บทบาทและสถานะของการอภิปรายไม่ไว้วางใจในการเมืองรัฐสภาในปัจจุบัน

การอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรี รวม 10 คน ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่หลายเรื่อง ทั้งในส่วนของการอภิปรายฯที่กำลังจะเริ่มขึ้น และ ในส่วนของบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ในการอภิปรายในครั้งนี้ รวมทั้งที่มาทางประวัติศาสตร์ในเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจของการเมืองประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (parliamentary democracy) ที่เริ่มมาจากตะวันตก มาจนถึงข้อถกเถียงและข้อค้นพบใหม่ๆในเรื่องของบทบาทและสถานะของการอภิปรายไม่ไว้วางใจในการเมืองรัฐสภาในปัจจุบัน

เมื่อเราพูดถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เรากำลังพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า Vote of No Confidence ซึ่งหมายถึงการที่ฝ่ายค้านในรัฐสภานั้นทั้งอภิปรายไม่ไว้วางใจ และ ลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งต่างจากการอภิปรายที่เกิดขึ้นเป็นการปกติในรัฐสภาอยู่แล้ว

พูดอีกอย่างหนึ่ง การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นเพียงชื่อย่อของการอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้าน และในตอนจบนั้น(หัวหน้า)ฝ่ายค้านจะต้องสรุปว่า ด้วยเหตุที่ได้อภิปรายมาโดยตลอดหลายวันนั้น จึงไม่ไว้วางใจรัฐบาล (หรือนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีรายบุคคล หรือทั้งคณะ) และมีการลงมติไม่ไว้วางใจหลังจากนั้น ซึ่งโดยหลักการแล้วการลงมติมันจะสะท้อนว่า ฝ่ายค้านไม่ไว้วางใจรัฐบาล หรือ รัฐสภาโดยเฉพาะสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งส่วนมากไม่ไว้วางใจรัฐบาล กล่าวคือในการจะโหวตชนะนั้นก็แปลว่าสภาจะต้องมีเสียงข้างมากที่จะไม่ไว้วางใจ และโดยทั่วไปฝ่ายค้านก็มักจะมีจำนวนน้อยกว่ารัฐบาล การอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเกิดขึ้นหรือเกิดผลสำเร็จ

โดยประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกเอาไว้นั้น การอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจนั้นมักจะเป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎร กับ รัฐบาล(หรือรายคน) ตามตัวแบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา คือ การต่อสู้กันของสภาผู้แทนราษฎร และ คณะรัฐมนตรี โดยมีอังกฤษเป็นแม่แบบ และแม้จะมีการอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจอยู่มานาน แต่จุดสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองรัฐสภาแบบอังกฤษนั้น จุดเปลี่ยนสำคัญก็คือ รัฐบาลแพ้การลงมติไม่ไว้วางใจเป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1789 (รัฐบาลของ Lord North) อันเนื่องมาจากผลงานของรัฐบาลในสงครามกับสหรัฐอเมริกา และมีการบันทึกว่า นับจากนั้นจนปัจจุบัน มีถึง 20 รัฐบาลในอังกฤษที่แพ้การลงมติไม่ไว้วางใจ ซึ่งอาจทำให้เกิดการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ หรือ การลาออกจากตำแหน่ง เพื่อให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ (E.Mason. A Vote of No Confidence: A Brief History. Historyextra.com.)

