยลงอย่างชัดเจน เพราะผู้คนไปเทคะแนนให้เอ็นแอลดีหมด ทำให้เอ็นแอลดีมีจำนวน ส.ส.มากจนเกือบจะยื่นแก้รัฐธรรมนูญได้แล้ว ขอแค่มี “งูเห่า” ในบรรดาคนในกองทัพในรัฐสภาแค่ 4-5 คนเท่านั้น เอ็นแอลดีก็จะผลักดันวาระหลักของพรรคเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญได้

จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร กองทัพออกมาวิพากษ์วิจารณ์คณะกรรมการการเลือกตั้งอย่างดุเดือด ว่าจัดการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นธรรม และก็ไม่ได้มีการสำรวจสำมะโนประชากรก่อนการเลือกตั้งในปี 2020 แต่อย่างใด ตลอดจนระบบการเลือกตั้งของพม่าที่เป็นแบบระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุด (first-pass-the-post) ที่เป็นประโยชน์กับเอ็นแอลดีมาก ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผู้นำในกองทัพลงความเห็นกันแล้วว่าระบบการเลือกตั้งในพม่ามีปัญหา และหนึ่งในหนทางที่จะสกัดกั้นอิทธิพลของเอ็นแอลดีได้ก็ต้องผ่านระบบการเลือกตั้ง

ดังนั้นภารกิจแรกๆ ที่กองทัพทำหลังรัฐประหารคือการประกาศเปลี่ยนคณะกรรมการการเลือกตั้งยกชุด และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่กองทัพอ้างว่า “เป็นไปตามบัญญัติมาตราที่ 417 ของรัฐธรรมนูญปี 2008” การจะเข้าใจรัฐประหารครั้งนี้ ต้องเข้าใจว่าผลการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2020 นั้นได้แตะกล่องดวงใจของกองทัพ กองทัพรู้สึกได้ว่าตนไม่ได้เป็น “พี่ใหญ่” (big brother) และการเมืองอยู่นอกเหนือการควบคุมของตนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากเดิมที่สามารถพูดคุยและต่อรองกับเอ็นแอลดีได้ แต่เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาว่าพรรคเอ็นแอลดีกลับได้ที่นั่งมากขึ้น กองทัพจึงต้องเคลื่อนไหวบางอย่าง

Advertisement

บทความชิ้นสำคัญของ พอพพี แมคเฟอร์สัน (Poppy McPherson) ที่เขียนให้สำนักข่าวรอยเตอร์ส เรื่อง “ ‘Rude and insolent’ : fraught talks preceded Myanmar’s army seizing power” (‘ทั้งหยาบคาย ทั้งอวดดี’ : การเจรจาแบบเอาเป็นเอาตายก่อนกองทัพพม่ายึดอำนาจ) ชี้ให้เห็นว่าแกนนำในเอ็นแอลดีเริ่มเห็นเค้าลางว่ากองทัพจะรัฐประหารมาตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม อู วิน เทง (U Win Htein) แกนนำคนสำคัญของพรรคและคนสนิทของด่อ ออง ซาน ซูจี เริ่มเก็บกระเป๋ามาตั้งแต่วันนั้น ตั้งแต่ผลการเลือกตั้งออกมา กองทัพพยายามพูดคุยเพื่อเจรจากับพรรคเอ็นแอลดี กองทัพเคยร้องเรียนไปถึงด่อ ออง ซาน ซูจีให้ตรวจสอบผลการเลือกตั้งใหม่ทั้งหมด เพราะเชื่อว่าการเลือกตั้งนี้มีความไม่ชอบมาพากลจริง และยื่นเรื่องไปถึง 2 ครั้ง แต่หัวหน้าพรรคเอ็นแอลดีกลับไม่เหลียวแล

จนกระทั่งมีข่าวหึ่งๆ มาว่ากองทัพจะรัฐประหาร

จากรายงานข่าวของรอยเตอร์ส ในเดือนมกราคม กองทัพส่งตัวแทน 2 คนมาเจรจากับเอ็นแอลดี และเมื่อการเจรจาให้กลับมาพิจารณาคะแนนเลือกตั้งกันใหม่ไม่เป็นผล คนของกองทัพถึงกับกล่าวต่อหน้าตัวแทนเอ็นแอลดีว่า “พวกคุณทำมากไปแล้ว ทั้งหยาบคาย ทั้งอวดดี” เป็นไปได้หรือไม่ที่การระเบิดอารมณ์ของตัวแทนกองทัพ 2 คนนั้นเป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้าย ที่ทำให้กองทัพตัดสินใจรัฐประหาร เพราะเห็นว่าเอ็นแอลดีล้ำเส้นมากเกินไป และตนไม่สามารถควบคุมการเมืองพม่าได้อีกต่อไปแล้ว

Protesters march during a demonstration against the military coup in Yangon on February 7, 2021. (Photo by Ye Aung THU / AFP)

หลังการพูดคุยในครั้งนั้นไม่นาน กองทัพก็นำรถถังออกมาวิ่งรอบๆ ย่างกุ้ง เมืองใหญ่อันดับหนึ่งของพม่า และเมืองน้อยใหญ่อื่นๆ ทั่วประเทศ และก็มีประชาชนที่สนับสนุนกองทัพอีกส่วนหนึ่งออกมารวมตัวกันที่เจดีย์ชเวดากองเพื่อเรียกร้องให้กองทัพทำรัฐประหาร กองทัพให้เดดไลน์กับเอ็นแอลดีว่าต้องเอาผลการเลือกตั้งกลับมาพิจารณาใหม่ภายในตีห้าของวันที่ 29 มกราคม ฝั่งเอ็นแอลดีเองก็มองว่าตนไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงเรื่องผลการเลือกตั้งได้ และการทำตามข้อเรียกร้องของกองทัพก็เท่ากับว่าตนยอมสูญเสีย “อำนาจอธิปไตย” ของพรรคให้กับกองทัพและพรรค USDP ที่ได้คะแนนน้อย เพราะไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน

บทความของรอยเตอร์สยังชี้ชัดว่าสำหรับด่อ ออง ซาน ซูจี การจะลงไปเจรจากับกองทัพเรื่องการเลือกตั้งนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย หรือพูดง่ายๆ คือเธอมองว่าเธอเป็นคนที่ประชาชนเลือกเข้ามาแล้ว เหตุใดจึงต้องไปอ่อนตามกองทัพ ที่เป็นได้มากที่สุดคือเล่นบทนางอิจฉา และพยายามบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของเอ็นแอลดีทุกวิถีทาง

ข้อเขียนของรอยเตอร์สที่ไปสัมภาษณ์คนที่มีส่วนร่วมกับการเจรจาระหว่างเอ็นแอลดีและกองทัพมาถึง 9 คนนี้เป็นบทความที่สำคัญที่ผู้อ่านทุกท่านควรจะได้อ่าน เพราะไม่ได้กล่าวถึงสาเหตุของการรัฐประหารเท่านั้น แต่ยังชี้ให้เห็นทัศนคติของผู้นำทั้งสองฝั่งที่ไม่ต้องการประนีประนอมใดๆ นักวิเคราะห์การเมืองชาวพม่าผู้หนึ่งที่ผู้เขียนคุ้นเคยด้วยเคยวิเคราะห์ไว้ว่ารัฐประหารครั้งนี้เกิดจากความหยิ่งยโสของผู้ที่หวงแหนในอำนาจ 2 ฝ่าย ที่ไม่พร้อมจะมาพบกันที่จุดกึ่งกลาง จนสร้างวิกฤตทางการการเมืองในพม่าครั้งแล้วครั้งเล่า!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image