Advertisement

ในภาพรวมนั้น การอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจอาจจะมีอยู่สี่ลักษณะใหญ่ๆ

หนึ่ง การอภิปรายไม่ไว้วางใจและลงมติในพรรคที่เป็นพรรครัฐบาลเอง เพื่อเป็นการเปลี่ยนหัวหน้าพรรคซึ่งย่อมมีผลต่อการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี อย่างกรณีของพรรคอนุรักษ์นิยมอังกฤาล่าสุด

สอง การอภิปรายและลงมติในกฏหมายสำคัญๆที่รัฐบาลนำเสนอ ซึ่งถ้ารัฐบาลแพ้โหวตก็มักจะลาออก

Advertisement

สาม การอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจแบบเต็มรูปแบบตามที่เราเข้าใจคือมีการนำเสนออย่างเป็นระบบโดยฝ่ายค้านเพื่อต้องการอภิปรายในประเด็นเรื่องการบริหารประเทศของรัฐบาลที่ฝ่ายค้านในนามของรัฐสภาไม่สามารถไม่ไว้วางใจได้

สี่ การอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจที่มีรูปแบบและการปฏิบัติที่ซับซ้อนขึ้น คือจะต้องถึงขั้นที่มีการเสนอชื่อของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ไว้เลย (constructive vote of no confidence) ซึ่งมีไม่กี่ที่และกี่ครั้งในโลก แต่กลับเป็นว่าอาจจะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ประสบความสำเร็จได้ในการล้มรัฐบาลเดิมมากกว่า เพราะมีตัวเลือกที่ชัดเจน หมายถึงว่ามันเป็นสถานการณ์ที่สภาไม่เอารัฐบาลแล้ว โดยเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรี ถึงขั้นมีข้อตกลงกัน(หลวมๆ) ก่อนหน้าจะอภิปรายด้วยซ้ำว่าจะเสนอใครเป็นผู้นำรัฐบาลใหม่

อย่าลืมว่าในการอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลนั้น โดยเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรีนั้น มีความเป็นไปได้ในแง่ผลลัพธ์หลายทาง เราชอบคิดกันว่า ถ้าการอภิปรายและลงมตินั้นเป็นผลสำเร็จคือล้มรัฐบาลได้จากการลงมติไม่ไว้วางใจ ฝ่ายค้านหรือฝ่ายที่ลงมติไม่ไว้วางใจก็จะได้จัดตั้งรัฐบาล เรื่องก็จะจบลงด้วยดี

แต่ช้าก่อน … ด่านที่สำคัญที่จะต้องเจอก็คือการอภิปรายและลงมติสนับสนุน/รับรองรัฐบาลใหม่นั่นเอง เมื่อพูดมาถึงตรงนี้ก็คงจะพอเข้าใจกันแล้วใช่ไหมครับ ว่าทำไมการลงมติรับรองรัฐบาลในบ้านเราจึงต้องให้วุฒิสมาชิกที่พวกเขาตั้งกันมาเอง เข้ามาร่วมโหวตตั้งนายกรัฐมนตรีด้วย และส่วนนี้เป็นส่วนที่ถูกเพิ่มขึ้นมาในคำถามพ่วงในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

เวลาที่อ่านงานต่างประเทศที่ไม่ได้ลึกซึ้งในระดับของงานวิจัย เราก็มักจะสงสัยว่าบทบาทและสถานะของการอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลในการเมืองประชาธิปไตยแบบรัฐสภามันมีความเป็นไปได้จริงหรือที่จะล้มรัฐบาล หรือถ้ามันเป็นไปไม่ได้แล้วจะทำไปทำไม หรือว่ามันมีสถานะและบทบาทอื่่นๆกันแน่ เพราะงานทั่วไปมักจะบอกเล่าแค่ว่าการอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจนั้นเป็นหนึ่งในกระบวนการทางรัฐสภาเท่านั้น

ผมคิดว่าความเป็นไปได้ในแง่ของการล้มรัฐบาลนั้นเป็นไปได้ก็ด้วยเงื่อนไขของการมีรัฐบาลผสม โดยเฉพาะรัฐบาลผสมที่เสียงค่อนข้างปริ่มน้ำ หรือในบางประเทศไปถึงขนาดรัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งเรื่องนี้ในยุคสมัยหนึ่งบ้านเราก็ไปมองว่ารัฐบาลผสมนั้นไม่มีเสถียรภาพ เพราะมัวแต่ทะเลาะกัน ต่อรองกัน แต่ในอีกมุมหนึ่งรัฐบาลผสมอาจไม่ได้มีเสถียรภาพมาก แต่เสถียรภาพของระบบการเมืองอาจจะมาก คือเมื่อกติกาในระบบมันยืดหยุ่นให้เข้ามาไม่ยาก อยู่ไปก็ไม่ค่อยนาน คนอาจจะมีความมั่นใจว่ารัฐบาลไม่ดีก็ออกได้ แต่ระบอบมันยังทำงานต่อไปสรรหาคนใหม่ โอกาสใหม่เข้ามาได้

แต่ก็นั่นแหละครับ ถ้าเปลี่ยนเร็วเกินไปวุ่นวายล้มง่ายจัดตั้งรัฐบาลใหม่ยาก คนก็อาจจะเบื่อหน่าย แล้วก็เรียกร้องหารัฐบาลเผด็จการ (ทั้งทางตรงหรือครอบงำ) ซึ่งอาจจะออกมาในลักษณะกำหนดเงื่อนไขมากมายในรัฐธรรมนูญและกฏหมายอื่นๆ เช่นการสังกัดพรรคการเมืองในการลงสมัคร การมีวินัยพรรคที่เข้มข้น การกำหนดเงื่อนไขว่าจะต้องมีจำนวนผู้เสนอญัตติกี่คนซึ่งต้องไม่น้อยจนเกินไป การระบุว่าปีหนึ่งๆจะเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจได้กี่ครั้ง หรือมีเงื่อนไขอื่นๆที่ทำให้ยากขึ้นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งคณะ

แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่า แม้รัฐบาลนั้นอาจจะมีเสถียรภาพในแง่ของคะแนนสนับสนุนในสภา แต่หากบริหารงานห่วยจริงๆ การอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลก็จะมีผลต่อภาพลักษณ์และความนิยมของรัฐบาลต่อประชาชน โดยเฉพาะจากประเด็นทางนโยบายบางด้านเป็นพิเศษ

ในแง่นี้ทำให้เราเข้าใจเพิ่มมาว่าแม้การอภิปรายและลงมติจะเป็นเรื่องของการไม้ไว้วางใจในตอนท้ายของกระบวนการในแง่พิธีกรรม แต่ในอีกด้านหนึ่งมันเป็นการโจมตีไปถึงความไร้ความสามารถของรัฐบาลในการบริหารงานจริง ซึ่งอาจจะต่างจากความนิยมหรือภาพลักษณ์ที่ดีในตอนก่อนเข้ารับตำแหน่งมาบริหารราชการแผ่นดินก็อาจเป็นได้ รวมไปถึงอาจทำให้เสภัยรภาพของรัฐบาลผสมนั้นอ่อนแอลง (L.K.Williams and Z.Somer-Topeu. Motions of no confidence can negatively impact upon the public’s view of the Government. Democraticaudit.com. 5/6/14) และเป็นโอกาสที่ทำให้ฝ่ายค้านเก็บแต้มใช้ประโยชน์ในการเลือกตั้งในครั้งต่อไป ด้วยเงื่อนไขว่าการทำสิ่งนี้จะประสบผลสำเร็จได้หากฝ่ายค้านแสดงให้เห็นว่าฝ่ายของตัวเองนั้นมีจุดยืนทางนโยบายและอุดมการณ์ที่แตกต่างจากฝ่ายที่อยู่ในอำนาจอย่างชัดเจน (Z.Somer-Topeu and L.K.Williams. Opposition party policy shifts in response to no-confidence motions. European Journal of Political Research. 53: 600-616, 2014 เป็นงานศึกษาประชาธิปไตยรัฐสภา ๑๙ ประเทศ ในช่วง ค.ศ. 1970 ถึง 2007)

กล่าวอีกอย่างก็คือ แม้จะล้มรัฐบาลไม่ได้ แต่การอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจมีบทบาทและสถานะของมันในการสร้างทางเลือกใหม่ให้กับประชาชนให้เห็นความแตกต่างในทางอุดมการณ์ จุดยืนทางการเมือง และ จุดยืนทางนโยบายที่แตกต่างกันของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน

งานวิจัยที่คล้ายกันอีกชิ้นนึง ชี้ให้เห็นว่า นับตั้งแต่ ค.ศ. 1960 ถึง 2008 ในประเทศประชาธิปไตยรัฐสภาที่เข้มแข็งพัฒนาแล้ว 20 ประเทศ พบว่ารัฐบาลที่ถูกอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจนั้นมีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นเองที่แพ้โหวตและล้ม แต่บทบาทและสถานะของการอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจนั้นมีผลทำให้ความนิยมและผลการเลือกตั้งรอบต่อไปของพรรครัฐบาลลดลง และฝ่ายค้านได้คะแนนนิยมและได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพรรคฝ่ายค้านสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ว่าพวกเขาเป็นทางเลือกในการบริหารงานประเทศ และเมื่อฝ่ายค้านมีจุดยืนทางอุดมการณ์ชัดเจนจากรัฐบาล โดยเฉพาะยิ่งแตกต่างมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งมีผลชัดมากขึ้น (L.K.Williams. Unsuccessful Success? Failed No-Confidence Motions, Competence Signals, and Electoral Support. Comparative Political Studies. 44(11): 1474-149, 2011)

จากการศึกษาที่ผมได้อ้างอิงมา ทำให้เราต้องคิดใหม่ว่า การอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจไม่ใช่เรื่องแค่การกล่าวหาโจมตีรัฐบาลไปเรื่อยเปื่อย ด่าข้ามวันข้ามคืน พูดจาวกไปวนมา ยิ่งในสังคมในวันนี้ที่เรื่องข้อมูลต่างๆนั้นแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และไม่มีการผูกขาดข้อมูลจากสื่อ บทบาทและการอภิปรายไม่ไว้วางใจของบ้านเราในรอบนี้จะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน เพราะอย่าลืมว่าพรรคใหม่นั้นอาจจะแหลมคมในแง่ของการวิจารณ์แต่ประชาชนอาจจะไม่เชื่อมั่นว่าบริหารประเทศได้ ขณะที่พรรคฝ่ายค้านที่อยู่มานานกว่า อาจจะถูกโจมตีกลับถึงผลงานและจุดอ่อนในอดีตเช่นกัน

อีกด้านหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเรื่องผลงานและความเชื่อมั่นก็คือเรื่องของจุดยืนทางอุดมการณ์ของพรรคการเมืองนั้น เรื่องเหล่านี้ก็ไม่ง่าย เพราะในการอภิปรายในรอบนี้กลับกลายเป็นว่า ฝ่ายค้านกำลังวิพากษ์วิจารณ์เพื่อไม่ไว้ใจรัฐบาลด้านนโยบายและความสามารถในการบริหารงาน แต่ฝ่ายรัฐบาลเองนั้นอาจจะสวนกลับโดยการกล่าวหาฝ่ายค้านในด้านจุดยืนทางอุดมการณ์เช่นกัน

แต่ถ้าซัดกันนัวจริงๆก็เรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเหยาะแหยะ ประท้วงกันบ้าบอคอแตก หรือพูดกันแบบน้ำท่วมทุ่ง ผีเจาะปากมาพูด แถมมาด้วยความอ่อนแอด้วยฝีมือบริหารที่แย่จนพรรคร่วมไม่อยากสนับสนุน หรือ อาจจะเป็นโอกาสที่พรรคร่วมจะเจรจาต่อรองผลประโยชน์กับพรรคหลักของรัฐบาล โดยอาจไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ความเดือดร้อนของประชาชนเลย การอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลในรอบนี้ อาจจะเป็นการอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจฝ่ายค้าน หรือ เป็นการที่สังคมนั้นอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาในภาพรวมคือ ห่วยกันทั้งสองฝ่ายก็อาจเป็นได้

สิ่งที่น่าจับตามองอีกประการหนึ่งก็คือเรื่องของเกมในรัฐสภาในรอบนี้ เพราะในทางหนึ่งการที่ฝ่ายค้านนั้นพุ่งเป้าอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งตัวนายกรัฐมนตรีเอง และ พลเอกประวิตรซึ่งมีสถานะเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แต่ก็ยังอภิปรายนายจุรินทร์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในตำแหน่งรองนายกและรมต.พานิชย์ และ นายอนุทิน หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยในฐานะรองนายกฯและรมต.สาธารณสุข รวมทั้งคนอื่นๆที่เหลือ ก็ย่อมชี้ว่า การจะหวังให้เกิดการแตกหักของพรรคร่วมรัฐบาลนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะต่างฝ่ายก็ต้องพึ่งกันและกัน

แต่การที่ฝ่ายค้านไม่ได้หยิบยกเอาบรรดารัฐมนตรีที่โลกลืมมาอภิปรายด้วย ก็ทำให้พวกโลกลืมนั้นมีลักษณะที่ความชั่วไม่มีความดีไม่ปรากฏ และชี้ว่าประชาธิปไตยรัฐสภานั้นกลับทำให้คนที่ไม่มีผลงานลอยนวลเข้าไปอีก และคนพวกนี้อาจถูกเปลี่ยนออกตามจังหวะเก้าอี้ดนตรีของพรรคร่วมรัฐบาลกันเองมากกว่าจากแรงกดดันของประชาชน

ลองมาดูคณิตศาสตร์การเมืองของการอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจในรอบนี้สักนิด ตัวเลขคร่าวๆของสภาผู้แทนราษฎรคือ 487 คน เป็นพรรคร่วมรัฐบาล 276 พรรคพลังประชารัฐมี 121 และ พรรคร่วมฝ่ายค้านมี 211 ดังนั้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจในรอบนี้ก็ไม่ควรขี้เหร่เกินไปนักโดยหลักการ เพราะฝ่ายรัฐบาลต้องการ 244 เสียง ซึ่งการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลนั้นย่อมแปลว่าต้องพึ่งพากันและต่อรองกันด้วย ไม่ใช่โหวตง่ายๆหรือโหวตเท่ากัน เราจึงเห็นว่าแต่ละพรรคร่วมรัฐบาลนั้นก็จะมีแหลมๆมาบ้างว่าจะว่ากันตามจริง และในพรรคร่วมรัฐบาลนั้น มีพรรคเล็กแบบจิ๋วๆที่มักถูกข่าวลือว่ารับประทานกล้วยเป็นประจำ ก็น่าจะมีบทบาทในการเมืองในรอบนี้ ยิ่งถ้ามีบทบาทในการตั้งคำถามกับรัฐบาลและโหวตสวนกับรัฐบาลก็จะยิ่งเก็บแต้มในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้มากขึ้น

ยิ่งตอนนี้รัฐบาลก็เกือบจะมีอายุครบครึ่งทางแล้ว ว่ากันว่าโดยทั่วไปวัฎจักรทางการเมืองของรัฐบาลนั้น ถ้าผลงานรัฐบาลไม่โดดเด่น ก็มักจะเป็นไปตามธรรมชาติว่า คะแนนนิยมของรัฐบาลในช่วงครึ่งเทอมหลังอาจจะเริ่มลดลง ซึ่งในทางวิชาการจะวัดความนิยมที่เป็นรูปธรรมจากผลการเลือกตั้งซ่อมที่รัฐบาลอาจไม่ได้รับความนิยมและแพ้ (แต่ในบ้านเราการเลือกตั้งซ่อมที่กำลังจะถึงที่นครศรีธรรมราช อาจจะไม่เป็นเช่นนั้น แต่อาจจะเป็นชนวนความขัดแย้งร้าวฉานของ ประชาธิปัตย์เจ้าของพื้นที่เดิม กับคู่หูพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพลังประชารัฐและภูมิใจไทยที่จับคู่กันแบบเฉพาะกิจมุ่งเอาชนะประชาธิปปัตย์ที่อาจแลกมาด้วความแตกแยกในรัฐบาล และอาจทำให้พรรคฝ่ายค้านนั้นได้คะแนนนิยมกระเตื้องขึ้นในพื้นที่)

กล่าวย้ำก็คือพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคหลักของรัฐบาลจะแสดงความสามารถในการระดมการสนับสนุนได้มากแค่ไหน และในรอบนี้ตัวพลเอกประยุทธเองก็ไม่ได้อยู่ในสถานะที่ดีมากนัก เพราะตัวเองก็ไม่มีฐานคะแนนส่วนตัว ต้องอาศัยพรรคพลังประชารัฐของพลเอกประวิตรเป็นฐาน ด้วยว่าตัวเองไม่ใช่หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เพราะเป้นหัวหน้าพรรควุฒิสภาที่เลือกเองมากับมือ แต่สว.รอบนี้ไม่สามารถมีบทบาทในการอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจได้

แต่ในอีกมุมหนึ่งฝ่ายรัฐบาลเองก็ไม่น่าจะให้ค่าอะไรกับฝ่ายค้านมากนัก ถ้าเทียบกับในอดีตสมัยพลเอกเปรมครองอำนาจ ที่แม้จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีบางคน แต่ตัวพลเอกเปรมนั้นไม่เคยถูกอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจ เรียกว่าญัตติการอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจพลเอกเปรมนั้นต้องมีอันเป็นไปไม่ได้เดินทางไปถึงวันอภิปรายสักครั้ง

กลับมาในประเด็นในวันนี้ นอกจากฝ่ายรัฐบาลจะแสดงออกว่าไม่ค่อยจะให้ค่าฝ่ายค้านในรอบนี้เท่าไหร่ แถมมั่นใจว่าจะใช้อาวุธการฟ้องร้องและการกล่าวหาประท้วงเรื่องจุดยืนทางอุดมการณ์ของฝ่ายค้านไว้เป็นธงแล้ว ประชาชนเองก็อาจไม่ได้ให้ค่าฝ่ายค้าน รัฐบาลและรัฐสภาในภาพรวมมากนัก ท่ามกลางความร้อนแรงของสถานการณ์การชุมนุมนอกรัฐสภาในช่วงนี้ที่เริ่มทวีความรุนแรงและมีการดำเนินคดีจับกุมคุมขังมากขึ้น ความแปลกแยกระหว่างปัญหาที่เกิดบนท้องถนนทั้งในทางเศรษฐกิจการเมืองสังคม กับสิ่งที่อภิปรายในสภานั้นอาจจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และทำให้การอภิปรายในรอบนี้จบลงแบบไม่ได้คุ้มกับเวลาการถ่ายทอดที่เสียไปก็อาจเป็นได้

ประชาชนอาจจะรู้สึกว่ารัฐบาลยังไงก็รอด ฝ่ายค้านอาจจะอภิปรายไม่ได้เรื่องเอง ข้อมูลรั่ว หรือเลวร้ายขนาดเกี๊ยะเซียะ รัฐสภาไม่พูดถึงเรื่องในบ้านเมืองอย่างตรงไปตรงมา ในระยะยาวการเลือกตั้งอาจเป็นคำตอบที่ไม่ตอบโจทย์ของประชาชน เท่ากับดราม่า การถล่ม และ ทัวร์ลงในโลกออนไลน์รายวัน และ การชุมนุมบนท้องถนน

สุดท้ายความเสื่อมถอยของระบอบการเมืองและประเทศชาติก็เกิดขึ้นได้เช่นกันจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องนั่นแหละครับ

ตารางสรุปอภิปรายไม่ไว้วางใจ 42 ครั้ง

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image